สรุป ความรู้ทางการเงิน ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

สรุป ความรู้ทางการเงิน ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

15 มี.ค. 2023
สรุป ความรู้ทางการเงิน ที่โรงเรียนไม่ได้สอน - BillionMoney
เราน่าจะได้เรียนรู้วิชาหลายอย่าง ที่มีประโยชน์กับการใช้ชีวิตของเรา จากโรงเรียน
แต่มีอยู่อีกหนึ่งวิชา ที่โรงเรียนไม่ได้สอนเด็กนักเรียน ถึงแม้จะเป็นความรู้ที่สำคัญ และสามารถนำไปใช้ได้จริง
วิชาที่ว่าก็คือ “ความรู้ทางการเงิน”
ความรู้ทางการเงินที่โรงเรียนไม่ได้สอนนี้ มีอะไรบ้าง
BillionMoney จะมาสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ความรู้ทางการเงินดังกล่าว แบ่งออกเป็น 5 ข้อ
1.การจัดทำ งบการเงินส่วนบุคคล
ช่วยให้เราเห็นภาพ และสถานะทางการเงินของเรา ในแต่ละช่วงเวลา ได้อย่างชัดเจน
ทั้งยังช่วยให้เราวางแผนทางการเงิน เพื่อกำหนดค่าใช้จ่ายและการเก็บออมเงิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งบการเงินส่วนบุคคล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
-งบรายรับ-รายจ่าย
แสดงการไหลเข้าและไหลออก ของเงินของเรา ซึ่งจะช่วยบ่งบอกถึงสภาพคล่องของเรา
-งบแสดงสถานะทางการเงิน
แสดงสถานะทางการเงินของเราว่า มีความมั่งคั่งเท่าไร โดยคำนวณว่า เรามีทรัพย์สินมากกว่า หนี้สินแค่ไหน
2.ความแตกต่างระหว่าง หนี้รวย และ หนี้จน
การเป็นหนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่เสมอไป ดังนั้น จึงควรเข้าใจความแตกต่าง ระหว่างหนี้ 2 ประเภท คือ
-หนี้รวย
หนี้ที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเรา เช่น เงินกู้ เพื่อใช้ในการทำธุรกิจ ซึ่งจะสร้างกระแสเงินสด เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้กับเราในอนาคต
-หนี้จน
หนี้ที่จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้เราเพิ่มขึ้น เช่น หนี้บริโภค และหนี้เพื่อการประกอบอาชีพและปัจจัยพื้นฐาน
หนี้บริโภค คือหนี้ที่กู้มาใช้จ่ายเพื่อการบริโภค เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้นอกระบบ
โดยหนี้ประเภทดังกล่าว ไม่ได้ถูกกู้มาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
และมักมีอัตราดอกเบี้ยสูง
หนี้เพื่อการประกอบอาชีพและปัจจัยพื้นฐาน เช่น หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้กู้ซื้อบ้าน และหนี้กู้ซื้อรถ
หนี้ประเภทนี้นับเป็นหนี้ที่มีความจำเป็น เพราะเป็นหนี้ที่ก่อขึ้น เพื่อไปใช้จ่ายปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต
แต่ก่อนที่เราจะก่อหนี้ประเภทนี้ เราควรประเมินว่า ระดับรายได้ของเราในปัจจุบัน พร้อมสำหรับการก่อหนี้ประเภทดังกล่าวหรือไม่
เพราะหนี้กู้ซื้อบ้านหรือรถ จะต้องใช้เวลาผ่อนหนี้เป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ สภาพคล่องทางการเงินของเราได้
3.ความรู้เรื่องภาษี
เมื่อเราเริ่มทำงานมีรายได้ เราก็ต้องเริ่มเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้นความรู้ทางด้านภาษี เช่น การคำนวณภาษี ขั้นตอนการยื่นภาษี และสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็มีความจำเป็น
ความรู้ด้านภาษี ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ก็อย่างเช่น
-หลักการลงทุนในกองทุน RMF และ SSF
-หลักการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
-ประกันสังคม
-การบริจาค เพื่อลดหย่อนภาษี
-การทำประกัน
4.การรับมือกับความเสี่ยงในอนาคต
ในอนาคต เราอาจประสบเรื่องร้าย ที่เราเองก็คาดไม่ถึง
เช่น ประสบอุบัติเหตุ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตหรือทรัพย์สิน
เรื่องดังกล่าวย่อมทำให้เราเกิดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวรับมือไว้ ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็อาจจะสร้างความลำบากกับเงินในกระเป๋าของเราอย่างหนัก
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด ก็คือการป้องกันความเสี่ยง
เราจึงควรต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับประกันแต่ละประเภทเอาไว้บ้าง เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และประกันชีวิต
ความเข้าใจเรื่องประกัน จะช่วยให้เราสามารถป้องกันความเสี่ยง โดยการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเรา ในกรณีที่เกิดเรื่องคาดไม่ถึงในอนาคตได้
5.ความรู้ด้านการลงทุน
รู้หรือไม่ว่า เงิน 1,000 บาท ในวันนี้ มีค่ามากกว่า เงิน 1,000 บาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า
แนวคิดที่ว่า มูลค่าเงินจะเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลานี้เอง ในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า “มูลค่าเงินตามเวลา”
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าปัจจุบัน เงิน 1,000 บาท สามารถซื้อข้าวจานละ 50 บาท ได้ 20 จาน
แต่ถ้าในอนาคต เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี
หลังจากผ่านไป 30 ปี ราคาของข้าวก็จะปรับขึ้นเป็นจานละ 121 บาท
ซึ่งก็จะทำให้ เงิน 1,000 บาท ซื้อข้าวได้ไม่ถึง 10 จาน
จากตัวอย่างนี้ เราก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเราเลือกเก็บเงินไว้ โดยที่ไม่นำไปลงทุน เงินเก็บของเราก็จะโดนเงินเฟ้อกัดกินมูลค่า
ซึ่งการลงทุนนี้เอง ก็จะทำให้เราพบกับ “มหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น” อีกด้วย
โดยมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น ก็คือ การเอาดอกเบี้ยหรือกำไรที่เราได้รับจากการลงทุน กลับไปลงทุนต่อ
ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนของเรางวดถัดไปนี้ ก็จะเป็นการคิดดอกเบี้ยจากเงินต้น บวกกับดอกเบี้ยที่ได้รับจากงวดก่อนหน้าทบกันไป
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเรานำเงินออม 1,000 บาท ไปลงทุนในกองทุนอิงดัชนีหุ้น ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย ปีละ 8% ทุกปี เป็นเวลา 30 ปี
เงินต้นจำนวน 360,000 บาท ก็จะงอกเงยมาเป็น 1,490,539 บาท
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าการลงทุนของเราได้ผลตอบแทนที่ 8% ต่อปี แต่เงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ต่อปี
หมายความว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนของเรา จะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ถึง 5% ต่อปี
ดังนั้น ความรู้ในเรื่องการลงทุน จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนอกจากจะทำให้เรารับมือกับเงินเฟ้อได้แล้ว ยังช่วยให้เราสามารถสร้างเสริมความมั่งคั่งในระยะยาวได้ดีอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงเห็นความสำคัญของความรู้ทางการเงินในด้านต่าง ๆ ที่โรงเรียนไม่ได้สอนแล้ว
ซึ่งความรู้ทางการเงินทั้ง 5 ข้อนี้ ก็คงจะเป็นประโยชน์ ให้กับเราในด้านการวางแผนการเงินได้ ไม่มากก็น้อย..
Reference
-MONEY 101 เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข (2562) โดย จักรพงษ์ เมษพันธุ์
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.