กรณีศึกษา มาม่า บริษัทที่มีเงินสด 28,000 ล้านบาท
7 ม.ค. 2025
หากเรามีเงินสดอยู่ 28,000 ล้านบาท และไม่มีหนี้สินเลย เราจะเอาเงินเหล่านั้นไปทำอะไรบ้าง ?
แน่นอนว่าด้วยเงินมหาศาลขนาดนี้ เราคงเอาไปเนรมิตได้แทบทุกอย่างที่ใจปรารถนา
แต่รู้หรือไม่ว่า มีอยู่บริษัทหนึ่งที่มีเงินสดอยู่มากขนาดนั้น แต่กลับเก็บเอาไว้เฉย ๆ
บริษัทที่ว่าก็คือ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA เจ้าของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่คนไทยทุกคนต้องรู้จัก ในชื่อ “มาม่า”
นอกจาก TFMAMA จะมีเงินสดซ่อนอยู่ในบริษัทมากขนาดนี้แล้ว ตัวเลขในงบการเงินของบริษัท ก็ถือว่าไม่ธรรมดาเลย
หากสงสัยว่า ตัวเลขงบการเงินของ TFMAMA มีอะไรน่าสนใจบ้าง
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุนให้เข้าใจง่าย ๆ
เหตุผลที่ทำให้ TFMAMA มีเงินสดมากมายก่ายกองแบบนี้ ก็มาจากการที่บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow ได้อย่างสม่ำเสมอ
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow คือเงินสดที่คงเหลืออยู่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำธุรกิจไปหมดแล้ว
คำนวณหาโดย
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ปี 2564 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 3,942 ล้านบาท
ปี 2565 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 2,496 ล้านบาท
ปี 2566 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 4,408 ล้านบาท
เงินสดเหล่านี้ บริษัทสามารถนำไปจ่ายเงินปันผล จ่ายหนี้เงินกู้ หรือซื้อหุ้นคืนก็ได้
จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา TFMAMA สร้างกระแสเงินสดอิสระได้ดีมากมาตลอด แสดงว่าบริษัทถือว่าเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดให้กับผู้ถือหุ้น
แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ TFMAMA มีกระแสเงินสดอิสระสูงมาก นอกจากความสามารถในการทำธุรกิจแล้ว ก็มาจากการที่ TFMAMA ไม่จำเป็นต้องทำการลงทุนเพิ่มขนาดใหญ่อีกแล้ว
เพราะอย่างที่เราเห็นกันว่า มาม่า เป็นสินค้าที่แทบจะอยู่คู่ทุกบ้าน จนถึงขั้นที่คนทั่วไปเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกแบรนด์กันอย่างติดปากว่า มาม่า แล้ว
ก็แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจของมาม่า ค่อนข้างอิ่มตัวประมาณหนึ่ง ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุน เพื่อขยายการผลิตเพิ่มมากไปกว่านี้อีก
และนอกจากนี้ ถ้าเราไปดูอัตราส่วนในการจ่ายปันผล ให้กับผู้ถือหุ้น จะพบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40% เท่านั้นเอง แถมยังไม่มีการซื้อหุ้นคืนอีกด้วย
ทำให้สุดท้ายแล้ว เมื่อทำกำไรได้ในแต่ละปี เงินเหล่านั้น ก็จะกลายมาเป็นเงินสดสะสมในบริษัทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แล้วการมีเงินสดจำนวนมาก ส่งผลต่อบริษัทอย่างไร ?
1. ทำให้บริษัทมี ROIC สูง
ROIC หรือ Return on Invested Capital คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่ไว้ใช้วิเคราะห์ว่า บริษัทสามารถทำผลตอบแทนจากการลงทุนทำธุรกิจ กลับมาได้คุ้มค่าหรือไม่
ถ้าบริษัททำ ROIC ได้สูง หมายความว่า ลงทุนทำธุรกิจไปแล้ว ได้ผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่ามาก
แต่ถ้า ROIC ต่ำ ก็หมายความว่า ผลตอบแทนจากการทำธุรกิจ ได้กลับมาไม่คุ้มค่าเงินลงทุนเลย
โดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนมักจะชอบดู ROE หรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และ ROA หรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน
ถ้า ROE และ ROA สูง ก็หมายความว่า บริษัทนี้ทำผลตอบแทนกลับคืนมาจากเงินลงทุน ได้เป็นอย่างดี
แต่รู้หรือไม่ว่า โดยปกติแล้ว บริษัทที่ทำ ROIC ได้สูง มักจะเป็นบริษัทที่มีทั้ง ROE และ ROA สูงด้วย
คำนวณหาโดย
(กําไรจากการดําเนินงานหลังหักภาษี / เงินลงทุนในธุรกิจ) x 100
ปี 2564 มี ROIC เท่ากับ 30.15%
ปี 2565 มี ROIC เท่ากับ 23.98%
ปี 2566 มี ROIC เท่ากับ 30.25%
จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา TFMAMA มี ROIC ที่สูงมากมาตลอด แสดงให้เห็นว่า บริษัทลงทุนทำธุรกิจแล้ว ได้ผลตอบแทนกลับมา คุ้มค่าเงินลงทุนมากเลย
