ขนมปัง Farmhouse ตำนานหุ้น 44 เด้ง ที่สร้างกระแสเงินสด ปีละ 1,000 ล้านบาท

ขนมปัง Farmhouse ตำนานหุ้น 44 เด้ง ที่สร้างกระแสเงินสด ปีละ 1,000 ล้านบาท

10 ก.พ. 2025
หากให้เราลองนึกถึงสินค้าบางชนิด และนึกถึงแบรนด์ของสินค้าที่มาคู่กัน สินค้าที่เรามักจะนึกถึง ก็คงจะเป็น
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ต้อง “มาม่า”
- ขนมสาหร่าย ก็ต้อง “เถ้าแก่น้อย”
- ขนมปลาเส้น ก็ต้อง “ทาโร”
และถ้าหากเป็นแบรนด์ขนมปัง เชื่อว่าหลายคนคงจะต้องนึกถึง “ฟาร์มเฮ้าส์” เป็นอันดับแรก ๆ แน่นอน
ฟาร์มเฮ้าส์ เป็นแบรนด์ขนมปังเก่าแก่ ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานกว่า 43 ปี โดยเป็นแบรนด์สินค้าภายใต้บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PB
โดยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา หุ้นของ PB เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนรวมปันผลแล้ว สูงถึง 4,300% หรือ 44 เด้ง และทุกวันนี้ก็ยังเป็นบริษัทที่สามารถสร้างกระแสเงินสด ได้ปีละเป็นพันล้านบาท
แถมหากเราลองไปเจาะลึกที่งบการเงินของบริษัท จะพบว่า PB กำลังมีเงินสดและทรัพย์สินเทียบเท่าเงินสด ซ่อนอยู่ถึง 8,500 ล้านบาทอีกด้วย..
และหากเราสงสัยว่า เรื่องราวความเป็นมาของฟาร์มเฮ้าส์เป็นอย่างไร และเหตุปัจจัยอะไร ที่ทำให้ PB มีเงินสดซ่อนอยู่มากมายขนาดนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2525 สิ่งที่เรียกว่า “ขนมปัง” ยังถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับคนไทย เพราะคนไทยยังไม่คุ้นเคย และคิดว่าขนมปังไม่น่าจะเป็นอาหาร แต่ดูจะเป็นขนมเสียมากกว่า
ทำให้ผลิตภัณฑ์เบเกอรีที่มีคุณภาพในยุคนั้น และความต้องการบริโภคขนมปังในประเทศ ก็ยังมีอยู่น้อยมาก ผู้ประกอบการธุรกิจเบเกอรี ก็ยังจำกัดอยู่เพียงแค่เจ้าเล็ก ๆ ที่เป็นธุรกิจครอบครัวเท่านั้น
แต่ในทางกลับกัน ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งบริษัทเครือสหพัฒน์ กลับมองเห็นโอกาสว่า แม้ขนมปังจะถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ก็จริง
แต่วิถีชีวิตของคนไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว คือการเริ่มเปลี่ยนจากสังคมชนบท มาเป็นสังคมเมืองมากขึ้น
เมื่อวิถีชีวิตของผู้คนเริ่มพัฒนา ก็ย่อมต้องการลองสิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์ความทันสมัยเป็นธรรมดา
ขนมปังซึ่งในตอนนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ทันสมัย ในอนาคตผู้คนน่าจะต้องเริ่มเปิดใจหันมาบริโภคขนมปังกันมากขึ้นเป็นแน่ และนั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของ “ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์”
โดยก่อนที่จะมีฟาร์มเฮ้าส์นั้น เครือสหพัฒน์ได้ทำธุรกิจอาหาร ประสบความสำเร็จสูงมาก มาก่อนแล้ว คือแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า
และสาเหตุหลักที่ทำให้ทางเครือสหพัฒน์สามารถเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ได้อย่างรวดเร็ว ก็เพราะว่า ขนมปังและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีวัตถุดิบหลักเหมือนกันคือ ข้าวสาลี 
อีกทั้งในตอนนั้น รัฐบาลไทยเองก็ได้มีนโยบายให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรรมในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศลง
พอมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจอาหาร และวัตถุดิบทางด้านนี้ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บวกกับปัจจัยภายนอกเอื้ออำนวย ก็เลยทำให้ทางเครือสหพัฒน์ โดดเข้ามาทำธุรกิจเบเกอรี เกิดเป็นแบรนด์ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ขึ้นนั่นเอง
