เจาะลึก 6 สิ่งที่ควรดู ในงบการเงิน SkillLane ที่กำลังจะ IPO
18 ก.ย. 2024
เรื่องใหญ่ในตลาดหุ้นไทยวันนี้ ก็คือ SkillLane แพลตฟอร์มคอร์สเรียนออนไลน์ชื่อดัง เพิ่งยื่นไฟลิ่ง เตรียมเข้าตลาดหุ้น
ที่น่าสนใจก็คือ นี่จะเป็นแพลตฟอร์มคอร์สเรียนออนไลน์ของไทยเจ้าแรก ที่กำลังจะเข้าตลาดหุ้น
ซึ่งที่ผ่านมา ในตลาดหุ้นไทย ยังไม่เคยมีธุรกิจแพลตฟอร์มแบบนี้มาก่อน
แล้วเราจะวิเคราะห์งบการเงินของบริษัท ที่มีโมเดลธุรกิจแปลกใหม่แบบนี้ อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เราจะวิเคราะห์งบการเงินของ SkillLane ออกมาใน 6 ข้อ
1. การเติบโตของรายได้และกำไร
โดยที่ผ่านมา SkillLane มีรายได้และกำไร เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปี 2564 รายได้ 211 ล้านบาท กำไร 16 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 221 ล้านบาท กำไร 24 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 236 ล้านบาท กำไร 31 ล้านบาท
หากเราสังเกตให้ดี จะพบว่า กำไรของบริษัท เติบโตขึ้นมากกว่ารายได้ อย่างในปี 2564 - 2565 รายได้เติบโต 4% แต่กำไรกลับเติบโตถึง 47%
แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจของ SkillLane มีสิ่งที่เรียกว่า Operating Leverage สูง คือค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่
ทำให้เมื่อรายได้เติบโต ค่าใช้จ่ายจะเติบโตขึ้นไม่มาก ส่งผลให้กำไรเติบโตขึ้นสูงกว่ารายได้หลายเท่า
และล่าสุดคือ ครึ่งปีแรก 2567 SkillLane มีรายได้ 157 ล้านบาท กำไร 18 ล้านบาท
2. อัตรากำไรสุทธิ หรือ Net Profit Margin (NPM)
คือ อัตราส่วนที่เราจะไว้ใช้ดูว่า เมื่อนำรายได้มาหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว จะเหลือถึงมือเจ้าของบริษัท เป็นสัดส่วนเท่าไร
คำนวณหาโดย
(กำไรสุทธิ / รายได้รวม) x 100
ปี 2564 มี NPM เท่ากับ 7.74%
ปี 2565 มี NPM เท่ากับ 10.92%
ปี 2566 มี NPM เท่ากับ 12.98%
และล่าสุดคือ ครึ่งปีแรก 2567 มี NPM เท่ากับ 11.57% ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตรากำไรสุทธิของ SkillLane ดีขึ้นเรื่อย ๆ
3. อัตราส่วน D/E Ratio
ในการจะวิเคราะห์หนี้สินของบริษัท เราจะใช้ D/E Ratio ในการวิเคราะห์
โดย D/E Ratio หรือ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น คือสิ่งที่ไว้ใช้ดูว่า บริษัทมีหนี้สินเยอะแค่ไหน เมื่อเทียบกับเงินในส่วนของเจ้าของบริษัท
คำนวณหาโดย
หนี้สินสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น
ปี 2564 มี D/E Ratio เท่ากับ 2.64 เท่า
ปี 2565 มี D/E Ratio เท่ากับ 1.72 เท่า
ปี 2566 มี D/E Ratio เท่ากับ 0.93 เท่า
หากเราไปดูเจาะที่งบดุลของบริษัท เราจะพบว่า หนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัท ก็คือหนี้สินที่เกิดจากสัญญา
โดยหนี้สินที่เกิดจากสัญญาของ SkillLane คือ รายได้รับล่วงหน้าและรายได้รอการรับรู้ ซึ่งเป็นเงินที่ลูกค้าจะจ่ายเป็นก้อนใหญ่ให้กับ SkillLane ก่อน แล้วบริษัทจึงค่อยมาทยอยรับรู้เป็นรายได้ทีหลัง
หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ SkillLane เป็นธุรกิจที่เก็บค่าคอร์สมาก่อน แล้วหลังจากที่ลูกค้าได้เข้ามาเรียนบนแพลตฟอร์มของ SkillLane ค่อยทยอยรับรู้เป็นรายได้ นั่นเอง
4. วงจรเงินสด
วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle ไว้ใช้วิเคราะห์ว่า บริษัทมีสภาพคล่องในการหมุนเวียนของเงินสด ดีหรือไม่
คำนวณหาโดย
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย + ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย - ระยะเวลาชำระคืนเจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย
ถ้าบริษัทมีวงจรเงินสดสั้นมาก ก็หมายความว่า มีสภาพคล่องที่ดีมาก คือทำธุรกิจแล้วได้เงินสดกลับเข้ามาบริษัทเร็ว
และถ้าติดลบ นั่นก็หมายความว่าบริษัทจะได้รับเงินมาก่อนที่จะจ่ายคืนหนี้เสียอีก ซึ่ง SkillLane ก็เป็นธุรกิจแบบนั้น
ปี 2564 มี Cash Cycle เท่ากับ -71 วัน
ปี 2565 มี Cash Cycle เท่ากับ -53 วัน
ปี 2566 มี Cash Cycle เท่ากับ -38 วัน
การที่บริษัทมีวงจรเงินสดติดลบ ถึง -38 วัน หมายความว่า บริษัทได้รับเงินสดมาก่อน แล้วถึงค่อยจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้ในอีก 38 วันให้หลังนั่นเอง
5. ROCE และ ROE
