เจาะลึก 6 สิ่งที่ควรดู ในงบการเงิน GMM Music ที่กำลังจะ IPO
5 พ.ย. 2024
เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีข่าวดังในตลาดหุ้นไทยออกมาว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) หรือ GMM Music ได้ยื่นไฟลิ่ง เพื่อเตรียมเข้าตลาดหุ้น
GMM Music เป็นบริษัทลูกของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ Grammy
โดย GMM Music ทำธุรกิจหลักในด้านเพลง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การคัดเลือกศิลปิน การผลิตผลงานเพลง รวมถึงการบริหารงานให้ศิลปินด้วย
แล้วจุดเด่นในงบการเงินของบริษัท มีตรงไหนที่เราควรสังเกตบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เราจะวิเคราะห์งบการเงินของ GMM Music ออกมาใน 6 ข้อ
1. การเติบโตของรายได้และกำไร
โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา GMM Music มีรายได้และกำไร เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง
ปี 2564 รายได้ 1,838 ล้านบาท กำไร 80 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 3,072 ล้านบาท กำไร 304 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 3,912 ล้านบาท กำไร 402 ล้านบาท
และล่าสุดคือ ครึ่งปีแรก 2567 GMM Music มีรายได้ 1,796 ล้านบาท กำไร 210 ล้านบาท
2. อัตรากำไรสุทธิ หรือ Net Profit Margin (NPM)
เป็นอัตราส่วนที่เอาไว้ใช้ดูว่า จากรายได้ทั้งหมดที่บริษัททำได้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว จะเหลือถึงมือเจ้าของ เป็นสัดส่วนเท่าไร
คำนวณหาโดย
(กำไรสุทธิ / รายได้รวม) x 100
ปี 2564 มี NPM เท่ากับ 4.36%
ปี 2565 มี NPM เท่ากับ 9.91%
ปี 2566 มี NPM เท่ากับ 10.29%
โดยที่ผ่านมา NPM ของ GMM Music เพิ่มขึ้นมาตลอด หมายความว่า บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น
3. อัตราส่วน IBD/E Ratio
ในการจะวิเคราะห์ว่า บริษัทมีหนี้สินประเภทเงินกู้ ซึ่งมีภาระดอกเบี้ย มากเกินไปหรือไม่ เราจะดูผ่าน “อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” หรือ IBD/E Ratio
คำนวณหาโดย
หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย / ส่วนของผู้ถือหุ้น
ปี 2564 มี IBD/E Ratio เท่ากับ 4.21 เท่า
ปี 2565 มี IBD/E Ratio เท่ากับ 2.14 เท่า
ปี 2566 มี IBD/E Ratio เท่ากับ 1.44 เท่า
และล่าสุด คือครึ่งปีแรก 2567 มี IBD/E Ratio เท่ากับ 0.86 เท่า
การที่บริษัทมี IBD/E Ratio ต่ำกว่า 1 เท่า หมายความว่า ในช่วงครึ่งปีมานี้ บริษัทยังไม่ได้มีภาระหนี้สินที่มากเกินไป
4. วงจรเงินสด
วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle ไว้ใช้วิเคราะห์ว่า บริษัทมีสภาพคล่องในการหมุนเวียนของเงินสดดีหรือไม่
คำนวณหาโดย
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย + ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย - ระยะเวลาชำระคืนเจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย
ถ้าบริษัทมีวงจรเงินสดสั้นมาก ก็หมายความว่า มีสภาพคล่องที่ดีมาก เพราะทำธุรกิจแล้วได้เงินสดกลับเข้ามาบริษัทเร็ว
แต่ถ้าเกิดติดลบ นั่นก็หมายความว่า บริษัทมีสภาพคล่องดีแบบสุด ๆ เพราะได้รับเงินมาก่อนที่จะจ่ายคืนหนี้เสียอีก
โดยบริษัท GMM Music เป็นบริษัทที่ถือว่า มีสภาพคล่องดีแบบสุด ๆ เพราะ
ปี 2564 มี Cash Cycle เท่ากับ -12 วัน
ปี 2565 มี Cash Cycle เท่ากับ -14 วัน
ปี 2566 มี Cash Cycle เท่ากับ -35 วัน
ที่บริษัทมี Cash Cycle ติดลบแบบนี้ ก็เนื่องมาจากโมเดลธุรกิจที่ในบางครั้ง เวลาจัดอิเวนต์ ก็จะได้รับเงินค่าขายตั๋วมาก่อนที่จะต้องจ่ายให้เจ้าหนี้
5. ROIC
ROIC หรือ Return on Invested Capital คือเครื่องมือที่ไว้ใช้วิเคราะห์ว่า บริษัทสามารถทำผลตอบแทนจากการลงทุนทำธุรกิจ กลับมาได้คุ้มค่าหรือไม่
ถ้าบริษัททำ ROIC ได้สูง หมายความว่า ลงทุนทำธุรกิจไปแล้ว ได้ผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่ามาก
แต่ถ้า ROIC ต่ำ ก็หมายความว่า ผลตอบแทนจากการทำธุรกิจ ได้กลับมาไม่คุ้มค่าเงินลงทุนเลย
คำนวณหาโดย
(กําไรจากการดําเนินงานหลังหักภาษี / เงินลงทุนในธุรกิจ) x 100
ปี 2564 มี ROIC เท่ากับ 56.18%
ปี 2565 มี ROIC เท่ากับ 127.45%
ปี 2566 มี ROIC เท่ากับ 57.17%
จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา GMM Music มี ROIC มากกว่า 15% มาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่า บริษัททำธุรกิจแล้ว ได้ผลตอบแทนกลับมา คุ้มค่าเงินลงทุนมาก
6. กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)
และสุดท้าย เราจะวิเคราะห์ GMM Music ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “กระแสเงินสดอิสระ”
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow ก็คือ เงินสดที่เหลืออยู่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำธุรกิจ ไปหมดแล้ว
โดยเงินสดที่เหลืออยู่นี้ บริษัทสามารถนำไปใช้จ่ายหนี้คืนให้เจ้าหนี้ รวมถึงจ่ายเงินปันผลหรือซื้อหุ้นคืน ให้กับผู้ถือหุ้นก็ได้
กระแสเงินสดอิสระ คำนวณหาโดย
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ปี 2564 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ -85 ล้านบาท
ปี 2565 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 281 ล้านบาท
ปี 2566 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ -210 ล้านบาท
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงพอจะเห็นจุดเด่นด้านผลประกอบการของ GMM Music ผ่านตัวเลขทางการเงิน กันชัดเจนขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องอย่าลืมวิเคราะห์ความสามารถในการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทในอนาคต ควบคู่ไปด้วย
เพราะในยุคนี้ ใคร ๆ ก็สามารถเป็นศิลปิน ผลิตผลงานเพลงเองได้ เพราะมีแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่างเช่น YouTube ที่เป็นแหล่งไว้ปล่อยผลงาน เทียบกับในอดีตที่ยังไม่มีสื่อออนไลน์แบบนี้
อีกทั้งพวกอุปกรณ์ที่ไว้ใช้ในการทำเพลง ราคาก็ถูกลงไปกว่าในอดีตมาก ทำให้คนทำเพลงสามารถผลิตผลงานดี ๆ ออกมาได้ โดยใช้เงินลงทุนแค่นิดเดียว
ก็เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า หลังจาก GMM Music เข้าตลาดหุ้นแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างไร
และวันนั้นมูลค่าของบริษัท จะถูกปลดล็อก จนมีค่ามากมายขนาดไหน..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#Grammy
Reference
- ไฟลิ่ง บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน)