
สรุปเส้นทาง การบินไทย จากขาดทุน “แสนล้าน” สู่กำไร “หมื่นล้าน” ภายใน 3 ปี
18 มี.ค. 2025
เรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ที่ต่อเนื่องยาวนานหลายปีเลยทีเดียว สำหรับหุ้น THAI ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
เพราะมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2556 ซ้ำร้ายยังเจอกับวิกฤติโรคระบาดในปี 2563 ซึ่งส่งผลให้การเดินทางทางอากาศทั่วโลกต้องหยุดชะงัก
ทำให้ในปี 2563 การบินไทย มีผลขาดทุนสุทธิมากถึง 141,171 ล้านบาท จนเกิดเป็นผลขาดทุนสะสม และทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ
บริษัทจึงต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในช่วงปลายปี 2563 ส่วนหุ้นของการบินไทย แม้จะไม่ได้ถูกถอดออกไปจากตลาด แต่ก็ถูกสั่งให้หยุดซื้อขายไปเลยนับตั้งแต่นั้น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในรายการ Oppday ปีผลประกอบการ 2567 บริษัทได้มีการอัปเดตความคืบหน้าในการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และเตรียมตัวกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นอีกครั้งแล้ว
อยากรู้ไหมว่า การบินไทย ต้องทำอะไรบ้าง ? หุ้นของทางบริษัท ถึงกำลังจะกลับมาให้นักลงทุนซื้อขายได้อีกครั้ง
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ตลาดหุ้น เปรียบเสมือนบ้านของบริษัทจดทะเบียน ที่ต้องการเข้ามาระดมทุนทำธุรกิจ
แต่บ้านหลังนี้ ก็มีกฎสำคัญอยู่ 4 ข้อ ที่หากบริษัทจดทะเบียนรายไหน ทำผิดกฎไปข้อใดข้อหนึ่ง ก็ต้องถูกไล่ออกไปจากบ้านหลังนี้
กฎ 4 ข้อที่ว่า ก็คือ
1. ส่วนของผู้ถือหุ้นต้องไม่น้อยกว่า 0
2. มีการเลิกทำธุรกิจไปแล้ว
3. ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น 3 ปีติดต่อกัน
4. รายได้จากการดำเนินงาน ต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน
สำหรับบริษัทใน SET ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาทบริษัทใน mai ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ล้านบาท
โดยในกรณีของการบินไทยนั้น ได้ทำผิดกฎข้อที่ 1 นั่นก็คือ มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ จึงเข้าข่ายที่จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น
นอกจากนี้บริษัทยังเจอกับปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องอย่างหนัก เพราะบริษัทไม่สามารถสร้างกระแสเงินสด และไม่มีเงินสดเพียงพอ ในการชำระหนี้ที่ใกล้จะถึงกำหนดชำระ
การบินไทยตอนนั้น จึงมีทางเลือก 2 ทาง คือ ยื่นล้มละลาย แล้วเลิกกิจการไปเลย หรือ เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เจรจาหนี้จากเจ้าหนี้ แล้วเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป
ในตอนนั้น มีข้อถกเถียงเกิดขึ้นในสังคมไทยไม่น้อยว่า ควรปล่อยการบินไทยให้ล้มละลายไปเลย หรือให้บริษัทเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ รวมไปถึงอาจได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
เพราะต้องไม่ลืมว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของการบินไทย ก็คือกระทรวงการคลังเอง โดยถือหุ้นในสัดส่วน 47.9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท
ด้วยความที่การบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติ และไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเฟื่องฟู แถมการบินไทยยังเป็นผู้จ้างงานในอุตสาหกรรมการบินหลายตำแหน่ง
การล้มละลาย แล้วเลิกกิจการไปเลย ก็อาจส่งผลเสียทางเศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต
ดังนั้นการบินไทยเลยเลือกเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ใครอยากจะทำ ก็ทำได้เลย เรื่องนี้ต้องอาศัยอำนาจศาลในการออกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
โดยบริษัทมีหน้าที่จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ แล้วเสนอให้ศาลพิจารณา หากศาลมองว่าแผนฟื้นฟูกิจการมีความเป็นไปได้ ก็จะออกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
ไม่ต้องบอก ก็น่าจะรู้กันดีว่า แผนฟื้นฟูของการบินไทยนั้นผ่านฉลุย ศาลจึงอนุมัติให้เริ่มดำเนินการฟื้นฟูในช่วงปลายปี 2563
