กรณีศึกษา NETBAY บริษัทมีเงินสดเยอะ เอาไปทำอะไรได้บ้าง ? | MONEY LAB
เงินสด ถือเป็นทรัพยากรล้ำค่าของทุกบริษัท แต่การมีเงินสดเป็นจำนวนมาก ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีเสมอไป
กรณีศึกษา NETBAY บริษัทมีเงินสดเยอะ เอาไปทำอะไรได้บ้าง ?
5 มี.ค. 2024
เพราะเป็นปัญหาให้เจ้าของเงินต้องไปคิดต่อว่า จะนำเงินไปลงทุนอย่างไร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุด ตามความคาดหวังของผู้ถือหุ้น
หรืออย่างน้อย ๆ ก็ให้ได้รับผลตอบแทนชนะอัตราเงินเฟ้อ ไม่ให้อำนาจซื้อของเงิน เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา
ตัวอย่างบริษัทในตลาดหุ้นไทย ที่มีเงินสดเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมของบริษัท คือ บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETBAY
แล้ว NETBAY มีวิธีบริหารจัดการเงินสดอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
บริษัท NETBAY อาจจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูของใครหลายคน เพราะบริษัทแห่งนี้มีมูลค่าเพียง 4,800 ล้านบาทเท่านั้น และมีสินทรัพย์รวมเพียง 638 ล้านบาท
โดย NETBAY เป็นบริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ เพื่อช่วยในการทำธุรกรรมประเภทต่าง ๆ โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานรัฐ และองค์กรธุรกิจ
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จากสินทรัพย์รวม 638 ล้านบาท NETBAY มีเงินสดและสินทรัพย์ทางการเงินรวมกันมากถึง 463 ล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 72% ของสินทรัพย์รวมเลยทีเดียว
คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 72% ของสินทรัพย์รวมเลยทีเดียว
สาเหตุที่ NETBAY มีเงินสดเยอะมากขนาดนี้ ก็เป็นเพราะธุรกิจซอฟต์แวร์ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดก้อนใหญ่ในการขยายธุรกิจ
แล้ว NETBAY นำเงินที่ไม่ได้ใช้ขยายธุรกิจ ไปทำอะไร ?
สิ่งที่ NETBAY ทำก็คือ การจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่สินทรัพย์ทางการเงินที่มีสภาพคล่องสูง ไปจนถึงสินทรัพย์ทางการเงินที่มีสภาพคล่องต่ำ
โดยสินทรัพย์ทางการเงินที่มีสภาพคล่องสูง จะเรียกว่า “สินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่น”
ในส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียน ในงบแสดงฐานะการเงิน
ในส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียน ในงบแสดงฐานะการเงิน
ซึ่งตามนิยามของสินทรัพย์หมุนเวียนก็คือ สินทรัพย์อะไรก็ตามที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี
เราลองมาดูกันดีกว่าว่า NETBAY นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอะไรบ้าง ที่แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี
จากข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่า NETBAY มีสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่นประมาณ 258 ล้านบาท แบ่งออกเป็น
เงินฝากประจำ 8 ล้านบาทพันธบัตรรัฐบาล 33 ล้านบาทหุ้นกู้ภาคเอกชน 36 ล้านบาทเงินลงทุนในหุ้นของบริษัทอื่นที่อยู่ในตลาดหุ้น 21 ล้านบาทหน่วยลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ อีก 160 ล้านบาท
ซึ่งในหมายเหตุประกอบงบการเงินของ NETBAY ก็แสดงเจตนาของบริษัทในการลงทุนหุ้นว่า “เป็นการลงทุนเพื่อการบริหารสภาพคล่องส่วนเกิน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม ไม่ใช่เพื่อการเก็งกำไร”
ดังนั้นเราก็น่าจะพอเดาได้ว่า การลงทุนในหุ้นของ NETBAY น่าจะเป็นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคง หรืออาจจะเป็นการลงทุนในหุ้นของกิจการที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนการลงทุนในระยะยาวของบริษัท จะถูกจัดอยู่ในรายการ “สินทรัพย์ทางการเงินไม่หมุนเวียนอื่น” ในส่วนสินทรัพย์ทางการเงินไม่หมุนเวียน
ซึ่งตามนิยามของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนคือ สินทรัพย์ที่บริษัทต้องการถือครองในระยะยาวมากกว่า 1 ปี
โดย NETBAY มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่หมุนเวียนอื่นประมาณ 149 ล้านบาท แบ่งออกเป็น
เงินฝากประจำ 6 ล้านบาทพันธบัตรรัฐบาล 4 ล้านบาทหุ้นกู้ภาคเอกชน 116 ล้านบาทหุ้นของบริษัทอื่นที่อยู่ในตลาดหุ้น 23 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้ว สินทรัพย์ทางการเงินเหล่านี้ก็สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว ไม่ต่างอะไรจากสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนเลย
เพียงแต่บริษัทมีความตั้งใจที่จะลงทุนในระยะยาว จึงต้องลงบัญชีในส่วนสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
นอกจากนี้ หากเราสังเกตดี ๆ จะพบว่าจากพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของ NETBAY มูลค่ารวม 407 ล้านบาท
มีการลงทุนในตราสารหนี้คือ พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ภาคเอกชน สูงถึง 189 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 50% ของพอร์ตการลงทุนเลยทีเดียว
ซึ่งตราสารหนี้จัดว่าเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัย แสดงให้เห็นว่า NETBAY บริหารเงินส่วนที่เหลือจากการทำธุรกิจ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงเป็นอย่างดีเลยทีเดียว
แต่รู้ไหมว่า นอกจากการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ แบบที่ NETBAY ทำแล้ว
บริษัทต่าง ๆ ที่มีเงินสดเยอะ ยังมีทางเลือกในการใช้เงินสดอีก เช่น การจ่ายเงินปันผลออกมาให้ผู้ถือหุ้น
รวมถึง การนำเงินสดที่เหลืออยู่มาซื้อหุ้นคืน ในกรณีที่ราคาหุ้นของบริษัทต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น
เพราะนอกจากผู้ถือหุ้นจะได้ประโยชน์จากราคาหุ้นที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแรงซื้อหุ้นคืนของบริษัทแล้ว
เมื่อมีการซื้อหุ้นคืนและลดทุน จะทำให้จำนวนหุ้นในตลาดเหลือน้อยลง
เงินปันผล และกำไรสุทธิต่อหุ้น ก็จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
เงินปันผล และกำไรสุทธิต่อหุ้น ก็จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
หรือหากบริษัทซื้อหุ้นคืนแล้ว แต่ยังไม่อยากลดทุน จึงเลือกที่จะขายหุ้นกลับมาทีหลังในราคาที่สูงกว่าตอนที่ซื้อมา บริษัทก็จะสามารถบันทึกกำไรเข้าบริษัทได้เช่นกัน
ก็จะเห็นได้ว่า ทางเลือกในการบริหารเงินของกิจการที่มีเงินสดเหลือเฟือมีอยู่หลากหลายวิธี แต่ไม่ว่าเราจะบริหารเงินด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่ควรระลึกไว้เสมอก็คือ การควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
เพราะไม่แน่ว่า เมื่อธุรกิจของเราเจอวิกฤติในอนาคต เงินสดส่วนเกินในวันนี้ ก็อาจกลายเป็นเงินสดจำเป็น เพื่อนำพาให้ธุรกิจของเรารอดพ้นจากวิกฤติก็ได้..
Reference
งบการเงินประจำไตรมาส 3/2566 ของบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน)