หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ คืออะไร ทำไมบริษัทใหญ่ถึงออก แม้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ คืออะไร ทำไมบริษัทใหญ่ถึงออก แม้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง

9 ต.ค. 2024
ถ้ามีคนรู้จักมาขอกู้เงินเรา แบบไม่มีกำหนดคืน เราก็คงรู้สึกลำบากใจ ว่าจะคิดดอกเบี้ยเท่าไรดีถึงจะคุ้มค่า 
แต่ถ้าเปลี่ยนจากคนรู้จัก เป็นบริษัทใหญ่ ๆ สักแห่งหนึ่ง ปัญหานี้ก็จะหมดไป 
เพราะในโลกของการเงิน เรามีสิ่งที่เรียกว่า “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ซึ่งระบุดอกเบี้ยที่บริษัทจะจ่ายให้เราอย่างชัดเจน แม้กำหนดการคืนเงินจะยังคลุมเครืออยู่ก็ตาม 
โดยในช่วงนี้เราจะสังเกตเห็นว่า บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทยกำลังทยอยออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์กันมากขึ้น
แถมหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ มักจะเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไปอีกด้วย 
แล้วทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงตัดสินใจออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ แม้ว่าจะต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ให้กับเหล่าเจ้าหนี้ที่ถือหุ้นกู้ของบริษัท ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับหุ้นกู้กันก่อน
หุ้นกู้ เป็นตราสารหนี้ที่บริษัทเสนอขายนักลงทุน เพื่อใช้ระดมทุน
โดยบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะมีสถานะเป็นลูกหนี้ ส่วนผู้ซื้อหุ้นกู้นั้น จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และจะได้รับผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ย
ซึ่งหุ้นกู้เอง ก็มีด้วยกันอยู่หลายประเภท ตามเงื่อนไข และผลประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับ
และหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เอง ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของหุ้นกู้ที่มีคุณลักษณะที่น่าสนใจ
โดยความแตกต่างของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์และหุ้นกู้ทั่วไปแบ่งออกเป็น
1. ระยะเวลาไถ่ถอน
หุ้นกู้ทั่วไปจะกำหนดเวลาไถ่ถอนอย่างชัดเจน ซึ่งเวลาไถ่ถอนของหุ้นกู้ก็คือ วันที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ นำเงินต้น และดอกเบี้ยงวดสุดท้ายมาคืนนักลงทุน ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้
แต่หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จะไม่กำหนดวันไถ่ถอนไว้ แปลว่าบริษัทสามารถจ่ายดอกเบี้ยให้กับคนถือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไถ่ถอนตอนเลิกบริษัท หรือไถ่ถอนคืนภายในระยะเวลาอันสั้นก็ได้ 
2. ลำดับการชำระหนี้
แม้ผู้ซื้อหุ้นกู้ทั่วไปจะอยู่ในลำดับของคนที่ได้รับชำระหนี้คืน ก่อนผู้ที่ถือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 
แต่ถ้าหากบริษัทประสบปัญหาจนต้องปิดกิจการ อย่างน้อยผู้ถือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ก็จะยังได้รับเงินคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญอยู่ดี
3. การจ่ายดอกเบี้ย
หุ้นกู้ทั่วไปจะต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกงวดตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่อย่างนั้นเราจะถือว่าหุ้นกู้นั้นผิดนัดชำระหนี้
ส่วนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ สามารถงดจ่ายดอกเบี้ยบางงวดออกไปก่อนได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้
อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ทั่วไปจะคงที่ตลอดอายุหุ้นกู้ ส่วนของดอกเบี้ยหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จะเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงแรก และหลังจากนั้นจะเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว ซึ่งจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยในทุก ๆ 5 ปี 
โดยดอกเบี้ยหลัง 5 ปี จะอ้างอิงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี บวกด้วยส่วนชดเชยความเสี่ยงของตลาด ณ เวลานั้น ๆ แยกตามอายุและอันดับความน่าเชื่อถือ 
จะเห็นว่า ความเสี่ยงของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ จะสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จึงให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ทีนี้เรามาดูกันว่า ทำไมบริษัทถึงยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าเพื่อออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์
หนึ่งในเหตุผลหลักคือ วิธีบันทึกบัญชี หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์สามารถบันทึกเป็นส่วนทุนได้ตามมาตรฐานบัญชี
โดยจะปรากฏอยู่ในงบฐานะการเงิน ในส่วนของเจ้าของ มักมีรายการแยกขึ้นมาชื่อว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ซึ่งต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปที่จะนับเป็นหนี้สินทั้งหมด
การบันทึกแบบนี้เป็นผลดีกับบริษัท เพราะช่วยให้บริษัทคงสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity หรือ D/E) ไม่ให้สูงขึ้น หรืออาจจะทำให้อัตราส่วน D/E ลดลงด้วยซ้ำ เพราะส่วนของทุนเพิ่มขึ้นโดยที่หนี้สินไม่เพิ่มขึ้น
ซึ่งการรักษาอัตราส่วน D/E มีความสำคัญ เพราะเป็นอัตราส่วนสำคัญที่ชี้วัดสุขภาพทางการเงินของบริษัท สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท 
ทำให้ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุน และช่วยให้บริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขการกู้ยืมจากธนาคารหรือตราสารหนี้อื่น ๆ ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในมุมของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จะถูกนับเป็นทุน 50% และนับเป็นหนี้สิน 50% ในช่วง 5 ปีแรก และหลังจากครบ 5 ปี จะถูกนับเป็นหนี้สินทั้งหมด 
แม้ว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จะนับเป็นส่วนทุนแค่ครึ่งหนึ่ง แต่การระดมทุนโดยผ่านหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ก็ยังทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ทั่วไปทั้งจำนวนในช่วงแรกอยู่ดี
จากหลักเกณฑ์ข้างต้น ที่หลังจาก 5 ปีแรก หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จะถูกนับเป็นหนี้สินทั้งจำนวน บริษัทส่วนใหญ่จึงมักจะไถ่ถอนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เมื่อครบ 5 ปี และออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์รุ่นใหม่มาแทน
เพื่อไม่ให้อัตราส่วน D/E ปรับสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการระดมทุนในอนาคต
อีกทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยงอัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับสูงขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบคงที่ในช่วง 5 ปีแรกเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายไม่มีข้อผูกพันที่บริษัทจะต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ก่อนกำหนด 
จากทั้งหมดนี้ก็จะเห็นว่า การออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์แม้จะมีต้นทุนดอกเบี้ยสูง แต่ก็ช่วยเสริมโครงสร้างทางการเงินและเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารเงินสด ทำให้บริษัทได้ประโยชน์ในระยะยาว
ในส่วนของนักลงทุนก็ต้องระลึกไว้เสมอว่า เมื่อเราซื้อหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 
ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยแบบชั่วนิรันดร์เหมือนชื่อหุ้นกู้
เพราะสิทธิในการจ่ายอัตราดอกเบี้ย หรือการไถ่ถอนหุ้นกู้คืน อยู่กับทางบริษัทนั่นเอง..
#ลงทุน
#หุ้นกู้
#หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.