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า ตัวเงินลงทุนในธุรกิจ หรือ Invested Capital คำนวณมาจาก
ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
พอบริษัทมีเงินสดเหลืออยู่เยอะมาก ก็เลยทำให้ตัว Invested Capital มีน้อย ส่งผลให้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ROIC จึงสูง
2. ทำให้มูลค่าของกิจการต่ำกว่ามูลค่าตลาด
โดยตรงนี้เราสามารถสังเกตได้ผ่าน Enterprise Value หรือมูลค่าของกิจการ ซึ่งคำนวณหาได้จาก
มูลค่าบริษัท + หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 24 ธ.ค. 2567 TFMAMA มี
- มูลค่าบริษัทปัจจุบัน 65,611 ล้านบาท
- หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 0 บาท
- เงินสดและสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสด 28,233 ล้านบาท
ทำให้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว TFMAMA จะมี Enterprise Value เท่ากับ 65,611 + 0 - 28,233 = 37,378 ล้านบาท
ตรงนี้เราคงจะเห็นแล้วว่า แม้ TFMAMA จะมีมูลค่าบริษัทตามราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในปัจจุบันที่ 65,611 ล้านบาท
แต่จริง ๆ แล้ว เมื่อเราคำนวณทั้งหนี้สินและเงินสดที่บริษัทมีอยู่ กลับพบว่า มูลค่ากิจการของบริษัท จริง ๆ แล้วกลับอยู่ที่ 37,378 ล้านบาท เท่านั้น
นอกจากนี้พอเรารู้ Enterprise Value แล้ว ก็สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ความถูกแพงของบริษัท ก่อนที่เราจะลงทุนได้ด้วย
โดยการใช้อัตราส่วนชื่อว่า Enterprise Value to Free Cash Flow Ratio หรือเรียกย่อ ๆ ว่า EV/FCF
ถ้า EV/FCF สูง หมายความว่า มูลค่าบริษัทสูงมาก เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดที่บริษัทสร้างได้ การจะลงทุนในบริษัทนี้ อาจจะไม่คุ้มค่าสักเท่าไร
แต่ถ้า EV/FCF ต่ำ ก็หมายความว่า บริษัทนี้น่าสนใจในการลงทุน เพราะมูลค่าบริษัทไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัท
จากข้อมูลทั้งหมด เราก็จะหาค่า EV/FCF ออกมาได้
โดยการนำ Enterprise Value หารด้วย Free Cash Flow จะได้ 37,378 / 4,408 = 8.48 เท่า
ซึ่ง 8.48 เท่า หมายความว่า จากกระแสเงินสดอิสระที่ TFMAMA ทำได้ในปีล่าสุด คือปี 2566 ที่ 4,408 ล้านบาท
สมมติว่าบริษัททำได้เท่านี้ไปเรื่อย ๆ ต่อให้กระแสเงินสดอิสระไม่เติบโตขึ้นอีกเลย ถ้าเราลงทุนหุ้น TFMAMA เราจะใช้เวลาประมาณ 8 ปีกว่า ๆ ในการคืนทุนนั่นเอง
ซึ่งการที่บริษัทมี EV/FCF ต่ำกว่า 10 เท่า ก็ถือว่า มูลค่าบริษัทยังไม่ได้แพงมากนัก เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดที่บริษัททำได้
อ่านมาถึงตรงนี้เองก็จะเห็นได้ว่า ข้อดีที่สำคัญของบริษัทที่มีเงินสดเยอะมากแบบนี้ ก็คือโอกาสที่จะขาดสภาพคล่อง ในยามที่เกิดวิกฤตินั้น มีน้อยมาก ๆ
แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง การเก็บเงินสดจำนวนมหาศาล ก็อาจจะกลายเป็นค่าเสียโอกาสของกิจการ ที่จะนำเงินไปสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้น สำหรับอนาคตได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากการวิเคราะห์ด้านงบการเงินแล้ว เราก็ควรต้องวิเคราะห์บริษัทในด้านคุณภาพเชิงลึกด้วย
เช่น ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท, ภาพการเติบโตในระยะยาว, นโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท และธรรมาภิบาลของผู้บริหารด้วย
เพราะสำหรับบางบริษัท ที่มีผลการดำเนินงานดี และเหมือนจะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าหากไม่มีแผนการเติบโตที่ชัดเจน หรืออยู่ในตลาดที่อิ่มตัวแล้ว เราก็อาจจะต้องรอหุ้นสะท้อนมูลค่า จนอาจเสียโอกาสได้เหมือนกัน
ดังนั้น การลงทุนแม้ในหุ้นที่ดูปลอดภัย ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ เราจึงควรประเมินโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน ออกมาให้รอบด้าน ก่อนที่เราจะเอาเงินของเรา เข้าไปลงทุนจริง ๆ..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#TFMAMA
References
-งบการเงิน บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ปี 2565-2566