กรณีศึกษา NEX ผู้ผลิตรถเมล์ไฟฟ้าสัญชาติไทย มูลค่าบริษัทหายไป 33,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี
20 มิ.ย. 2024
รู้หรือไม่ว่า รถเมล์ไฟฟ้าสีน้ำเงิน ที่เราเห็นบนท้องถนน ผลิตโดยบริษัทของคนไทย คือ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX
แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา NEX น่าจะเป็นหนึ่งในหุ้นที่ถูกให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ
เพราะมูลค่าบริษัทลดลงจากจุดสูงสุดที่ 37,000 ล้านบาท เหลือเพียง 4,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าที่หายไปเกือบ 90%
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับ NEX ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
NEX เป็นบริษัทในเครือของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์
หรือ EA ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานสะอาดรายใหญ่ และผู้ผลิตแบตเตอรี่ของไทย
ตอนแรก NEX จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยใช้ชื่อว่า บมจ.ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) หรือ “SPPT”
เป็นผู้ผลิตส่วนประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในหน่วยบันทึกความจำ หรือ Hard Disk Drive
ต่อมาช่วงกลางปี 2562 บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ
เข้าสู่ธุรกิจผลิต และประกอบรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.เน็กซ์ พอยท์ หรือ NEX
และ NEX ได้เข้าไปร่วมทุนกับบริษัท แอ๊บโซลูท
แอสเซมบลี จำกัด หรือที่เรียกว่า AAB ซึ่งเป็นบริษัท
ในเครือของ EA
โดย AAB ดำเนินธุรกิจผลิตและประกอบรถไฟฟ้า
เชิงพาณิชย์ทุกประเภท เช่น รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า
ทำให้ในปัจจุบัน NEX มีรายได้หลัก 90%
มาจากการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
โดยรายได้จากการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ บริษัทเริ่มรับรู้เข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565
เราลองมาดูผลประกอบการของ NEX ในช่วงที่ผ่านมากัน
ปี 2563 รายได้ 1,421 ล้านบาท ขาดทุน 214 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 688 ล้านบาท ขาดทุน 107 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 6,617 ล้านบาท กำไร 208 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 9,412 ล้านบาท กำไร 725 ล้านบาท
แต่ถ้าดูเฉพาะรายได้ที่มาจากการจำหน่ายยานยนต์
ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ จะเป็นดังนี้
ปี 2565 มีรายได้ 5,591 ล้านบาท
ปี 2566 มีรายได้ 8,426 ล้านบาท
จะเห็นว่าในปี 2565 หลังจากเริ่มรับรู้รายได้จากการ
จำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ก็ทำให้บริษัท
สามารถพลิกกลับมามีกำไรได้
และที่สำคัญ หลังจากมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ บริษัทมีรายได้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
จึงไม่น่าแปลกใจที่มูลค่าบริษัท จะปรับตัวเพิ่มขึ้น
จาก 1,500 ล้านบาท ในช่วงวิกฤติโรคระบาด ปี 2563 ไปทำจุดสูงสุดที่ 37,000 ล้านบาท ในปี 2565
จากความคาดหวังว่าบริษัทจะเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง
แต่แล้วในช่วงปี 2566 กลับเป็นภาพตรงกันข้าม
เพราะราคาหุ้นของ NEX ก็เริ่มดิ่งลงอย่างหนัก
หากเข้าไปดูในรายละเอียด จะพบว่า อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ
ไตรมาส 3 ปี 2566 อัตรากำไรขั้นต้น 12.15%
ไตรมาส 4 ปี 2566 อัตรากำไรขั้นต้น 9.44%
ไตรมาส 1 ปี 2567 อัตรากำไรขั้นต้น 7.29%
สาเหตุหลักก็มาจาก ช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้หลัก
มาจากการส่งมอบรถเมล์ไฟฟ้าให้กับ ไทย สมายล์ บัส ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท
แต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 บริษัทได้ส่งมอบครบตาม
จำนวนขั้นต่ำที่ ไทย สมายล์ บัส ต้องการแล้ว ทำให้
บริษัทจำเป็นต้องเริ่มต้นผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์มากขึ้น
ซึ่งรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั่วไป มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่า รถเมล์ไฟฟ้า และยังเป็นการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย ส่งผลให้อัตรากำไรมีแนวโน้มที่จะลดลง
ซึ่งหากดูแผนการขายของบริษัท ตั้งเป้าทั้งปีไว้จำนวน 5,556 คัน แบ่งเป็นกลุ่มรถบัส 1,556 คัน กลุ่มรถบรรทุก
และกระบะอีก 4,000 คัน
แต่ผ่านมาแล้วหนึ่งไตรมาส บริษัทมียอดส่งมอบแค่ 591 คัน คิดเป็นเพียง 10.6% จากเป้าหมายปีนี้เท่านั้น
อีกทั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา บริษัทประกาศเพิ่มทุน
จดทะเบียนครั้งใหญ่ จำนวน 8,837 ล้านหุ้น จากจำนวน
หุ้นจดทะเบียนเดิม 2,022 ล้านหุ้น ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่ง
ในปัจจัยเชิงลบที่ถาโถมเพิ่มเข้ามาอีก
จากทั้งหมดนี้ จึงสรุปได้ว่า ช่วงแรก NEX เป็นหุ้นที่
แบกความคาดหวังของนักลงทุนไว้สูง เนื่องจากมองว่า
บริษัทนี้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค EV
แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้นโยบายภาครัฐยังไม่มี
ความคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้คำสั่งซื้อขนาดใหญ่
ที่นักลงทุนคาดหวังไว้ยังไม่เข้ามา
ขณะที่ลูกค้ารายสำคัญอย่าง ไทย สมายล์ บัส ก็ใกล้จะส่งมอบครบไปตามจำนวนแล้ว
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง และเทขายหุ้นออกมา จนมูลค่าบริษัทลดลงเกือบ 90% ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับ NEX บ้าง ซึ่งก็น่าติดตามเหมือนกันว่า บริษัทจะแก้เกม และกลับมาเติบโตอีกครั้งได้อย่างไร
References
-รายงานประจำปี 2565 และ 2566 บมจ.เน็กซ์ พอยท์
-Oppday ประจำปี 2566 และ Q1/2567 ของบริษัท