กรณีศึกษา Mc JEANS จัดโปรฯ น้อยลง กำไรมากสุด ในรอบ 5 ปี

กรณีศึกษา Mc JEANS จัดโปรฯ น้อยลง กำไรมากสุด ในรอบ 5 ปี

18 ม.ค. 2024
กรณีศึกษา Mc JEANS จัดโปรฯ น้อยลง กำไรมากสุด ในรอบ 5 ปี | MONEY LAB
ภาพจำของร้าน Mc JEANS ของหลาย ๆ คน ก็คือ ร้านขายกางเกงยีน ที่ไปเมื่อไรก็มีโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 อยู่ตลอดเวลา
แต่รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบัน Mc JEANS ได้ปรับกลยุทธ์ของตัวเอง โดย “ลดแลกแจกแถม” น้อยลง
ซึ่งสิ่งนี้ อาจจะทำให้คนในร้านดูโล่งขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้โล่งตามร้านไปด้วย นั่นคือ กำไรของบริษัท
เพราะในปีที่ผ่านมา Mc JEANS สามารถทำกำไรได้มากที่สุดในรอบ 5 ปี
แล้วอะไรที่ทำให้ บริษัทมีกำไรมากขนาดนี้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC ทำธุรกิจค้าปลีกเครื่องแต่งกายและไลฟ์สไตล์ ภายใต้แบรนด์ “Mc JEANS”
ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นร้านซักแห้งมาก่อน ผ่านมา 48 ปี MC ได้กลายมาเป็นผู้นำในตลาดกางเกงยีนในประเทศไทย
โดยข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า MC ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 18%
ในส่วนของรายได้และกำไรในช่วงที่ผ่านมา เป็นดังนี้
ปี 2564
รายได้ 3,249 ล้านบาท กำไร 446 ล้านบาท
คิดเป็น อัตรากำไรสุทธิ 13.8%
ปี 2565
รายได้ 2,949 ล้านบาท กำไร 486 ล้านบาท
คิดเป็น อัตรากำไรสุทธิ 16.6%
ปี 2566
รายได้ 3,692 ล้านบาท กำไร 644 ล้านบาท
คิดเป็น อัตรากำไรสุทธิ 17.5%
จะเห็นได้ว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีทั้งกำไรสุทธิ และอัตรากำไรสุทธิ ที่เพิ่มขึ้นมาตลอด
ซึ่งเหตุผลที่ MC มีกำไรเพิ่มขึ้น หลัก ๆ ก็มาจาก 3 ข้อ
ทำโปรโมชันน้อยลง อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ ถ้าเดินผ่านร้าน Mc JEANS เรามักจะเห็นป้ายโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1
คือ ซื้อกางเกงยีน 1 ตัว แถมกางเกงยีน 1 ตัว
ปัจจุบันโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 ก็ยังอยู่ แต่จะเปลี่ยนของแถม จากกางเกงยีน ไปเป็นเสื้อหรือเข็มขัด ที่มีราคาต่ำกว่าแทน
หรือปรับเป็น ให้ส่วนลด 30% สำหรับสินค้าชิ้นที่ 2
ในขณะที่ โปรโมชันลด 30-70% จะย้ายไปอยู่ที่ร้าน Mc Outlet ซึ่งเป็นสาขาที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. แทน
ด้วยกลยุทธ์การลดราคาที่น้อยลง ส่งผลให้ MC มีอัตรากำไรขั้นต้น ที่เพิ่มขึ้นมาได้
โดยอัตรากำไรขั้นต้น
ปี 2564 อยู่ที่ 59.6%
ปี 2565 อยู่ที่ 64.7%
ปี 2566 อยู่ที่ 64.8%
ยอดขายเพิ่มขึ้น
นอกจากอัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นแล้ว MC ยังมีกลยุทธ์ในการเพิ่มรายได้ คือ การเพิ่มไลน์สินค้ากลุ่ม Lifestyle ให้มากขึ้น จากเมื่อก่อนที่เน้นเฉพาะสินค้ากลุ่มยีน
โดยสินค้า Lifestyle ก็คือ เสื้อผ้า, หมวก, เข็มขัด และรองเท้า ซึ่งเราก็คงจะได้เห็นสินค้าเหล่านี้ในร้านกันแล้ว
เมื่อมาดูรายได้ระหว่างสินค้าทั้ง 2 กลุ่ม
ปี 2564
รายได้สินค้ากลุ่มยีน 1,625 ล้านบาท
รายได้สินค้ากลุ่ม Lifestyle 1,625 ล้านบาท
ปี 2566
รายได้สินค้ากลุ่มยีน 1,660 ล้านบาท
รายได้สินค้ากลุ่ม Lifestyle 2,000 ล้านบาท
จะเห็นว่า สินค้ากลุ่ม Lifestyle เติบโตขึ้นมาถึง 23%
อีกช่องทางในการเพิ่มรายได้ ที่น่าจับตามองคือ ช่องทางออนไลน์ ที่ปัจจุบันคิดเป็น 11% ของยอดขายของบริษัท
โดย 2 ใน 3 ของยอดขายออนไลน์ มาจากแพลตฟอร์ม TikTok
การลดค่าใช้จ่าย มาจากการบริหารจัดการ Supply Chain ที่ดีขึ้น
MC มีการบริหาร Supply Chain และต้นทุนค่าขนส่งให้ดีขึ้น โดยมี Fulfillment Center ซึ่งเป็นจุดรวมสินค้าก่อนส่งไปยังสาขาต่าง ๆ
ด้วย 3 เหตุผลที่กล่าวมา ทั้งการทำโปรโมชันน้อยลง, การหาช่องทางเพิ่มรายได้ และการลดค่าใช้จ่าย
ก็ทำให้ MC มีกำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิ มากสุดในรอบ 5 ปี..
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ เพลิดเพลินทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ในไทยและต่างประเทศ
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
Facebook : JCB Thailand
LINE : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)JCBThailand #JCBCard
JCBOwnHappinessOwnStory #อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.