
สรุปผลประกอบการ มาม่า ปี 2567 เงินลงทุนเพิ่มไม่มาก แต่สร้างกระแสเงินสดอิสระ เติบโตต่อเนื่อง
4 มี.ค. 2025
เมื่อไม่นานมานี้ MONEY LAB เพิ่งได้เขียนบทความ “กรณีศึกษา มาม่า บริษัทที่มีเงินสด 28,000 ล้านบาท” ให้ทุกคนได้อ่านกันไป
ซึ่งน่าจะทำให้หลายคน อยากจะติดตามความเป็นไปของผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อยู่คู่คนไทยกันมานานกว่า 50 ปีแห่งนี้ไม่มากก็น้อย
ล่าสุด ทางบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA เจ้าของแบรนด์มาม่า ก็เพิ่งได้ประกาศงบการเงินงวดล่าสุด ปี 2567 ออกมา ที่ก็มีประเด็นน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลย
ถ้าหากสงสัยว่า ผลประกอบการของ TFMAMA ในปี 2567 นี้ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
สิ่งที่น่าสนใจของผลประกอบการ TFMAMA สามารถสรุปออกมาได้ 5 ข้อ
1. รายได้และกำไร เพิ่มขึ้น
ปี 2567
รายได้ 30,941 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน +7.96%
กำไร 5,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +14.37%
สาเหตุหลักที่ส่งผลต่อผลประกอบการของ TFMAMA ในปี 2567 มาจาก
- ธุรกิจในประเทศ มีการเติบโตรวม +7.35% โดยมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ ภายใต้แบรนด์ OK และยังรวมถึง มีการทำการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
- ธุรกิจต่างประเทศ มีการเติบโตรวม +22.66% โดยได้รับแรงหนุนจาก การเริ่มดำเนินการผลิตและจำหน่ายสินค้า ในประเทศเมียนมา
- ยอดขายของสินค้าประเภทเบเกอรี มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ -0.8% เพราะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
2. อัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิ สูงขึ้น
อัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit Margin คือสิ่งที่จะช่วยบอกเราว่า บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนในการผลิตสินค้า ได้ดีแค่ไหน
ในขณะที่ อัตรากำไรสุทธิ หรือ Net Profit Margin คือสิ่งที่จะบอกว่า จากรายได้ที่บริษัททำได้ทั้งหมด เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดไปแล้ว จะเหลือเป็นกำไรกลับมา เป็นสัดส่วนเท่าไร
อัตรากำไรขั้นต้น จะคำนวณหาโดย
[(รายได้จากการขาย - ต้นทุนการขาย) / รายได้] x 100%
และอัตรากำไรสุทธิ จะคำนวณหาโดย
(กำไรสุทธิ / รายได้รวม) x 100%
โดยปี 2567
- อัตรากำไรขั้นต้น 33.75% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 32.38%
- อัตรากำไรสุทธิ 18.54% เพิ่มขึ้นจาก 17.50%
การที่ในปี 2567 TFMAMA มีทั้งอัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิ สูงกว่าปี 2566 นอกจากการที่รายได้เติบโตขึ้นแล้ว
ก็มาจากการที่ทางบริษัท สามารถควบคุมต้นทุนในการทำธุรกิจได้ดีขึ้น อีกทั้งราคาแป้งสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้ามากขึ้น เพราะผลประกอบการของบริษัทร่วม มีการฟื้นตัว และรวมถึง ได้รับกำไรจากการขายเงินลงทุน ในบริษัทร่วมที่ประเทศจีนด้วย
3. กระแสเงินสดอิสระ เพิ่มขึ้น
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow ก็คือเงินสดที่คงเหลืออยู่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำธุรกิจไปหมดแล้ว
เงินที่เหลืออยู่นี้ เปรียบเสมือนเงินฟรี ที่บริษัทสามารถนำไปใช้ทำอะไรก็ได้ เช่น จ่ายเงินปันผล หรือซื้อหุ้นคืน