เราจะวิเคราะห์ว่า ในการทำธุรกิจของ SkillLane นั้น สามารถทำผลตอบแทนกลับคืนมาได้คุ้มค่ามากแค่ไหน ผ่านอัตราส่วน 2 ตัวคือ ROCE และ ROE
เริ่มที่ ROCE ก่อน โดยคำนี้ย่อมาจาก Return on Capital Employed หรือแปลเป็นไทยว่า “ผลตอบแทนจากเงินทุนก่อนจ่ายดอกเบี้ยและภาษี”
ไว้ใช้วิเคราะห์ว่า เงินลงทุนระยะยาวของบริษัท สร้างผลตอบแทนจากการดำเนินงาน ได้มีประสิทธิภาพดีแค่ไหน
คำนวณหาโดย
[กำไรจากการดำเนินงาน / (ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินระยะยาว)] x 100
ปี 2564 มี ROCE เท่ากับ 41.04%
ปี 2565 มี ROCE เท่ากับ 38.34%
ปี 2566 มี ROCE เท่ากับ 35.4%
โดยที่ผ่านมา SkillLane มี ROCE ที่สูงกว่า 30% มาตลอด แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจนี้สร้างผลตอบแทนได้ในรูปของกำไรจากการดำเนินงาน ได้คุ้มค่ามาก
อัตราส่วนตัวถัดมา คือ ROE ซึ่งย่อมาจาก Return on Equity หรือแปลเป็นไทยว่า “ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น”
ไว้ใช้ดูว่า ธุรกิจนี้สามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาสู่เจ้าของบริษัท ได้ดีแค่ไหน
คำนวณหาโดย
(กำไรสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น) x 100
ปี 2564 มี ROE เท่ากับ 43.99%
ปี 2565 มี ROE เท่ากับ 38.94%
ปี 2566 มี ROE เท่ากับ 33.12%
โดย SkillLane มี ROE มากกว่า 15% มาโดยตลอด แสดงว่า ธุรกิจนี้ทำผลตอบแทนกลับคืนสู่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ได้ดีมาก
6. กระแสเงินสดอิสระ
และสุดท้าย เราจะวิเคราะห์ SkillLane ด้วย “กระแสเงินสดอิสระ”
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow คือเงินสดที่คงเหลืออยู่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำธุรกิจไปหมดแล้ว
เงินสดเหล่านี้ บริษัทสามารถนำไปจ่ายเงินปันผล จ่ายหนี้เงินกู้ หรือซื้อหุ้นคืนก็ได้
ถ้าบริษัทมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกสม่ำเสมอ แสดงว่า บริษัทบริหารสภาพคล่องการทำธุรกิจได้ดี และเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดให้กับผู้ถือหุ้น
คำนวณหาโดย
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ปี 2564 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 15 ล้านบาท
ปี 2565 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 41 ล้านบาท
ปี 2566 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ -12 ล้านบาท
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา SkillLane มีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกมาโดยตลอด ยกเว้นในปี 2566 สาเหตุก็เพราะว่า บริษัทมีการลงทุนในปีนี้มากกว่าปีก่อน ๆ
และบริษัทมีการรับรู้รายได้ จากหนี้สินที่เกิดจากสัญญา ประมาณ 24 ล้านบาท เลยทำให้เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทลดลง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงเข้าใจธุรกิจของ SkillLane ในมุมมองตัวเลขทางการเงิน กันดีขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่างบการเงินของบริษัทจะดูดีมาก แต่เราก็ต้องอย่าลืมวิเคราะห์บริษัทในด้านคุณภาพ เช่น ความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการเติบโต ควบคู่ไปด้วย
เพราะอุตสาหกรรมที่ SkillLane กำลังทำธุรกิจอยู่นั้น ก็มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ไม่น้อยเลย
ก็เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า ในอนาคตซึ่งอีกไม่นานต่อจากนี้ เมื่อวันที่ SkillLane ได้รับเงินจากการ IPO มาแล้ว จะช่วยผลักดันให้บริษัทเติบโตไปมากกว่านี้ อย่างไร..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
จากเอกสารไฟลิ่งที่ทาง SkillLane ส่งให้กับ กลต. หากเราไปสังเกตที่รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ปัจจุบัน เราจะพบว่า มีรายชื่อของนักธุรกิจดังอยู่ด้วย
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ คุณอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ หรือ คุณต๊อบ CEO บริษัทเถ้าแก่น้อย เจ้าของขนมสาหร่ายชื่อดัง นั่นเอง
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#SkillLane
References:
- งบการเงินปี 2564 - 2566 บริษัท สกิลเลน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
- หนังสือชี้ชวน บริษัท สกิลเลน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)