สรุป 5 เทคนิค ค้นหาหุ้นดี ราคาถูก ฉบับ John Neff นักลงทุนหุ้น P/E ต่ำ ผู้สวนกระแส

สรุป 5 เทคนิค ค้นหาหุ้นดี ราคาถูก ฉบับ John Neff นักลงทุนหุ้น P/E ต่ำ ผู้สวนกระแส

26 ธ.ค. 2024
การมองหาหุ้นคุณภาพดี ราคาถูก ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่พอเอาเข้าจริง หลายคนกลับไม่สามารถทำได้ 
เพราะตลาดหุ้นก็ไม่ต่างอะไรกับตลาดซื้อขายสินค้าทั่วไปที่มีทั้งของดีและของไม่ดีวางปะปนกันอยู่
ทำให้คนที่จะได้สินค้าคุณภาพดี ราคาถูก ไม่ใช่แค่ต้องซื้อก่อนคนส่วนใหญ่ แต่ต้องมีสายตาเฉียบคมพอที่จะมองเห็นสินค้าที่มีคุณภาพดีจริง ๆ
และหากพูดถึงนักลงทุนที่มีสายตาเฉียบคมในการมองหาหุ้นคุณภาพดี ราคาถูก คุณ John Neff คือหนึ่งในนั้น เขามักจะมองเห็นโอกาสที่คนอื่นมองข้ามเสมอ 
และหากอยากรู้ว่าคุณ John Neff มีเทคนิคในการค้นหา หุ้นดี ราคาถูก อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุนให้เข้าใจง่าย ๆ
สำหรับคนที่ไม่รู้จักคุณ John Neff เขาคือ ผู้จัดการกองทุนรวม Windsor Fund ของ Vanguard ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
ด้วยสายตาที่เฉียบคม เขาทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงถึง 13.7% ต่อปี ตลอดระยะเวลา 31 ปีที่บริหารกองทุน Windsor Fund
โดยการค้นหาหุ้นดี ราคาถูกของคุณ John Neff เริ่มต้นจาก
1. ติดตามหุ้นที่ราคาปรับตัวลงมาทำจุดต่ำสุดใหม่
เริ่มจากการติดตามหุ้นที่ราคาลงมาทำจุดต่ำสุดใหม่ 
เช่น ราคาต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ และยังลงต่อเนื่องอีก 2-3 วัน รวมถึงราคาลดลง 8 ถึง 30% หรืออาจจะมากกว่านี้
คุณ John Neff มองว่าการที่ราคาหุ้นลงแรง อาจมาจาก
หลายสาเหตุ บางครั้งเป็นเพียงข่าวร้ายชั่วคราว บางครั้งก็มาจากความกังวลของนักลงทุน หรือแค่ตลาดคาดหวังสูงเกินไป 
เมื่อเห็นว่าราคาลงมามาก ๆ เขาจะเข้าไปวิเคราะห์ต่อ เพราะมองว่าอาจเป็นโอกาสที่จะได้ซื้อหุ้นของบริษัทดี ๆ ในราคาที่ถูกกว่าที่ควรจะเป็น
ยกตัวอย่างเช่น ตอนล็อกดาวน์ช่วงโรคระบาด ที่หุ้นค้าปลีกไอทีแห่งหนึ่งของไทย ราคาร่วงลงมาอย่างหนัก เพราะต้องปิดสาขาพร้อมกันหลายแห่ง
แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จากการเปลี่ยนมาขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และกระแสการทำงานที่บ้าน ทำให้ความต้องการสินค้าไอทีมีมากขึ้น
2. มองหาบริษัทดีในยามวิกฤติ
ในโลกของการลงทุน แม้แต่บริษัทที่แข็งแกร่งก็อาจ เผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม
ช่วงเวลาแบบนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ซื้อหุ้นราคาถูก เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะแห่กันเทขายหุ้นออกมาด้วยความกลัว จนทำให้ราคาหุ้นตกลงไปอย่างมาก
ยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย ก็เช่น ​​หุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงวิกฤติโรคระบาดที่ราคาลงมาทำจุดต่ำสุดในรอบหลายปี แต่ธนาคารหลายแห่งก็ยังมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง
3. หาบริษัทที่มักถูกเข้าใจผิด
ในตลาดหุ้น บริษัทจะถูกจัดกลุ่มตามประเภทอุตสาหกรรม ที่บริษัททำธุรกิจอยู่ แต่ก็มีบริษัทบางแห่งมีธุรกิจอยู่ในหลายอุตสาหกรรมและมีโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทย่อยที่ซับซ้อน
ทำให้บริษัทอาจถูกเหมารวมให้อยู่ในกลุ่มธุรกิจหนึ่ง ทั้งที่รายได้หลักมาจากอีกธุรกิจหนึ่ง
การมองภาพรวมแบบนี้ทำให้หลายครั้งเมื่ออุตสาหกรรมนั้นไม่ดี นักลงทุนมักจะเทขายหุ้นออกมาทั้งกลุ่ม โดยไม่ได้แยกแยะว่าบริษัทไหนมีรายได้หลักมาจากธุรกิจอื่นบ้าง
ซึ่งความเข้าใจผิดแบบนี้เอง มักจะทำให้ราคาหุ้นถูกเกินกว่าที่ควรจะเป็น
ยกตัวอย่างในตลาดหุ้นไทย ก็มีบริษัทที่หลายคนมองว่า
เป็นธุรกิจค้าปลีก แต่จริง ๆ แล้วตลาดหลักทรัพย์จัดอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง เพราะมีรายได้หลักมาจากการปล่อยเช่าพื้นที่
หรือบริษัทที่ดูเหมือนทำแค่โรงแรม แต่มีรายได้จากธุรกิจอาหารอย่างมีนัยสำคัญด้วย
4. มองหาธุรกิจจากสิ่งรอบตัว
คุณ John Neff แนะนำว่าให้มองหาบริษัทที่อยู่รอบ ๆ ตัว
จากทั้งสินค้าที่วางขายในศูนย์การค้า สินค้าที่พบเจอในชีวิตประจำวัน รวมถึงลองพูดคุยสอบถามพ่อค้าแม่ค้า
วิธีนี้จะช่วยให้เรารู้ว่า สินค้าหรือบริการอะไรกำลังเป็นที่นิยม
ยกตัวอย่างในตลาดหุ้นไทย อย่างกรณีร้านสะดวกซื้อ ที่เราสามารถสังเกตได้ว่ากำลังมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ไปที่ไหนก็เจอ
และหลังจากที่เรามองหาหุ้นตามเกณฑ์เหล่านี้แล้ว เทคนิคสุดท้ายให้เรานำบริษัทที่เราสนใจ มาลองตั้งคำถาม โดยการฝึกคิดให้เป็นลำดับขั้น..
5. ฝึกคิดให้เป็นลำดับขั้น
ตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจ พื้นฐานธุรกิจ อุตสาหกรรม และทิศทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อบริษัท เช่น
- อะไรที่ทำให้บริษัทมีชื่อเสียง ?
- ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตหรือไม่ ?
- บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหรือไม่ ?
- แนวโน้มการเติบโตของบริษัทเป็นอย่างไร ?
- ผู้บริหารมีภาวะผู้นำในเชิงกลยุทธ์หรือไม่ ?
การตั้งคำถามเหล่านี้ ไม่เพียงช่วยให้เราวิเคราะห์หุ้น
ได้รอบด้าน แต่ยังช่วยให้เราเจาะลึกถึงแก่นของธุรกิจ จนมองเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ในบริษัทที่หลายคนอาจมองข้าม
เพราะหุ้นราคาถูกใช่ว่าจะดีเสมอไป แต่ถ้าเราตั้งคำถามอย่างถูกต้อง และได้คำตอบที่น่าพึงพอใจ 
นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า เราอาจจะเจอบริษัทที่ทั้งดีและถูก พร้อมเป็นโอกาสการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวก็เป็นได้..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#JohnNeff
Reference
- หนังสือ John Neff on Investing : ลงทุนแบบ จอห์น เนฟฟ์ (2018) โดย John Neff
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.