เจาะลึก 4 สิ่งที่ควรดู ในงบการเงิน ONSENS เจ้าของออนเซ็น แบรนด์ Yunomori ที่กำลังจะ IPO
14 ม.ค. 2025
ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีบริษัทจำนวนมากยื่นไฟลิ่ง เพื่อเตรียมเข้าตลาดหุ้นไทย
โดยมีทั้งบริษัทที่ยังทำธุรกิจแบบเดิม ๆ และรวมถึงบริษัทที่มีรูปแบบธุรกิจที่แปลกใหม่
แต่รู้หรือไม่ว่า อีกไม่นานนี้ กำลังจะมีธุรกิจให้บริการแช่บ่อน้ำร้อนออนเซ็นแบบญี่ปุ่น เข้าตลาดหุ้นไทยด้วย
บริษัทแห่งนี้ชื่อว่า บริษัท ออนเซ็น รีทรีต แอนด์ สปา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ONSENS
หากสงสัยว่า ONSENS มีธุรกิจที่น่าสนใจอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุนให้เข้าใจง่าย ๆ
ONSENS ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 โดยคุณสมิทธิ์ เมฆอรุณกมล ที่มีความหลงใหลกับวัฒนธรรมการแช่ออนเซ็นของญี่ปุ่น
ที่การแช่ออนเซ็นนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ว่า เราจะต้องไปแช่บ่อน้ำร้อนแบบธรรมชาติตามสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว คนที่อยากมาแช่ออนเซ็น ก็สามารถมาใช้บริการกับบ่อออนเซ็นที่มีให้บริการในเมืองก็ได้
และนอกจากความสนใจในเรื่องการแช่ออนเซ็นแบบญี่ปุ่นแล้ว คุณสมิทธิ์ก็ยังมีความคิดที่อยากจะนำเสนอภูมิปัญญาการนวดของไทย ไปสู่ระดับสากลด้วย
เมื่อมีความหลงใหลในทั้ง 2 ด้านนี้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดเป็นแบรนด์ “Yunomori” ซึ่งเป็นธุรกิจการให้บริการออนเซ็นสไตล์ญี่ปุ่น ร่วมกับการให้บริการสปาแบบครบวงจร เจ้าแรกของประเทศไทย
ปัจจุบัน ONSENS จะมีอยู่ 2 ธุรกิจหลัก คือ
1. ธุรกิจออนเซ็นและสปา จะมีอยู่ 2 แบรนด์
- แบรนด์ Yunomori ให้บริการบ่อน้ำร้อนออนเซ็น รวมถึงบริการสปา เช่น การนวดแผนไทย
ปัจจุบัน Yunomori มีอยู่ทั้งหมด 4 สาขา แบ่งเป็นในประเทศไทย 3 สาขา และในประเทศสิงคโปร์ 1 สาขา
- แบรนด์ KLAI ให้บริการการนวดเพื่อสุขภาพ โดยใช้ความรู้จากการผสมผสานการรักษาจากแพทย์แผนไทย 2 ชนิด คือ “ฤาษีดัดตน” และ “เส้นประธานสิบ”
สำหรับแบรนด์ KLAI เพิ่งก่อตั้งเมื่อปลายปี 2567 จึงยังมีอยู่แค่ 1 สาขาเท่านั้น โดยเป็นสาขารูปแบบ Flagship Store ตั้งอยู่ที่ย่านเยาวราช
2. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ “Happy Rice”
ร้านอาหาร Happy Rice เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์โฮมเมด โดยจะตั้งอยู่ภายในร้าน Yunomori ทุกสาขา
เพราะสำหรับคนที่มาใช้บริการออนเซ็น หลายคนก็อยากจะใช้เวลาในการผ่อนคลาย เช่น การทำสปา หรือแช่ออนเซ็นอยู่ทั้งวัน
ดังนั้นเพื่อให้ลูกค้าได้รู้สึกว่ามาพักผ่อนอย่างเต็มที่ ทาง ONSENS จึงได้มีร้านอาหาร Happy Rice ให้บริการด้วยนั่นเอง
และนอกจากให้บริการออนเซ็นและสปา รวมถึงธุรกิจร้านอาหารแล้ว ทาง ONSENS ก็ยังมีการขายสินค้าประเภทต่าง ๆ ด้วย เช่น ชุดยูกาตะ ผ้าพันคอ และแก้วกาแฟ
โดยที่ผ่านมา สินค้าเหล่านี้ก็เคยมีการออกแบบร่วมกับศิลปินที่มีชื่อเสียงหลากหลายท่านด้วย
ทีนี้เรามาดูความน่าสนใจในงบการเงินของบริษัทกันบ้างดีกว่า สัก 4 ข้อ
1. ผลประกอบการของบริษัทย้อนหลัง
ปี 2564 รายได้ 82 ล้านบาท ขาดทุน 36 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 205 ล้านบาท กำไร 14 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 274 ล้านบาท กำไร 43 ล้านบาท
และล่าสุดคือ งวด 9 เดือนแรก ปี 2567 รายได้ 211 ล้านบาท กำไร 25 ล้านบาท
โดยสาเหตุที่ผลประกอบการของบริษัทในปี 2564 มีรายได้น้อยกว่าปีอื่น ๆ และมีผลขาดทุนด้วย ก็เพราะว่า ในปีนั้นเป็นปีที่เกิดวิกฤติโรคระบาด จึงมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น
ทำให้บริษัทเปิดให้บริการได้เพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้น แถมในช่วงที่เกิดวิกฤติ ผู้คนต้องเว้นระยะห่างกัน ทำให้มีผู้มาใช้บริการน้อยลง
แต่พอถึงปี 2565 เมื่อวิกฤติโรคระบาดคลี่คลายลง ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ ประกอบกับเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาประเทศไทย ผลประกอบการของบริษัทก็ฟื้นตัวกลับมาได้
2. จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน และค่าบริการเฉลี่ยต่อคน ย้อนหลัง
ที่ผ่านมา หากเราไปดูที่จำนวนผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน และค่าบริการที่บริษัทได้รับเฉลี่ยต่อคน พบว่า มีการเติบโตขึ้นมาตลอด ในทั้ง 2 ธุรกิจ
- ธุรกิจออนเซ็นและสปา