ในช่วงเวลา 43 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์ถือว่าประสบความสำเร็จสูงมาก ไม่น้อยหน้าแบรนด์มาม่าที่เกิดขึ้นมาก่อนเลย
เพราะถึงแม้จะไม่ใช่แบรนด์ขนมปังเจ้าแรกของไทย และตอนช่วงเริ่มต้น ก็ไม่ใช่แบรนด์อันดับ 1 ของประเทศ
แต่จากการทำธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์ เอาใจใส่ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มีการปรับปรุงคุณภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น และมีการทำการตลาดเพื่อสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์อย่างต่อเนื่อง
วันนี้ นอกจากที่แบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์ จะเป็นแบรนด์ขนมปังที่อยู่มาได้ยาวนานกว่าเจ้าอื่น ๆ แล้ว ก็ยังเป็นแบรนด์ขนมปังอันดับ 1 ของประเทศ และมีส่วนแบ่งทางธุรกิจมากที่สุด ติดต่อกันมาหลายปีด้วย
ทีนี้ ลองมาดูผลประกอบการของบริษัท PB เจ้าของแบรนด์ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ ย้อนหลังกันบ้าง
ปี 2564 รายได้ 7,254 ล้านบาท กำไร 1,688 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 7,627 ล้านบาท กำไร 1,707 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 7,703 ล้านบาท กำไร 1,708 ล้านบาท
และล่าสุดคือ 9 เดือน ปี 2567 รายได้ 5,751 ล้านบาท กำไร 1,204 ล้านบาท
และหากเราไปดูที่ งบการเงินของบริษัทล่าสุด คือ 9 เดือนของปี 2567 จะพบว่า PB ไม่มีหนี้สินเลย แต่กลับมีเงินสดและทรัพย์สินเทียบเท่าเงินสด เช่น เงินลงทุนระยะสั้น และระยะยาว ซ่อนอยู่รวมกันแล้วเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 8,500 ล้านบาท
หากให้ลองวิเคราะห์ดู สาเหตุหลักที่ทำให้ PB มีเงินสดซ่อนอยู่มากขนาดนี้ ก็สามารถวิเคราะห์ออกมาได้เป็น 2 ข้อ
- บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระ ได้หลัก 1,000 ล้านบาท ในทุก ๆ ปี
กระแสเงินสดอิสระ คือกระแสเงินสดที่คงเหลืออยู่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนไปหมดแล้ว โดยเงินสดที่คงเหลืออยู่นี้ บริษัทสามารถนำไปจ่ายเงินปันผล หรือซื้อหุ้นคืนก็ได้
โดยถ้าหากดูในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทาง PB สามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระได้
ปี 2564 กระแสเงินสดอิสระ 1,726 ล้านบาท
ปี 2565 กระแสเงินสดอิสระ 1,753 ล้านบาท
ปี 2566 กระแสเงินสดอิสระ 1,329 ล้านบาท
- บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลที่ 50% ของกำไร 
ซึ่งบริษัทจ่ายเงินปันผลในอัตรานี้ ติดต่อกันมาหลายปี กำไรที่เหลือจึงได้ถูกนำมาสะสมเป็นเงินสด เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ
และจากการที่บริษัทมีเงินสดและทรัพย์สินเทียบเท่าเงินสด ซ่อนอยู่เยอะขนาดนี้ ก็ส่งผลให้เกิดอีก 2 อย่าง นั่นก็คือ 
1. ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง
ผลตอบแทนต่อเงินลงทุน หรือ Return on Invested Capital เรียกย่อ ๆ ว่า ROIC คือสิ่งที่จะช่วยบอกเราว่า บริษัทลงทุนทำธุรกิจไปแล้ว ได้ผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่า มากแค่ไหน
ยิ่งทำ ROIC ได้สูงมาก ก็หมายความว่า บริษัททำผลตอบแทนจากการลงทุนทำธุรกิจ กลับมาได้มาก
แต่ถ้าบริษัททำ ROIC ได้น้อย ก็หมายความว่า บริษัททำผลตอบแทนจากการทำธุรกิจ กลับมาได้ไม่คุ้มค่าเงินที่ลงทุนไป
คำนวณหาโดย
(กําไรจากการดําเนินงานหลังหักภาษี / เงินลงทุนในธุรกิจ) x 100
ปี 2564 มี ROIC เท่ากับ 43.92%
ปี 2565 มี ROIC เท่ากับ 46.15%
ปี 2566 มี ROIC เท่ากับ 43.53%
