เจาะลึกธุรกิจ OnlyFans ผ่าน 7 ตัวเลขสำคัญ ในงบการเงิน

เจาะลึกธุรกิจ OnlyFans ผ่าน 7 ตัวเลขสำคัญ ในงบการเงิน

16 ก.ย. 2024
OnlyFans มีประชากรในแพลตฟอร์มมากกว่าประเทศไทยถึง 4 เท่า
โดยตอนนี้ มีประชากรถึง 300 ล้านคน พอ ๆ กับจำนวนประชากรของประเทศสหรัฐอเมริกา และยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย
ปัจจุบัน OnlyFans เป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม อยู่ภายใต้บริษัท Fenix International Limited และมีผู้ก่อตั้งชื่อว่าคุณ Tim Stokely ส่วนตอนนี้มี CEO คือคุณ Keily Blair
โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา OnlyFans เติบโตขึ้นมาแบบก้าวกระโดด ทั้งในด้านจำนวนผู้ใช้งาน และผลประกอบการ
หากสงสัยว่า ในด้านตัวเลขที่อยู่ในงบการเงินของบริษัทเจ้าของ OnlyFans มีความน่าสนใจอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
แม้ OnlyFans จะไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น แต่ก็มีการส่งงบการเงินให้กับทางการของสหราชอาณาจักรอยู่เป็นประจำ และค่อนข้างละเอียด
โดยเราจะวิเคราะห์บริษัทเจ้าของ OnlyFans ผ่านมุมมองของตัวเลข ออกมาเป็น 7 ข้อ
จำนวนครีเอเตอร์และแฟนคลับ เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
จำนวน บัญชีครีเอเตอร์ เพิ่มขึ้นมา 10 เท่า ภายใน 5 ปี
ปี 2019 จำนวน 348,000 บัญชีปี 2021 จำนวน 2,161,000 บัญชีปี 2023 จำนวน 4,118,000 บัญชี
ส่วนจำนวน บัญชีแฟนคลับ เพิ่มขึ้นมา 22 เท่า ภายใน 5 ปี
ปี 2019 จำนวน 13,478,000 บัญชีปี 2021 จำนวน 187,973,000 บัญชีปี 2023 จำนวน 305,066,000 บัญชี
รายได้และกำไร เติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากที่จำนวนบัญชีของผู้ใช้งาน จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดแล้ว ผลประกอบการของบริษัท ก็เติบโตดีเช่นกัน
โดยบริษัทมีรายได้และกำไร 3 ปีย้อนหลัง ดังนี้
ปี 2021 รายได้ 31,600 ล้านบาท กำไร 11,011 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 36,962 ล้านบาท กำไร 13,708 ล้านบาท
ปี 2023 รายได้ 44,370 ล้านบาท กำไร 16,485 ล้านบาท
มีอัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิ เติบโตขึ้น
อัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit Margin (GPM)
ไว้ใช้ดูว่า บริษัทมีความสามารถในการควบคุมต้นทุนในการทำธุรกิจได้ดีแค่ไหน
ถ้าอัตรากำไรขั้นต้นสูงมาก ก็อาจจะหมายความว่า บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนในการทำธุรกิจได้ดี
คำนวณหาโดย
[(รายได้จากการขาย - ต้นทุนการขาย) / รายได้] x 100
ปี 2021 มี GPM เท่ากับ 60.09%
ปี 2022 มี GPM เท่ากับ 62.15%
ปี 2023 มี GPM เท่ากับ 62.66%
เหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงถึง 60% ก็เพราะว่า OnlyFans เป็นธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งธรรมชาติของธุรกิจแบบนี้ มักจะมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูง
อัตรากำไรสุทธิ หรือ Net Profit Margin (NPM)
ไว้ใช้ดูว่า รายได้ที่เหลืออยู่หลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดไปแล้ว จะเหลือเป็นสัดส่วนถึงมือผู้ถือหุ้นเท่าไร
คำนวณหาโดย
(กำไรสุทธิ / รายได้รวม) x 100
ปี 2021 มี NPM เท่ากับ 34.85%
ปี 2022 มี NPM เท่ากับ 37.04%
ปี 2023 มี NPM เท่ากับ 37.15%
หนี้สินส่วนใหญ่ไม่มีดอกเบี้ย
