สรุป 2 ตัวเลขสำคัญ ที่เราควรรู้ ก่อนลงทุน หุ้นโรงกลั่น

สรุป 2 ตัวเลขสำคัญ ที่เราควรรู้ ก่อนลงทุน หุ้นโรงกลั่น

6 ส.ค. 2024
รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยมีกำลังการกลั่นน้ำมันรวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทำให้ประเทศไทยมีกำลังการกลั่นน้ำมันสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนเลยทีเดียว เป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้น
โดยประเทศไทยมีโรงกลั่นเอกชนทั้งหมด 6 แห่ง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย มีมูลค่าบริษัทรวมกันมากกว่า 400,000 ล้านบาท
เมื่ออุตสาหกรรมโรงกลั่นของไทยมีมูลค่ามากขนาดนี้ ย่อมมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อย ที่สนใจลงทุนในหุ้นโรงกลั่น
แล้วรู้ไหมว่า ก่อนที่จะลงทุนในหุ้นโรงกลั่น มีข้อมูลสำคัญอะไร ที่เราต้องรู้ ก่อนตัดสินใจลงทุนบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจโครงสร้างของอุตสาหกรรม และวัตถุดิบของโรงกลั่นก่อน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงกลั่นนํ้ามันรายใหญ่จำนวน 6 แห่ง คือ 
- บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP
- บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP
- บมจ.บางจาก ศรีราชา หรือ BSRC
- บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC
- บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง หรือ SPRC
- บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC
วัตถุดิบหลักที่ใช้ในโรงกลั่นน้ำมันเหล่านี้ คือ น้ำมันดิบ
ซึ่งประเทศไทยเอง มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพียงน้อยนิดเท่านั้น โรงกลั่นน้ำมันจึงต้องซื้อน้ำมันดิบมาจากต่างประเทศ
เมื่อโรงกลั่นน้ำมัน กลั่นน้ำมันดิบออกมา ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ เช่น น้ำมันดีเซล, น้ำมันเบนซิน, ก๊าซแอลพีจี, น้ำมันเครื่องบิน, ยางมะตอย เป็นต้น
ความรู้เรื่อง น้ำมันดิบ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เอง จะทำให้เราเข้าใจ 2 ข้อมูลสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงกลั่น นั่นก็คือ
1. Gross Refinery Margins
Gross Refinery Margins หรือ ค่าการกลั่นรวม คือ มูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการกลั่นทั้งหมด หักลบด้วยต้นทุนของการกลั่นน้ำมัน 1 บาร์เรล
โดยค่าการกลั่นรวม เป็นตัวเลขที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรของโรงกลั่นน้ำมัน ยิ่งค่าการกลั่นสูง ก็แปลว่าโรงกลั่นน้ำมัน สามารถทำกำไรได้ดี
ทั้งนี้ ราคามูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่น มักจะขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ
ขณะที่ฝั่งต้นทุนวัตถุดิบอย่าง น้ำมันดิบ มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้ราคาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งภาวะเศรษฐกิจ การเกิดภัยพิบัติ การเพิ่มหรือลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC
นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกำลังการกลั่น เช่น การหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น ก็สามารถส่งผลกระทบต่อค่าการกลั่นรวมได้ด้วยเช่นกัน 
โดยค่าการกลั่นของโรงกลั่น สำหรับแต่ละบริษัทนั้นอาจแตกต่างกัน ตามสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้ และเทคโนโลยีที่ใช้ในโรงกลั่น
2. Stock Gain (Loss) 
ตัวเลขนี้แสดงถึงกำไรขาดทุนจากน้ำมันดิบคงคลัง 
รู้ไหมว่า ประเทศไทยมีข้อกำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันต้องสำรองน้ำมันดิบ 6% ของปริมาณการจำหน่าย
ดังนั้น ถ้าโรงกลั่นซื้อน้ำมันดิบมาก่อนที่ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวขึ้น ก็จะมีกำไรจากน้ำมันดิบสำรองเกิดขึ้น
ในทางกลับกัน หากโรงกลั่นซื้อน้ำมันดิบมาก่อนที่ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลง ก็จะต้องรับรู้ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
ซึ่งการรับรู้ผลกำไรขาดทุน ที่เกิดจากการสำรองน้ำมันดิบในทางบัญชี คือ ส่วนต่างระหว่างต้นทุนน้ำมันดิบที่ซื้อมา และราคาน้ำมันดิบในปัจจุบัน
โดยการเปลี่ยนแปลงของผลกำไรขาดทุน จากน้ำมันดิบคงคลัง สามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่องบการเงินของบริษัทที่ทำธุรกิจโรงกลั่นอย่างมากเลยทีเดียว
และนี่ก็คือ 2 ตัวเลขสำคัญที่เราต้องรู้ ก่อนลงทุนในหุ้นโรงกลั่น 
ซึ่งนอกจากข้อมูล 2 ตัวเลขนี้แล้ว นักลงทุนควรศึกษาภาวะอุตสาหกรรม และความเสี่ยงให้รอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุนให้ดี
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ บมจ.ปตท. (PTT) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของบริษัทโรงกลั่น 3 แห่ง ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย คือ
- บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC ถือหุ้นในสัดส่วน 45%
- บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ถือหุ้นในสัดส่วน 45%
- บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ถือหุ้นในสัดส่วน 45%
ดังนั้นถ้าเราซื้อหุ้น PTT ก็หมายความว่าเราเป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันทางอ้อมตั้ง 3 แห่งเลยทีเดียว..
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#หุ้นโรงกลั่น 
References
- แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2566, บมจ.ไทยออยล์
- เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.