การที่ PB ทำ ROIC ได้สูงมาก ก็เพราะตัวเงินลงทุนในธุรกิจ หรือ Invested Capital มีส่วนประกอบมาจาก
ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสดและทรัพย์สินเทียบเท่าเงินสด
พอ PB ไม่มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย และมีเงินสดและทรัพย์สินเทียบเท่าเงินสดอยู่เยอะ ก็เลยส่งผลให้ Invested Capital ของบริษัทเหลือน้อย
ทำให้เมื่อคำนวณออกมา ROIC ของบริษัท จึงสูงมากนั่นเอง
2. ทำให้มูลค่าของกิจการต่ำกว่ามูลค่าตลาด
Enterprise Value หรือมูลค่าของกิจการ สามารถคำนวณหาได้โดย
มูลค่าบริษัท + หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
จากข้อมูลล่าสุด คือ ณ วันที่ 24 ม.ค. 2567 PB มี
- มูลค่าบริษัทปัจจุบัน 26,100 ล้านบาท
- หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 0 บาท
- เงินสดและสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสด 8,500 ล้านบาท
ทำให้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว PB จะมี Enterprise Value เท่ากับ 26,100 + 0 - 8,500 = 17,600 ล้านบาท
โดยตรงนี้เอง เราคงจะเห็นแล้วว่า แม้ PB จะมีมูลค่าบริษัทตามราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในปัจจุบัน หรือ Market Cap อยู่ที่ 26,100 ล้านบาท
แต่หากไปดูที่ Enterprise Value จะพบว่า มูลค่าของกิจการ กลับอยู่ที่เพียง 17,600 ล้านบาท เท่านั้น
นอกจากนี้เอง พอเรารู้ Enterprise Value แล้ว เราก็ยังสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ความถูกแพงของบริษัท ก่อนที่เราจะลงทุนได้ด้วย 
โดยใช้ Enterprise Value to Free Cash Flow Ratio หรือเรียกย่อ ๆ ว่า EV/FCF
หาก EV/FCF สูง หมายความว่า มูลค่าบริษัทสูงมาก เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดที่บริษัทสร้างได้ ถือว่าบริษัทมีราคาแพงเกินไป
แต่หาก EV/FCF ต่ำ ก็หมายความว่า บริษัทนี้น่าสนใจในการลงทุน เพราะมูลค่าบริษัทไม่แพงมาก
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ เราก็จะหาค่า EV/FCF ออกมาได้
โดยการนำ Enterprise Value หารด้วย Free Cash Flow จะได้ 17,600 / 1,329 = 13.24 เท่า
โดย 13.24 เท่า หมายความว่า จากกระแสเงินสดอิสระที่ PB ทำได้ในปี 2566 ถ้าสมมติ PB ทำได้เท่านี้ตลอดไป หากเราลงทุนหุ้น PB เราก็จะใช้เวลาแค่ประมาณ 13 ปีเท่านั้น ในการคืนทุน
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราน่าจะเข้าใจกันดีขึ้นบ้างแล้วว่า PB เจ้าของแบรนด์ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ มีจุดเริ่มต้น และผลประกอบการที่ผ่านมา มีความโดดเด่นอย่างไร
สรุปก็คือ แบรนด์ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ เกิดขึ้นมาจากการที่ ดร.เทียม โชควัฒนา ได้เล็งเห็นโอกาสถึงการเติบโตของเทรนด์การบริโภคในยุคนั้น ที่มีการเปลี่ยนจากสังคมชนบทมาเป็นสังคมเมือง
แม้จะไม่ได้เริ่มต้นเป็นเจ้าแรก แต่จากการทำธุรกิจอย่างเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด บวกกับการเน้นทำธุรกิจเพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
จนวันนี้ แบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์ ก็กลายมาเป็นแบรนด์ขนมปังอันดับ 1 ของไทย ที่มีส่วนแบ่งทางธุรกิจมากที่สุด
พร้อมทั้งสร้างกระแสเงินสดมากกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท กลับเข้ามา จนมีกองทัพเงินสดถึง 8,500 ล้านบาท ซ่อนอยู่ในกิจการ ได้แบบนี้..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#หุ้น10เด้ง
References
-รายงานประจำปี 2566 บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน)
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.