ซึ่งผลพลอยได้ที่การบินไทยจะได้รับ หากทำการฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ คือ รอดพ้นจากปัญหาสภาพคล่อง สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในอนาคต
รวมถึงอาจมีโอกาสกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้นได้อีกครั้งด้วย
การบินไทย จึงมุ่งมั่นที่จะทำตามแผนการฟื้นฟูกิจการอย่างไม่ลดละ
ทั้งแผนการปรับลดขนาดองค์กร การปรับกลยุทธ์ฝูงบิน และเส้นทางการบิน การปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใส รวมไปถึงการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้
ทีนี้เราลองมาดูผลประกอบการของการบินไทย ในช่วง 3 ปีย้อนหลังกัน
ปี 2565 รายได้ 105,041 ล้านบาท ขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการพิเศษ 4,590 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 161,067 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานไม่รวมรายการพิเศษ 24,600 ล้านบาท
ปี 2567 รายได้ 187,989 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานไม่รวมรายการพิเศษ 22,734 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในปี 2567 การบินไทย มีค่าใช้จ่ายที่เป็นผลขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้มากถึง 45,271 ล้านบาท แต่เป็นรายการพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว
ทำให้ถ้าเราไปดูตัวเลขกำไรสุทธิในงบกำไรขาดทุน เราจะเห็นตัวเลขขาดทุนสุทธิที่ 26,901 ล้านบาท
ในขณะเดียวกัน ตัวเลขส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยในช่วง 3 ปีย้อนหลังก็น่าสนใจไม่น้อย
ปี 2565 ส่วนของผู้ถือหุ้น -63,493 ล้านบาท
ปี 2566 ส่วนของผู้ถือหุ้น -43,142 ล้านบาท
ปี 2567 ส่วนของผู้ถือหุ้น 45,589 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2567 สามารถกลับมาเป็นบวกได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้ง ๆ ที่ในปี 2567 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ จากการปรับโครงสร้างหนี้
ถ้าถามว่าการบินไทย กำลังเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินอะไร ถึงสามารถเสกตัวเลขส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มมาได้เกือบ 90,000 ล้านบาทแบบนี้ ?
คำตอบก็คือ การแปลงหนี้เป็นทุน นั่นเอง
โดยการบินไทยจะต้องไปโน้มน้าวให้เจ้าหนี้ของบริษัท เปลี่ยนสถานะจากการเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ให้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้น
หากเจ้าหนี้รายใดตกลงแปลงหนี้เป็นทุน ทางการบินไทยก็จะต้องออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ คิดเป็นมูลค่าเทียบเท่ากับหนี้สินของเจ้าหนี้ที่อยากเปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้น
ข้อดีของการทำแบบนี้คือ หนี้สินที่การบินไทยต้องชดใช้จะน้อยลง แต่ก็ต้องแลกมากับสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมที่ลดลงไปด้วย และราคาหุ้นที่อาจปรับตัวลดลง จากจำนวนหุ้นออกใหม่ที่เพิ่มขึ้น
แต่การทำแบบนี้ ก็จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุลเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ
และทำให้การบินไทยสามารถแก้ปัญหาส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ได้รวดเร็วกว่าการรอให้กำไรสะสมมาเติมส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายปี
และก็ไม่แน่ว่าจะทันกับ ระยะเวลาที่ทางตลาดหลักทรัพย์ วางไว้ว่า ถ้าหากการบินไทยไม่สามารถกลับมาซื้อขายได้ในปี 2570 จะต้องออกจากตลาดไป หรือไม่อีกด้วย
แถมการแปลงหนี้เป็นทุน ก็ทำให้การบินไทย ไม่ต้องแบกค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนมาก เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำกำไรของการบินไทยอีกทางด้วย
ทำให้มองอีกมุมหนึ่ง การแปลงหนี้เป็นทุน ก็เปรียบเสมือนบันไดเลื่อน ให้การบินไทยสามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้เร็วขึ้น นั่นเอง..
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#การบินไทย
References
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ บมจ.การบินไทย ประจำปี 2565, 2566 และ 2567