สรุป 3 ตัวเลข ใช้วิเคราะห์ ธุรกิจธนาคาร ที่นักลงทุนต้องรู้
1 ต.ค. 2024
ธุรกิจธนาคาร เป็นธุรกิจที่มีความเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร เพราะอย่างเช่นกำไรสุทธินั้น
ก็สามารถขึ้นหรือลงได้ จากการตั้งสำรองหนี้สิน ไม่ใช่จากประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว
ทำให้การจะลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารทั้งที เราต้องรู้ว่า ตัวเลขทางการเงินตัวไหน ที่เอาไว้ใช้วิเคราะห์การลงทุนหุ้นธนาคารด้วย
แล้วตัวเลขทางการเงินสำคัญของกลุ่มธนาคาร ที่ควรรู้มีอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ตัวเลขทางการเงินที่สำคัญของกลุ่มธนาคาร ที่ควรทำความเข้าใจ คือ
1. ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin หรือ NIM)
เป็นตัวเลขชี้วัดความสามารถในการหารายได้ ซึ่งถือเป็นแกนหลักที่แท้จริงของธุรกิจธนาคาร
เพราะรายได้ของธนาคารวัดจาก ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
NIM คำนวณจาก
(รายได้ดอกเบี้ยรวม - ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย) / สินทรัพย์ทั้งหมดที่ก่อให้เกิดดอกเบี้ยเฉลี่ย
โดยธนาคารที่มี NIM สูง ๆ มักจะมีการปล่อยสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น สินเชื่อรถยนต์ ส่วนธนาคารที่มี NIM ต่ำ มักจะเน้นสินเชื่อธุรกิจ
ลองมาดูตัวอย่าง NIM ของหุ้นในกลุ่มธนาคารกันบ้าง
จากข้อมูลผลประกอบการล่าสุด ไตรมาส 2 ปี 2567
- BBL มี NIM เท่ากับ 3.0%
- KBANK มี NIM เท่ากับ 3.7%
- KKP มี NIM เท่ากับ 4.0%
จากข้อมูลทั้ง 3 บริษัท จะเห็นว่า KKP มี NIM สูงที่สุด อยู่ที่ 4.0% ซึ่งแปลได้ง่าย ๆ ว่า ธุรกรรมการเงินก่อให้เกิดรายได้ 100 บาท ธนาคารจะได้กำไร 4 บาท
สาเหตุที่ NIM ของ KKP สูงที่สุด นั่นก็เพราะว่าโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อหลักมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูง
ส่วน BBL มี NIM ต่ำที่สุด เพราะโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อหลักมาจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่
แต่แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายย่อยอาจจะได้ NIM สูงกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงที่สูงกว่าเช่นกัน เราจึงควรดูตัวเลขส่วนอื่น ๆ ประกอบกันด้วย
นอกจากนี้ การดูแนวโน้มของ NIM ในหลาย ๆ ไตรมาสก็มีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนว่า ธนาคารสามารถรักษาหรือเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้หรือไม่
ที่สำคัญ ควรพิจารณา NIM ควบคู่กับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย เพราะจะมีผลโดยตรงต่อต้นทุนและรายได้ดอกเบี้ยของธนาคาร
ธนาคารที่สามารถรักษาหรือเพิ่ม NIM ได้ อาจสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินศักยภาพระยะยาว
และเพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ควรดูตัวเลขรายได้ค่าธรรมเนียม (Non-NII) และอัตราการเติบโตของสินเชื่อ (Loan Growth) ร่วมด้วย
2. อัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio)
เป็นอัตราส่วนสำหรับสะท้อนคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร
โดย NPL ย่อมาจาก Non-Performing Loan คือ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นหนี้เสียที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เกินกำหนดเป็นระยะเวลามากกว่า 90 วัน
NPL Ratio คำนวณจาก
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ / สินเชื่อรวม
ซึ่ง NPL Ratio จะช่วยให้เรารู้ว่าสินเชื่อทั้งหมดที่ธนาคารปล่อยไป มีหนี้เสียอยู่เท่าไร ยิ่งตัวเลขนี้ต่ำยิ่งดี แสดงว่า ลูกหนี้ของธนาคารมีการผิดนัดชำระหนี้น้อย
