กรณีศึกษา BEM ธุรกิจทางพิเศษและขนส่งมวลชน บริษัทลูกรักของ ช.การช่าง

กรณีศึกษา BEM ธุรกิจทางพิเศษและขนส่งมวลชน บริษัทลูกรักของ ช.การช่าง

4 ต.ค. 2023
กรณีศึกษา BEM ธุรกิจทางพิเศษและขนส่งมวลชน บริษัทลูกรักของ ช.การช่าง | MONEY LAB
ช.การช่าง หรือ CK นอกจากจะเป็นหนึ่งในบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของไทยแล้ว
โมเดลธุรกิจของ ช.การช่าง ยังมีการเข้าไปลงทุนในกิจการสาธารณูปโภคหลายแห่งด้วย
หนึ่งในบริษัทลูกรักที่ ช.การช่าง เข้าไปลงทุนก็คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM
ธุรกิจทางพิเศษและขนส่งมวลชน ที่ ช.การช่าง ลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท
แล้วธุรกิจของ BEM น่าสนใจอย่างไรบ้าง
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เกิดจากการควบรวมกิจการกันระหว่าง
บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือ BECL และ
บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL ในปี 2558
ปัจจุบัน ธุรกิจของ BEM แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ
ธุรกิจทางพิเศษ ผ่านการรับสัมปทานจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในการก่อสร้างและบริหารทางพิเศษรวม 3 สายทาง คือ ทางพิเศษศรีรัช, ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และทางพิเศษอุดรรัถยา
ธุรกิจระบบราง ซึ่งให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จํานวน 2 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน และสายสีม่วง
ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งเกี่ยวกับการหาและจัดทําสื่อโฆษณารูปแบบต่าง ๆ ในรถไฟฟ้า สถานีรถไฟฟ้า ให้เช่าพื้นที่ร้านค้าในสถานีรถไฟฟ้า รวมทั้งให้บริการและดูแลรักษาอุปกรณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคมภายในสถานีรถไฟฟ้า
ขณะที่ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของแต่ละกลุ่มธุรกิจมาจาก
ธุรกิจทางพิเศษ 55%
ธุรกิจระบบราง 38%
ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ 7%
ต้องบอกว่า ธุรกิจของ BEM นอกจากจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมวลชนที่มีลูกค้าหลายล้านคนแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รายรับ เป็นเงินสดแทบทุกวัน
คือ เมื่อบริษัทให้บริการแก่ลูกค้าแล้วก็สามารถเก็บเงินได้ทันที
ในด้านของค่าใช้จ่าย ต้นทุนบางส่วนก็เป็นต้นทุนค่าตัดจําหน่าย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นตัวเงินสด จึงทำให้ BEM นั้นมีธุรกิจที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานค่อนข้างแข็งแรง
ซึ่งในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BEM นั้น มีสูงกว่า 3,200 ล้านบาท
ขณะที่วงจรเงินสดของ BEM นั้นคือ ติดลบ 58 วัน
ซึ่งถ้าตัวเลขนี้ ยิ่งมีค่าเป็นลบมาก ยิ่งดี หมายความว่า บริษัทมีเงินสดรับเข้ามา เร็วกว่าเงินสดจ่ายออกไป
นั่นก็เพราะว่า BEM นั้น มีการเก็บเงินสดจากลูกค้าได้ ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินสดนั้นออกไปให้กับเจ้าหนี้การค้า หรือนำไปจ่ายหนี้ ทำให้มีเงินสดมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องมือนั่นเอง
ในขณะที่รายได้และกำไรของ BEM เป็นดังนี้
ปี 2564
รายได้ 11,482 ล้านบาท
กำไร 1,010 ล้านบาท
ปี 2565
รายได้ 14,801 ล้านบาท
กำไร 2,436 ล้านบาท
6 เดือนแรก ปี 2566
รายได้ 8,447 ล้านบาท
กำไร 1,650 ล้านบาท
โดยรายได้และกำไรที่เติบโต ก็เป็นไปตามการกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากช่วงการเกิดโรคระบาดก่อนหน้านี้
และจากการที่ ช.การช่าง เข้าไปลงทุนใน BEM
ทำให้ในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ ช.การช่าง ได้รับส่วนแบ่งกำไรจาก BEM มาถึง 580 ล้านบาท
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ ปัจจุบัน BEM มีมูลค่าบริษัท 126,866 ล้านบาท โดยมี ช.การช่าง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 34.4% คิดเป็นมูลค่า 43,641 ล้านบาท
ซึ่งมูลค่านี้มากกว่าตัวมูลค่าบริษัทของ ช.การช่าง เอง ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 35,200 ล้านบาท เสียอีก..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อ หรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References
แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2565, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.