ปี 2564 จำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 13,220 คน และค่าบริการเฉลี่ย 539 บาทต่อคน
ปี 2565 จำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 20,844 คน และค่าบริการเฉลี่ย 675 บาทต่อคน
ปี 2566 จำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 25,040 คน และค่าบริการเฉลี่ย 771 บาทต่อคน
และล่าสุดคือ 9 เดือนแรก ปี 2567 จำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 25,591 คน และค่าบริการเฉลี่ย 777 บาทต่อคน
- ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ปี 2564 จำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 4,463 คน และค่าบริการเฉลี่ย 295 บาทต่อคน
ปี 2565 จำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 6,614 คน และค่าบริการเฉลี่ย 327 บาทต่อคน
ปี 2566 จำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 7,513 คน และค่าบริการเฉลี่ย 354 บาทต่อคน
และล่าสุดคือ 9 เดือนแรก ปี 2567 จำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 7,497 คน และค่าบริการเฉลี่ย 399 บาทต่อคน
3. วงจรเงินสด
วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle จะใช้วิเคราะห์ว่า บริษัทมีสภาพคล่องในการหมุนเวียนของเงินสดดีหรือไม่
คำนวณหาโดย
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย + ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย - ระยะเวลาชำระคืนเจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย
ถ้าบริษัทมีวงจรเงินสดสั้นมาก ก็หมายความว่า มีสภาพคล่องที่ดีมาก เพราะทำธุรกิจแล้วได้เงินสดกลับเข้ามาบริษัทเร็ว
แต่ถ้าเกิดติดลบ นั่นก็หมายความว่า บริษัทมีสภาพคล่องดีแบบสุด ๆ เพราะได้รับเงินมาก่อนที่จะจ่ายคืนหนี้เสียอีก
เมื่อสังเกตที่วงจรเงินสดแล้ว ถือว่า ONSENS มีสภาพคล่องที่ดีแบบสุด ๆ เพราะ
ปี 2564 มีวงจรเงินสดเท่ากับ 0.64 วัน
ปี 2565 มีวงจรเงินสดเท่ากับ -4.04 วัน
ปี 2566 มีวงจรเงินสดเท่ากับ -5.36 วัน
โดยเหตุผลที่ทำให้ ONSENS มีวงจรเงินสดติดลบแบบนี้ ก็เพราะว่า รูปแบบการทำธุรกิจของบริษัท สามารถเก็บเงินสดจากลูกค้าที่มาใช้บริการได้ทันทีเลย
พอเป็นแบบนี้ บริษัทก็เลยสามารถเก็บเงินสดจากลูกค้าได้เร็วมาก เลยทำให้มีลูกหนี้การค้าอยู่น้อยมาก
และในขณะเดียวกัน หนี้สินประเภทเจ้าหนี้การค้าของบริษัท ก็มักจะเป็นหนี้ประเภท ซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าจากซัปพลายเออร์ ซึ่งได้รับเครดิตเทอม
ทั้งหมดนี้ก็เลยส่งผลให้ ONSENS มีวงจรเงินสดติดลบ
4. กระแสเงินสดอิสระ
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow ก็คือ เงินสดที่เหลืออยู่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำธุรกิจไปหมดแล้ว ไว้ใช้ช่วยเช็กว่า บริษัทเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดให้กับเจ้าของหรือไม่
โดยเงินสดที่เหลืออยู่นี้ บริษัทสามารถนำไปใช้จ่ายหนี้คืนให้เจ้าหนี้ รวมถึงจ่ายเงินปันผลหรือซื้อหุ้นคืน ให้กับผู้ถือหุ้นก็ได้
คำนวณหาโดย
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ปี 2564 มีกระแสเงินสดอิสระเท่ากับ -7 ล้านบาท
ปี 2565 มีกระแสเงินสดอิสระเท่ากับ 51 ล้านบาท
ปี 2566 มีกระแสเงินสดอิสระเท่ากับ 66 ล้านบาท
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ในปี 2564 เป็นช่วงที่เกิดวิกฤติโรคระบาด ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทในปีนั้นตกต่ำลง กระแสเงินสดอิสระในปี 2564 ของบริษัทจึงติดลบ
แต่พอตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ก็เริ่มฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ผลประกอบการของ ONSENS ก็เลยฟื้นตัวตาม และกระแสเงินสดอิสระของบริษัท ก็พลิกมาเป็นบวกได้
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราน่าจะเข้าใจกันดีขึ้นแล้วว่า ธุรกิจของ ONSENS มีอะไรน่าสนใจบ้าง และผลประกอบการของบริษัท ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ซึ่งอีกไม่นาน ONSENS เอง ก็น่าจะได้เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทยแล้ว
ก็เป็นที่น่าติดตามว่า ในวันที่ตลาดหุ้นไทย ดูจะซึมมาหลายปีติดต่อกันแบบนี้ ธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งในตลาดหุ้นยังไม่มีคนทำมาก่อน อย่าง ONSENS จะช่วยสร้างสีสันให้ตลาดหุ้นได้มากน้อยแค่ไหน..
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#ONSENS
Reference