ลองมาดูตัวอย่าง NPL Ratio ของหุ้นในกลุ่มธนาคารกันบ้าง จากข้อมูลผลประกอบการล่าสุด ไตรมาส 2 ปี 2567
- BBL มี NPL Ratio เท่ากับ 3.2%
- KBANK มี NPL Ratio เท่ากับ 3.2%
- KKP มี NPL Ratio เท่ากับ 4.1%
จากข้อมูลทั้ง 3 บริษัท จะเห็นว่า BBL และ KBANK มี NPL Ratio อยู่ที่ 3.2% ซึ่งแปลว่า จากสินเชื่อทั้งหมด 100 บาท มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 3.20 บาท
สาเหตุที่ NPL Ratio ของแต่ละธนาคารแตกต่างกันนั้นมาจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน
KKP มี NPL Ratio สูงที่สุด เนื่องจากเน้นการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก ซึ่งมักมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่า BBL ที่เน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และ KBANK ที่มีทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และ SME
นอกจากนี้ควรดูแนวโน้ม NPL Ratio ในหลาย ๆ ไตรมาส ควบคู่กับการดูอัตราการเติบโตของสินเชื่อและ NIM ร่วมด้วย
เพราะหากธนาคารมีการเติบโตของสินเชื่อสูงและ NIM ดี แต่ NPL Ratio เพิ่มขึ้นมาก อาจสะท้อนว่าธนาคารกำลังรับความเสี่ยงที่มากเกินไป ในการสร้างผลตอบแทนระยะสั้น
และเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ควรดูควบคู่กับอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) และอัตราการตั้งสำรองหนี้สูญ (Credit Cost)
รวมถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า
3. อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CET1 Ratio)
เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร
CET1 Ratio คำนวณจาก
เงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ / สินทรัพย์เสี่ยง
โดย CET1 Ratio หรือ เงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ ประกอบด้วยหุ้นสามัญ ส่วนเกินมูลค่าหุ้น และกำไรสะสม
ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงที่ธนาคารมีอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นเงินให้สินเชื่อที่ปล่อยกู้ไป
ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับ CET1 Ratio ไว้ที่ 8%
เราลองมาดูตัวอย่าง CET1 Ratio ของหุ้นในกลุ่มธนาคาร จากข้อมูลผลประกอบการล่าสุด ไตรมาส 2 ปี 2567 กันดีกว่า
- BBL มี CET1 Ratio เท่ากับ 15.32%
- KBANK มี CET1 Ratio เท่ากับ 16.50%
- KKP มี CET1 Ratio เท่ากับ 13.61%
จากข้อมูลจะเห็นว่า ทั้ง 3 บริษัท มี CET1 Ratio สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 8% อย่างมากทั้งสิ้น
แสดงถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร และความสามารถในการรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจของธนาคารในไทย
สรุปแล้ว ตัวเลขเหล่านี้อย่าง NIM, NPL Ratio และ CET1 Ratio ถือเป็นตัวเลขที่เราควรจะให้ความสนใจ นอกเหนือจากการดูเพียงตัวเลขกำไรสุทธิ เพื่อให้เห็นภาพรวมที่แท้จริงของธุรกิจธนาคาร
เพราะตัวชี้วัดเหล่านี้ ช่วยให้เราเข้าใจทั้งความสามารถในการทำกำไร คุณภาพของสินทรัพย์ และความมั่นคงทางการเงินของธนาคาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินศักยภาพและความเสี่ยงในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ที่ดีไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่ตัวเลขเหล่านี้ แต่ควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น แนวโน้มของอุตสาหกรรม นโยบายการเงิน และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
เพราะการมองภาพรวมและวิเคราะห์อย่างรอบด้าน จะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#หุ้นนี้ดูอะไร
References
-คำอธิบายและการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน ประจำไตรมาส 2/2567 ของบริษัท BBL KBANK และ KKP