สรุปตัวเลข ที่ต้องรู้ ก่อนลงทุน หุ้นโรงแรม

สรุปตัวเลข ที่ต้องรู้ ก่อนลงทุน หุ้นโรงแรม

6 พ.ค. 2024
การลงทุนจริง ๆ แล้ว ก็เหมือนกับการทำธุรกิจ ดังนั้นหากเราอยากเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ เราก็ควรมีความเข้าใจในธุรกิจอย่างลึกซึ้ง
โดยแต่ละธุรกิจที่มาจากอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันนั้น ก็มีหลักการในการวิเคราะห์แตกต่างกัน
อย่างกลุ่มธุรกิจโรงแรมเอง ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีหลักการในการวิเคราะห์ธุรกิจ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
หากเราเคยได้อ่านรายงานประจำปีของหุ้นกลุ่มนี้ เราคงเคยได้เห็นตัวย่อ “OCC, ADR และ RevPAR” ผ่านตากันมาบ้าง
แล้วตัวย่อเหล่านี้ คืออะไร 
สามารถใช้วิเคราะห์หุ้นกลุ่มโรงแรมได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
ตัวเลขอัตราส่วนสำคัญที่เราใช้วิเคราะห์กลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่เราควรทำความเข้าใจ คือ
1. อัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate หรือ OCC)
เป็นอัตราส่วนชี้วัดหลักของธุรกิจโรงแรม ที่ช่วยให้เรารู้ว่า ห้องที่โรงแรมมีคนเข้ามาพักมากน้อยแค่ไหน
OCC คำนวณจาก 
จำนวนห้องพักที่ขายได้ / จำนวนห้องพักทั้งหมด
(มีหน่วยแสดงเป็น %)
เช่น โรงแรมมีห้องพักทั้งหมด 100 ห้อง มีคนเข้าพัก 70 ห้อง เท่ากับว่า โรงแรมมี OCC ที่ 70% 
ถ้าตัวเลข OCC มากขึ้น ก็แปลว่า มีคนเข้าพักมาก ในทางตรงกันข้าม ถ้าตัวเลขน้อย ก็อาจจะสะท้อนว่า โรงแรมอาจจะทำเลไม่ดี หรือราคาห้องอาจจะสูงเกินไป 
ลองมาดูตัวอย่าง OCC ของหุ้นในกลุ่มโรงแรมกันบ้าง จากผลประกอบการปี 2565-2566
- MINT มี OCC เพิ่มขึ้นจาก 59% เป็น 66%
- CENTEL มี OCC เพิ่มขึ้นจาก 52% เป็น 71% 
จะเห็นว่าทั้ง 2 บริษัท มีตัวเลข OCC ที่เพิ่มขึ้น แปลว่าโรงแรมของทั้ง 2 บริษัทในปี 2566 มีคนเข้าพักมากขึ้น จากปีที่แล้วนั่นเอง 
แต่จุดที่ต้องระวังคือ ถ้าโรงแรมลดราคาเยอะ ๆ ก็จะทำให้ OCC เพิ่มสูงขึ้นได้ง่าย 
ทำให้การดูเพียง OCC อย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอ เราต้องดูตัวเลขส่วนอื่น ๆ ประกอบกันด้วย
2. ราคาห้องพักเฉลี่ย (Average Daily Rate หรือ ADR)
เป็นอัตราส่วนที่เอาราคาขายเฉลี่ย ของแต่ละห้องพักที่ขายได้มาเฉลี่ยกัน ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่า โรงแรมสามารถขายห้องพักได้ในราคาเฉลี่ยเท่าไร
ADR คำนวณได้จาก 
รายได้ห้องพักที่ขายได้ / จำนวนห้องที่ขายได้
(มีหน่วยเป็น บาท/คืน)
เช่น 
โรงแรมมีห้องพักทั้งหมด 100 ห้อง มีคนเข้าพัก 70 ห้อง 
มีรายได้ทั้งหมด 140,000 บาท 
เท่ากับว่า โรงแรมมี ADR เท่ากับ 2,000 บาท/คืน
ถ้าตัวเลขยิ่งสูง ก็แปลว่า โรงแรมสามารถขายห้องพักได้ในราคาสูง  
ลองมาดูตัวอย่าง ADR ของ MINT และ CENTEL จากผลประกอบการปี 2565-2566 กัน
- MINT มี ADR เพิ่มขึ้นจาก 4,984 บาท/คืน เป็น 5,489 บาท/คืน
- CENTEL มี ADR เพิ่มขึ้นจาก 4,791 บาท/คืน เป็น 5,113 บาท/คืน
ทั้ง 2 บริษัท มีตัวเลข ADR ที่เพิ่มขึ้น นั่นแปลว่าโรงแรมของทั้ง 2 บริษัทในปี 2566 สามารถปรับเพิ่มราคาห้องพักได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ในทางตรงกันข้าม หากตัวเลข ADR ต่ำลง อาจจะเป็นการสะท้อนว่า โรงแรมกำลังลดราคาเพื่อกระตุ้นให้คนเข้าพักมากขึ้นก็ได้