ในการวิเคราะห์หนี้สินของบริษัท เราจะใช้อัตราส่วน 2 ตัว คือ D/E Ratio และ IBD/E Ratio
เริ่มกันที่ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ D/E Ratio กันก่อน
อัตราส่วนนี้ไว้ใช้ดูว่า บริษัทมีหนี้สินอยู่เยอะแค่ไหน เมื่อเทียบกับเงินในส่วนของผู้ถือหุ้น
คำนวณหาโดย
หนี้สินสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น
ปี 2021 มี D/E Ratio เท่ากับ 8.4 เท่า
ปี 2022 มี D/E Ratio เท่ากับ 4.77 เท่า
ปี 2023 มี D/E Ratio เท่ากับ 4.93 เท่า
การที่บริษัทมี D/E Ratio สูงขนาดนี้ เราก็อาจจะคิดว่า บริษัทดูจะมีหนี้สินที่มากเกินไปหรือเปล่า
แต่ถ้าหากไปดูประเภทหนี้สินของบริษัทจริง ๆ จะพบว่าหนี้สินแทบจะทั้งหมดเป็นเจ้าหนี้การค้า ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นเงินรอจ่ายให้กับครีเอเตอร์ของทางแพลตฟอร์ม ซึ่งก็ไม่มีการเสียดอกเบี้ย
ทำให้ IBD/E Ratio หรือ อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งไว้ใช้วิเคราะห์ว่า บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย เทียบกับเงินในส่วนของเจ้าของ เยอะแค่ไหน
อยู่ที่ประมาณ 0 เท่า หรือก็คือ บริษัทแทบไม่มีหนี้ประเภทเงินกู้ ที่บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยเลย
วงจรเงินสดติดลบ ถึง 400 วัน
วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle ไว้ใช้วิเคราะห์ว่า บริษัทมีสภาพคล่องในการหมุนเวียนของเงินสดที่ดีหรือไม่
ถ้าบริษัทมีวงจรเงินสดสั้นมาก ก็หมายความว่า มีสภาพคล่องที่ดีมาก คือทำธุรกิจแล้วได้เงินสดกลับเข้ามาบริษัทเร็ว
คำนวณหาโดย
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย + ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย - ระยะเวลาชำระคืนเจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย
ปี 2021 มี Cash Cycle เท่ากับ -391 วัน
ปี 2022 มี Cash Cycle เท่ากับ -426 วัน
ปี 2023 มี Cash Cycle เท่ากับ -416 วัน
การที่บริษัทมีวงจรเงินสดติดลบ ถึง -416 วัน หมายความว่า บริษัทได้รับเงินสดมาก่อนที่จะจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งก็คือครีเอเตอร์นานถึง 416 วัน หรือหนึ่งปีกว่า ๆ
แต่การมีวงจรเงินสดติดลบมาก ๆ นั้น ถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจแพลตฟอร์ม ด้วยการที่บริษัทไม่มีสินค้าคงเหลือ เพราะเป็นแค่แพลตฟอร์มจับคู่ครีเอเตอร์กับสมาชิก
บริษัทจึงมีแค่เก็บเงินจากลูกหนี้ ซึ่งก็คือผู้ให้บริการตัวกลางชำระเงิน ที่สมาชิกแพลตฟอร์มชำระเงินค่า Subscribe ครีเอเตอร์ต่าง ๆ มา
กับจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้การค้า ซึ่งก็คือการที่แพลตฟอร์มจ่ายเงินให้กับครีเอเตอร์ ที่มาถอนเงินออกจากแพลตฟอร์ม
โดยแพลตฟอร์มนั้น ใช้เวลาไม่นาน ในการได้รับเงินส่วนแบ่งค่า Subscribe จากสมาชิก แต่เหล่าครีเอเตอร์นั้น กว่าจะถอนเงินออกมาใช้ก็นาน ๆ ที ทำให้แพลตฟอร์มมีเงินสดหมุนเวียนอย่างรวดเร็วขนาดนี้นั่นเอง
ROCE และ ROE ที่สูงกว่า 300%
การวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนของบริษัท เราจะใช้ อัตราส่วน 2 ตัว คือ ROCE และ ROE
ROCE ย่อมาจาก Return on Capital Employed หรือแปลเป็นไทยว่า “ผลตอบแทนจากเงินทุนก่อนจ่ายดอกเบี้ยและภาษี”
ไว้ใช้ดูว่า เงินลงทุนระยะยาวของบริษัท สามารถสร้างผลตอบแทนจากการดำเนินงาน ได้ดีแค่ไหน
คำนวณหาโดย
