กรณีศึกษา ทำไม CPALL ถึงมีโครงการ ให้พนักงานซื้อหุ้น ของบริษัทตัวเอง

กรณีศึกษา ทำไม CPALL ถึงมีโครงการ ให้พนักงานซื้อหุ้น ของบริษัทตัวเอง

29 ส.ค. 2023
กรณีศึกษา ทำไม CPALL ถึงมีโครงการ ให้พนักงานซื้อหุ้น ของบริษัทตัวเอง | MONEY LAB
ก่อนหน้านี้ มีข่าวน่าสนใจของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ที่ประกาศใช้โครงการสะสมหุ้นสำหรับพนักงาน หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Employee Joint Investment Program หรือ EJIP
ซึ่งโครงการดังกล่าว ก็นับเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งสำหรับพนักงาน เพื่อจูงใจให้อยู่กับบริษัทต่อ และยังดึงดูดให้คนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานอีกด้วย
แล้ว EJIP คืออะไร และมีความน่าสนใจอย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
EJIP หรือ โครงการสะสมหุ้นสำหรับพนักงาน โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
จริง ๆ แล้วก็ต้องบอกว่า โดยหลักการแล้ว EJIP ไม่ได้แตกต่างจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสักเท่าไร
โดยเงินที่เราลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมาจาก เงินสมทบจากบริษัทที่เราทำงานอยู่ และเงินเดือนบางส่วนของเราที่ถูกหักไปลงทุนในกองทุน
ซึ่งหลักการของ EJIP ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่ แทนที่เงินจะถูกนำไปลงทุนในกองทุน กลับเป็นการนำเงินไปลงทุน ในหุ้นของบริษัทที่เราทำงานอยู่แทน
อย่างกรณีของ บริษัท CPALL ซึ่งมีรายละเอียดโครงการ EJIP ดังนี้
-พนักงานของบริษัทที่มีสิทธิ์ และสมัครเข้าร่วมโครงการ จะถูกหักเงินเป็นสัดส่วน 5% ของเงินเดือน เพื่อนำมาซื้อหุ้น CPALL
-ทางบริษัทจะช่วยสมทบเงินอีกเป็นจำนวน 80% ของเงินเดือนที่ถูกหักไป
-ทาง CPALL จะว่าจ้างให้บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บล. ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจัดการซื้อหุ้นให้กับพนักงาน
โดยทาง บล. ก็จะนำเงินร่วมลงทุนระหว่างพนักงานและบริษัท ไปซื้อหุ้นของบริษัท ด้วยวิธี Dollar Cost Average (DCA) คือการซื้อหุ้นแบบถัวเฉลี่ยในทุกเดือน จนกว่าโครงการจะสิ้นสุด
เช่น คุณ A ได้รับเงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน และเลือกสมัครเข้าโครงการ EJIP ของ CPALL
-คุณ A จะถูกหักเงินเป็นสัดส่วน 5% ของเงินเดือน เท่ากับ 1,500 บาท
-บริษัท CPALL จะจ่ายเงินสมทบให้กับคุณ A เป็นสัดส่วน 80% ของเงินที่คุณ A ถูกหักออกไป เท่ากับ 1,200 บาท
ดังนั้น เงินจำนวน 2,700 บาทนี้ จะถูกนำไปซื้อหุ้น CPALL สะสมให้กับคุณ A โดยอัตโนมัติ ในทุกเดือน จนกว่าโครงการจะสิ้นสุดลง
แล้ว EJIP มีข้อดีอะไรอีกบ้าง
-สร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน เพราะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการ
-รักษาพนักงานเก่ง ๆ ให้ยังอยู่กับบริษัทต่อไป
-เป็นทางเลือกในการจ่ายผลตอบแทนให้กับพนักงาน นอกจากโบนัส และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
-ไม่มีปัญหาเรื่อง Dilution Effect เพราะบริษัทไม่ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้กับพนักงาน
ปัญหา Dilution Effect จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ บริษัทออกหุ้นเพิ่มทุน หรือแจกวอร์แรนต์ แล้วกำไรต่อหุ้นของบริษัท เพิ่มขึ้นไม่ทันกับจำนวนของหุ้นที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทลดลง
แต่สำหรับกรณีของ EJIP จะไม่มีการออกหุ้นใหม่ แต่เป็นการใช้เงินจากทั้งบริษัทและพนักงาน มาซื้อหุ้นของบริษัทที่มีขายอยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้วนั่นเอง
แน่นอนว่า พอพนักงานมีหุ้นของบริษัท พนักงานก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้พนักงานมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผล และมีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นด้วย
นอกจากนี้ หากหุ้นที่ซื้อมีราคาสูงขึ้น พนักงานก็จะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาหุ้นด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงเข้าใจกันดีขึ้นแล้วว่า โครงการ EJIP คืออะไร
สำหรับองค์กรที่หวังจะเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว แต่กำลังเจอกับความเสี่ยงที่พนักงานเก่ง ๆ จะหนีจากบริษัทไป การทำโครงการ EJIP ก็ดูจะเป็นท่าที่น่าสนใจไม่น้อย..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.