เจาะลึก 5 สิ่งที่ควรดู ในงบการเงิน 88TH เจ้าของแบรนด์แชมพู LYO ที่มีพี่หนุ่ม เป็นพรีเซนเตอร์
21 ม.ค. 2025
หากใครที่ชอบดูรายการ “โหนกระแส” ของพี่หนุ่ม กรรชัย อยู่บ่อย ๆ น่าจะเคยเห็นสินค้าแบรนด์ LYO ถูกวางโฆษณาอยู่ในรายการ
แต่รู้ไหมว่า บริษัท 88(ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ LYO กำลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น mai แล้ว
ซึ่งนอกจากแชมพูแบรนด์ LYO แล้ว บริษัทแห่งนี้ยังเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวแบรนด์ Hone และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบรนด์ ver.88 อีกด้วย
โดยบริษัทเป็นทั้งผู้ผลิต และจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งระบบตัวแทนจำหน่าย ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงช่องทางการขายแบบออนไลน์
แล้วบริษัท 88TH มีความน่าสนใจอย่างไร ในมุมการลงทุน ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
1. รายได้หลักของบริษัทมาจากแบรนด์ LYO ถึง 90%
จากผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้แยกตามสินค้าของบริษัทแบ่งเป็น..
42.8% มาจากผลิตภัณฑ์แชมพูปิดผมขาว (แบรนด์ LYO)
38.7% มาจากผลิตภัณฑ์ลดผมร่วง (แบรนด์ LYO)
8.7% มาจากผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมจากสารสกัดสมุนไพร (แบรนด์ LYO)
6.1% มาจากผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (แบรนด์ Hone)
2.5% มาจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (แบรนด์ ver.88)
1.2% มาจากสินค้าอื่น ๆ
ที่น่าสนใจก็คือ ผลิตภัณฑ์แชมพูปิดผมขาว เป็นสินค้าที่เพิ่งออกมาใหม่เมื่อปี 2565 แต่ปัจจุบันกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้บริษัทได้มากที่สุด
2. การขายผ่านช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และช่องทางออนไลน์ เป็นปัจจัยให้ยอดขายเติบโต
หากเราดูสัดส่วนรายได้แบ่งตามช่องทางการจัดจำหน่าย จะพบว่า
ในปี 2564 รายได้ของบริษัทมาจาก
- ช่องทางตัวแทนจำหน่าย 240 ล้านบาท คิดเป็น 82.7% ของรายได้รวม
- ช่องทางออนไลน์ 27.5 ล้านบาท คิดเป็น 9.5% ของรายได้รวม
- ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ 22.5 ล้านบาท คิดเป็น 7.8% ของรายได้รวม
ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 รายได้ของบริษัทมาจาก
- ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ 137.5 ล้านบาท คิดเป็น 40.1% ของรายได้รวม
- ช่องทางตัวแทนจำหน่าย 134.2 ล้านบาท คิดเป็น 39.1% ของรายได้รวม
- ช่องทางออนไลน์ 69 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของรายได้รวม
- อื่น ๆ 2.4 ล้านบาท คิดเป็น 0.7% ของรายได้รวม
แม้ในปัจจุบันรายได้จากตัวแทนจำหน่ายจะลดลง แต่ยอดขายจากร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และยอดขายจากช่องทางออนไลน์กลับเพิ่มขึ้น
ทำให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ กลายเป็นช่องทางจัดจำหน่ายหลัก ที่สร้างรายได้ให้บริษัทมากที่สุด แทนที่การขายผ่านระบบตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว
3. บริษัทแทบไม่มีหนี้เงินกู้ยืมเลย
ระดับหนี้สินของกิจการนั้น เราสามารถดูได้จากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ D/E Ratio โดยในช่วงที่ผ่านมาก็พบว่า
- ปี 2564 มี D/E Ratio เท่ากับ 0.48
- ปี 2565 มี D/E Ratio เท่ากับ 0.20
- ปี 2566 มี D/E Ratio เท่ากับ 0.25
และงบแสดงฐานะการเงินในไตรมาส 3 ปี 2567 ก็พบว่าบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.38 เท่า
โดยหนี้สินส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้การค้า 50.8 ล้านบาท จากหนี้สินทั้งหมด 75.9 ล้านบาท
ที่เหลือเป็นหนี้สินที่เกิดจากสัญญาเช่า ภาษีค้างจ่าย และสำรองผลประโยชน์พนักงาน
4. วงจรเงินสด
วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle ไว้ใช้วิเคราะห์ว่า บริษัทมีการหมุนเวียนสภาพคล่องได้ดีหรือไม่
คำนวณหาโดย
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย + ระยะเวลาการเก็บเงินจากลูกหนี้การค้าเฉลี่ย - ระยะเวลาที่จะถึงกำหนดชำระเงินเจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย
ยิ่งบริษัทไหนมีวงจรเงินสดที่สั้นมาก ก็แปลว่าบริษัทได้รับเงินสดจากการทำธุรกิจได้เร็ว
ปี 2564 มี Cash Cycle 80 วัน
ปี 2565 มี Cash Cycle 184 วัน
ปี 2566 มี Cash Cycle 155 วัน
หมายความว่าบริษัทต้องมีเงินสำรองสำหรับบริหารธุรกิจประมาณ 155 วัน กว่าจะได้เงินจากการขายสินค้า และเก็บเงินจากลูกหนี้การค้า
โดยวงจรเงินสดในปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 104 วัน จากปี 2564 นั้น เกิดจากการที่บริษัทมีสินค้าคงเหลือมากขึ้น จากการที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายแบบ และใช้เวลาเก็บหนี้นานขึ้น เพราะนำสินค้าไปขายยังช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่
แต่ในปี 2566 ตัวเลขวงจรเงินสดที่ลดลง 29 วัน จากปี 2565 ก็แสดงให้เห็นว่า ทางบริษัทมีการบริหารสภาพคล่องของธุรกิจได้ดีขึ้น
5. กระแสเงินสดอิสระ
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow คือกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน หลังหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนออกไปหมดแล้ว
เพื่อดูว่าธุรกิจสามารถผลิตกระแสเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นได้ดีมากแค่ไหน
ปี 2565 มีกระแสเงินสดอิสระ -49.3 ล้านบาท
ปี 2566 มีกระแสเงินสดอิสระ 57 ล้านบาท
ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีกระแสเงินสดอิสระ 16.4 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าปี 2565 บริษัทมีกระแสเงินสดอิสระติดลบ สาเหตุก็เป็นเพราะว่าบริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบ เพราะมีสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น
แต่ในปัจจุบันบริษัทได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้กระแสเงินสดอิสระกลับมาเป็นบวกได้
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
จุดเริ่มต้นของแบรนด์ LYO เกิดขึ้นในปี 2545 โดยคุณประวิทย์ ตันติสุวิทย์กุล ซึ่งเป็นเภสัชกร แต่ต่อมาได้ทำการขายกิจการ ให้กับคุณนพรัตน์ มาลัยวงค์ ที่ต่อมาก็ได้พาร์ตเนอร์ และพรีเซนเตอร์อย่าง พี่หนุ่ม กรรชัย
แต่พี่หนุ่ม กรรชัย ไม่อยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกของบริษัท 88(ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)..
References
-หนังสือชี้ชวน บริษัท 88(ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
-งบการเงินปี 2564 - งวด 9 เดือน ปี 2567 บริษัท 88(ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)