[กำไรจากการดำเนินงาน / (ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินระยะยาว)] x 100
ปี 2021 มี ROCE เท่ากับ 799.43%
ปี 2022 มี ROCE เท่ากับ 428.87%
ปี 2023 มี ROCE เท่ากับ 472.34%
ROE ย่อมาจาก Return on Equity หรือแปลเป็นไทยว่า “ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น”
ไว้ใช้ดูว่า การลงทุนของบริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนคืนให้กับเจ้าของบริษัท คุ้มค่าแค่ไหน
คำนวณหาโดย
(กำไรสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น) x 100
ปี 2021 มี ROE เท่ากับ 560.16%
ปี 2022 มี ROE เท่ากับ 326.4%
ปี 2023 มี ROE เท่ากับ 353.93%
บริษัทเจ้าของ OnlyFans มี ROE และ ROCE ที่สูงมากกว่า 300% หมายความว่า การลงทุนทำธุรกิจประเภทนี้ สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับเจ้าของบริษัท ได้คุ้มค่ามาก
เป็นเครื่องจักรผลิตเงินสด
ในการวิเคราะห์ว่าบริษัทเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสด ที่ดีจริงหรือไม่ เราจะวิเคราะห์ด้วย “กระแสเงินสดอิสระ”
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow คือ เงินสดที่คงเหลืออยู่หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำธุรกิจไปหมดแล้ว
บริษัทสามารถนำเงินในส่วนนี้ไปจ่ายคืนหนี้ จ่ายเงินปันผล และซื้อหุ้นคืนได้
ยิ่งบริษัทสร้างกระแสเงินสดอิสระได้มาก หมายความว่า บริษัทนี้เป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดให้กับเจ้าของบริษัท นั่นเอง
คำนวณหาโดย
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ปี 2021 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 15,376 ล้านบาท
ปี 2022 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 16,385 ล้านบาท
ปี 2023 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 19,913 ล้านบาท
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงเห็นความโดดเด่นในงบการเงินของบริษัทเจ้าของธุรกิจอย่าง OnlyFans กันดีขึ้นแล้ว
ซึ่งผลประกอบการย้อนหลังที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า บริษัทนี้เติบโตได้แบบก้าวกระโดด โดยไม่ต้องกู้เงิน สร้างกระแสเงินสดได้ดี แถมจ่ายเงินปันผลให้เจ้าของบริษัทได้มากขึ้นทุกปีด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการวิเคราะห์ธุรกิจ เราก็ไม่ควรจะดูแค่งบการเงินแต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น
แต่เราควรจะวิเคราะห์บริษัทในเชิงคุณภาพ อย่างความสามารถในการรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจ ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ด้วย
เพราะธุรกิจอย่าง OnlyFans เอง ก็มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับทางด้านกฎหมายอยู่ไม่น้อย เพราะด้วยตัวเนื้อหาของคอนเทนต์จากหลากหลายครีเอเตอร์ ที่ค่อนข้างล่อแหลม
อีกทั้ง ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดแพลตฟอร์มหน้าใหม่ ที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ กันเข้ามาแข่งขันด้วย
ก็เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า OnlyFans ธุรกิจแพลตฟอร์มชื่อดังจากสหราชอาณาจักรนี้ ในอนาคตจะยังเติบโตร้อนแรงแบบนี้ได้หรือไม่
และจะยังสร้างกระแสเงินสดอันมหาศาล ให้กับเจ้าของบริษัท ไปได้อีกนานแค่ไหน..
ลงทุน
แกะงบการเงิน
OnlyFans
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.