คำนวณหาโดย
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ซึ่งในปี 2567 นี้ทาง TFMAMA ก็สามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระได้เพิ่มขึ้นอีก
ปี 2566 กระแสเงินสดอิสระ 4,408 ล้านบาท
ปี 2567 กระแสเงินสดอิสระ 4,825 ล้านบาท
4. Invested Capital เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
Invested Capital ก็คือเงินลงทุนทั้งหมดที่บริษัทใช้ไป เพื่อลงทุนทำธุรกิจ
คำนวณหาโดย
ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสดและสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสด
ปี 2566 Invested Capital เท่ากับ 15,656 ล้านบาท
ปี 2567 Invested Capital เท่ากับ 15,904 ล้านบาท
5. CFROI สูงขึ้น
สุดท้ายก็คือ Cash Flow Return on Investment หรือ CFROI ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยบอกเราว่า จากเงินลงทุนทำธุรกิจของบริษัท สุดท้ายแล้ว จะสร้างเป็นกระแสเงินสดกลับมา ได้คุ้มค่าหรือไม่
ถ้ามากกว่า 15% ถือว่าคุ้มค่า
แต่ถ้าน้อยกว่า 15% ก็ถือว่ายังไม่คุ้มค่า
คำนวณหาโดย
(เงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน / Invested Capital) x 100%
ปี 2566 CFROI เท่ากับ 34.43%
ปี 2567 CFROI เท่ากับ 41.39%
หากเราสังเกตให้ดี จะพบว่า จากในข้อที่ 4 TFMAMA มี Invested Capital ในปี 2567 เพิ่มขึ้นมาจากปี 2566 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แต่ CFROI ที่บริษัททำได้ในปี 2567 กลับเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2566 ค่อนข้างมากเลย
ตรงนี้ก็พอจะพูดได้ว่า TFMAMA เป็นบริษัทที่ใช้เงินลงทุน เพิ่มขึ้นแค่นิดเดียว แต่ก็สามารถสร้างกระแสเงินสด กลับมาได้เยอะแล้วนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราน่าจะเข้าใจกันดีขึ้นแล้วว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา ผลประกอบการสำคัญ ๆ ของ TFMAMA มีอะไรเปลี่ยนแปลง และมีจุดไหนน่าสนใจบ้าง
ดังนั้น จะขอกล่าวสรุปสิ่งที่สำคัญกันสั้น ๆ อีกครั้งหนึ่ง
- รายได้และกำไรเติบโต
- อัตราการทำกำไรดีขึ้น
- กระแสเงินสดอิสระมากขึ้น
- อัตราส่วนกระแสเงินสดที่ได้กลับมาจากการลงทุนสูงขึ้น แม้จะมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ในการลงทุน เราก็ไม่ควรจะมองแค่ตัวเลขทางการเงินของบริษัท แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่เราควรต้องวิเคราะห์โอกาสในการเติบโตของบริษัท รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ในอนาคตต่อจากนี้ด้วย
และทุกครั้งก่อนที่เราจะลงทุน เราก็ต้องหัดถามตัวเองอยู่เสมอว่า บริษัทที่เรากำลังตามหาอยู่ บริษัทที่เราอยากจะเอาเงินที่เก็บหอมรอมริบมาได้
ไปลงทุนเพื่อตอบโจทย์ทางการเงินของชีวิตเรา คือบริษัทนี้ จริงหรือไม่
ถ้าคำตอบคือ “ใช่” ก็ถือว่า เราได้เจอขุมทรัพย์ล้ำค่า ที่เราตามหาแล้ว
แต่หากคำตอบคือ “ไม่” บางที ทางที่ดีที่สุด ก็คือการปล่อยบริษัทนั้นไป และก้าวเดินต่อไป เพื่อหาบริษัทที่เหมาะสมกับเราต่อไป..
หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#TFMAMA
References
- คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2567 บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
- งบการเงิน บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ปี 2567