ดังนั้น ADR จึงมักจะถูกใช้ควบคู่ไปกับ OCC เพื่อเช็กว่า โรงแรมไม่ได้ลดราคามากเกินไปในการจูงใจให้คนมาพักมากขึ้น  
ถ้าเป็นอย่างนั้น ตัวเลขที่ออกมาจะกลายเป็น บริษัทมีตัวเลข ADR ต่ำ แต่ OCC สูง นั่นเอง
เพราะถึงแม้ห้องจะเต็ม แต่ถ้าได้กำไรน้อย หรือขาดทุน ก็จะกระทบต่ออัตรากำไร ซึ่งไม่เป็นผลดีกับธุรกิจอยู่ดี
3. รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (Revenue Per Available Room หรือ RevPAR)
สำหรับอัตราส่วนตัวสุดท้ายซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะใช้วัดประสิทธิภาพทางการเงินของโรงแรม
โดยส่วนใหญ่แล้ว หากดูแค่ RevPAR อย่างเดียวก็พอจะบอกได้แล้วว่า โรงแรมมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น หรือแย่ลงกันแน่
โดย RevPAR คือ รายได้ห้องพักเฉลี่ย ต่อห้องพักที่เปิดให้บริการทั้งหมด ในแต่ละช่วงเวลา
RevPAR คำนวณได้จาก
อัตราการเข้าพัก x ราคาห้องพักเฉลี่ย
หรือก็คือเอา OCC และ ADR ที่ได้มาจาก 2 ข้อก่อนหน้านี้ มาคูณกันนั่นเอง
จากตัวอย่างเดิม
โรงแรมมีห้องพักทั้งหมด 100 ห้อง มีคนเข้าพัก 70 ห้อง มีรายได้ทั้งหมด 140,000 บาท 
ดังนั้น โรงแรมจะได้ OCC เท่ากับ 70% และ ADR เท่ากับ 2,000 บาท/คืน
นั่นทำให้ RevPAR จะเท่ากับ 1,400 บาท/คืน
หมายความว่า โรงแรมมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก เท่ากับ 1,400 บาท ซึ่งเป็นรายได้เฉลี่ยของจำนวนห้องพักที่มีทั้งหมด นับรวมทั้งห้องที่มีคนเข้าพัก และห้องที่ไม่มีคนเข้าพัก
จากการคำนวณจะเห็นว่า RevPAR เป็นเหมือนการสรุปตัวเลขทั้ง OCC และ ADR ให้มาอยู่ในตัวเลขเดียวกัน 
ดังนั้นหาก RevPAR เพิ่มขึ้น
ก็หมายถึง OCC เพิ่มขึ้น หรือ ADR เพิ่มขึ้น
หรือทั้ง OCC และ ADR เพิ่มขึ้นก็ได้
สำหรับ RevPAR ของ MINT และ CENTEL จากผลประกอบการปี 2565-2566 พบว่า
- MINT มี RevPAR เพิ่มขึ้นจาก 2,965 บาท/คืน เป็น 3,610 บาท/คืน
- CENTEL มี RevPAR เพิ่มขึ้นจาก 2,486 บาท/คืน เป็น 3,651 บาท/คืน
จะเห็นว่าทั้ง 2 บริษัท มีตัวเลข RevPAR เพิ่มขึ้น นั่นก็แปลว่า มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักเพิ่มขึ้น
ซึ่งก็มาจากทั้งอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น และราคาห้องพักเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
นอกจากการดูตัวเลขอัตราส่วนทั้ง 3 ตัวแล้ว ในการวิเคราะห์หุ้นโรงแรม ก็ยังมีอย่างอื่นที่เราต้องวิเคราะห์เพิ่มเติม ก่อนที่จะลงทุนด้วย
เช่น การศึกษาโมเดลธุรกิจของบริษัทให้เข้าใจ, รู้ว่าสัดส่วนโครงสร้างรายได้ของบริษัทเป็นอย่างไร, ฤดูกาลท่องเที่ยวของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร รวมถึงตรวจสอบปัจจัยอื่น ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพิ่มเติมด้วย..
References
-YouTube : ลงทุนศาสตร์ EP 290 : การวิเคราะห์ RevPAR กับหุ้นโรงแรม
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี 2566 ของบริษัท MINT และ CENTEL
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.