กรณีศึกษา ตกแต่งงบกระแสเงินสด กลโกงที่นักลงทุน ต้องระวัง

กรณีศึกษา ตกแต่งงบกระแสเงินสด กลโกงที่นักลงทุน ต้องระวัง

17 พ.ย. 2023
กรณีศึกษา ตกแต่งงบกระแสเงินสด กลโกงที่นักลงทุน ต้องระวัง | MONEY LAB
เราน่าจะเคยได้ยินเรื่องการตกแต่งงบการเงิน จากหลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น บางบริษัทมีการสร้างตัวเลขยอดขายปลอม ในงบกำไรขาดทุน
แต่ถ้าเราไปตรวจสอบเพิ่มในงบกระแสเงินสด ก็อาจจะพบว่า บริษัทไม่ได้มีเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาจริง
อย่างเช่นในกรณีของ STARK ที่เป็นข่าวใหญ่ในปีนี้ ที่เราจะสามารถเห็นสัญญาณวิกฤติของบริษัท ได้จากงบกระแสเงินสด
งบกระแสเงินสด จึงเป็นดั่งเครื่องมือสำคัญของนักลงทุน ที่ใช้ตรวจสอบสภาพคล่องของบริษัท นั่นเอง
แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากว่าบริษัท ที่ตั้งใจจะโกงเงินนักลงทุน มีกระแสเงินสดไหลเข้ามาในบริษัทจริง ๆ
แล้วเราจะจับผิดบริษัทประเภทนี้ เพื่อไม่ให้ไปติดกับดัก ได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
มีความเชื่อกันว่า งบกระแสเงินสดไม่สามารถตกแต่งได้ และเป็นตัวช่วยชั้นดี ในการจับผิดว่า งบการเงินของบริษัทใสสะอาดจริงหรือเปล่า
ซึ่งงบกระแสเงินสด จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ
กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO)กระแสเงินสดจากการลงทุน (CFI)กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน (CFF)
นอกจากนั้น เรายังสามารถใช้ข้อมูลจากงบกระแสเงินสด เพื่อมาคำนวณหา “กระแสเงินสดอิสระ” หรือ FCF ได้
โดย กระแสเงินสดอิสระ มาจากการนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ลบด้วย ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อทำธุรกิจ
หากกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกอย่างสม่ำเสมอ หมายความว่า บริษัทมีสุขภาพทางการเงินที่ดี ได้รับเงินสดกลับเข้ามาในบริษัท มากกว่าค่าใช้จ่ายที่บริษัทลงทุนไป
แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าผู้บริหารของบริษัทตั้งใจจะโกงจริง ๆ ก็สามารถตกแต่งงบกระแสเงินสด ทั้ง 3 ส่วน
และทำให้กระแสเงินสดอิสระออกมาดูดี อย่างแนบเนียนได้เช่นกัน
ขอยกตัวอย่างเป็นบริษัท A ดังนี้
บริษัท A ทำธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการได้ดีประมาณหนึ่ง จากกลุ่มลูกค้าที่ชอบสินค้าของบริษัท
แต่บริษัทยังไม่ถึงกับเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตได้สูงในระยะยาว
เพราะว่าสินค้าของบริษัทอาจจะยังไม่ได้โดดเด่น และยังไม่มีแบรนด์ของสินค้าที่แข็งแกร่ง จนสามารถดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ ได้มากนัก
มูลค่าของบริษัท A ในช่วงแรก ๆ จึงยังไม่สูงมาก
เจ้าของบริษัท A ซึ่งเป็นผู้บริหารด้วย จึงอาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้ เพื่อดันมูลค่าของบริษัท A ให้เพิ่มสูงขึ้น
สร้างบริษัทปลอม ที่อยู่ในต่างประเทศ
เจ้าของบริษัท A เลือกไปตั้งบริษัทปลอมขึ้นมาในต่างประเทศ สมมติให้ชื่อบริษัท B
จากนั้นก็ยอมลงทุนใส่เงินเข้าไปในบริษัท B จริง ๆ
เช่น เจ้าของเลือกใส่เงินเข้าไป 3,000-5,000 ล้านบาท
ให้บริษัท B มาเป็นลูกค้าของบริษัท A
บริษัท B จะเริ่มทยอยสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท A ในทุก ๆ ปี และมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการจ่ายเงินทำธุรกรรมจริง ๆ
ส่งผลให้บริษัท A มีรายได้และกำไร เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พอเป็นแบบนี้ กระแสเงินสดก็จะเข้าบริษัท A และกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัท A ก็เป็นบวก
ในขณะที่บริษัท A อาจทำธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก เช่น ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ของกินของใช้ทั่วไป
ทำให้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว บริษัท A ก็จะมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวก และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตามผลประกอบการของรายได้และกำไร
เราลองสมมติให้บริษัท A มีผลประกอบการ ดังนี้
ปี 2561
รายได้ 1,000 ล้านบาท
กำไร 200 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ 100 ล้านบาท
ปี 2563
รายได้ 2,000 ล้านบาท
กำไร 400 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ 400 ล้านบาท
ปี 2565
รายได้ 4,000 ล้านบาท
กำไร 1,000 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ 1,000 ล้านบาท
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่า ภายในระยะเวลา 4 ปี
บริษัท A มีรายได้เติบโตเป็น 4 เท่า
กำไรเติบโตเป็น 5 เท่า
และกระแสเงินสดอิสระเติบโตเป็น 10 เท่า
หุ้นของบริษัท A เริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุน
เป็นเรื่องธรรมดา ที่บริษัทที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง มีรายได้, กำไร และกระแสเงินสดอิสระที่เติบโต จะเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุน
เพราะหุ้นของบริษัทประเภทนี้ จะถูกมองว่าเป็น หุ้นของบริษัทเติบโต หรือ Growth Stock
รวมถึงเราอาจจะเริ่มได้ข่าวว่า สินค้าหรือบริการของบริษัท A เริ่มติดตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีลูกค้าอยู่ในหลายประเทศ
เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ทำให้มีนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทจำนวนมากขึ้น
ส่งผลให้ ราคาของหุ้น, มูลค่าบริษัท รวมถึง P/E ของหุ้น เพิ่มสูงขึ้น
แล้วเจ้าของบริษัทได้อะไร จากการทำแบบนี้ ?
ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
ปี 2561
บริษัท A มีกำไร 200 ล้านบาท
ในขณะนั้น หุ้นของบริษัทซื้อขายกันที่ P/E 20 เท่า
แปลว่า มูลค่าของบริษัท A จะเท่ากับ 4,000 ล้านบาท
เมื่อเวลาผ่านไปถึงปี 2565
บริษัท A มีกำไร 1,000 ล้านบาท
แต่ด้วยความเป็นหุ้นเติบโต ทำให้มีความคาดหวังจากนักลงทุน หุ้นของบริษัท A จึงซื้อขายกันที่ P/E 40 เท่า
แปลว่า ตอนนี้มูลค่าบริษัท จะเท่ากับ 40,000 ล้านบาท
หรือกลายเป็นหุ้น 10 เด้งทันที
ถ้าหากสมมติให้ เจ้าของบริษัทถือหุ้นอยู่ 50%
ก็หมายความว่า ทรัพย์สินของเจ้าของบริษัทนี้ จะเพิ่มขึ้น 18,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี
เมื่อเทียบกับจำนวนเงิน ที่เคยใส่เข้าไปในบริษัท B ตอนแรก 3,000-5,000 ล้านบาท
ก็น่าจะทำให้เจ้าของบริษัท A ทำกำไรจากกลโกงครั้งนี้ได้หลักหมื่นล้านบาท..
ลำดับต่อไป ก็คงเดาได้ไม่ยาก นั่นก็คือ
ผู้บริหารเริ่มขายหุ้นออกมา และผลประกอบการก็แย่ลงเรื่อย ๆ
เมื่อราคาหุ้นของบริษัท A ถูกดันขึ้นไปสูงมาก ผู้บริหารก็เริ่มที่จะทยอยขายหุ้นออกมาเรื่อย ๆ
พอได้กำไรกลับเข้ากระเป๋าสตางค์ของผู้บริหารมากขนาดนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องลงทุนลงแรง ในการทำธุรกิจ ให้เหนื่อยยากลำบากอีกต่อไป
ผลประกอบการของบริษัท A ที่เคยเติบโตได้ดี ก็เริ่มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และอาจกลายเป็นขาดทุน
ราคาหุ้นของบริษัท A ที่เคยขึ้นไปสูงมาก ก็กลับตกต่ำลงมา จนทำให้นักลงทุนหลายคนที่เข้ามาซื้อ ขาดทุนไปตาม ๆ กัน
หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น นักลงทุนที่ดูแค่งบการเงินเป็นหลัก จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า บริษัททำธุรกิจอย่างไม่โปร่งใส
จนกว่าจะถึงวันที่ นักลงทุนได้ขาดทุนเป็นเงินจำนวนมากไปแล้ว
แล้วเราจะมีวิธีการในการรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ?
อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเราได้มาก คือการทำ “Scuttlebutt”
ซึ่งเป็นการตรวจสอบคุณภาพของบริษัทในทุกด้าน แบบลึกซึ้ง
โดยเราสามารถทำได้ด้วยการไปพูดคุยกับลูกค้า ซัปพลายเออร์ คู่แข่ง พนักงาน และดิสทริบิวเตอร์ ว่ามีความเห็นเกี่ยวกับบริษัทที่เราสนใจจะลงทุนอย่างไร
นอกจากนี้ เราก็ควรสังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิต และบุคลิกของผู้บริหารว่า เป็นคนอย่างไร ประหยัดหรือฟุ่มเฟือย ทำธุรกิจเก่งจริงหรือไม่ด้วย
ที่สำคัญ ถ้าเป็นไปได้ เราก็ควรหมั่นไปสังเกตหน้าร้านของบริษัทในหลาย ๆ สาขาว่า ในแต่ละวันมีลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน
และยอดขายสินค้ารวมที่อยู่ในงบการเงิน เมื่อนำมาหารจำนวนสินค้าที่ขายได้ต่อสาขาแล้ว มันดูมีความสมเหตุสมผล เมื่อเทียบกับสภาพบรรยากาศของร้านสาขาหรือไม่
ถ้าหากเราทำได้แบบนี้ ก็จะช่วยให้เรารู้จักบริษัทที่เราสนใจจะลงทุนได้ดีขึ้นมาก
และยังช่วยปกป้องเรา จากความเสี่ยงในการลงทุน ไม่ให้โดนผู้บริหารขี้โกง ที่จะคอยมาหลอกเอาเงินจากนักลงทุน ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.