สรุปธุรกิจ Microsoft ยักษ์ใหญ่ 100 ล้านล้านบาท ที่โตไม่หยุด ด้วยกลยุทธ์ Land & Expand
10 ม.ค. 2025
รู้ไหมว่า Microsoft เคยเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก มาตั้งแต่ปี 1999 แล้ว โดยมูลค่าบริษัทตอนนั้นอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท
แม้ตอนนี้ Microsoft จะหล่นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดอันดับ 3 ของโลก แต่ทว่ามูลค่าบริษัทกลับเพิ่มขึ้นเป็น 107 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมาเกือบ 10 เท่า ภายในระยะเวลา 20 กว่าปี
และถ้าหากเราอยากเติบโตไปพร้อมกับยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ก็สามารถลงทุนผ่าน DRx ในตลาดหุ้นไทยที่ชื่อว่า MSFT80X ได้เช่นกัน
แต่ก่อนที่ Microsoft จะกลายมาเป็นบริษัทที่หลายคนขาดไม่ได้ พร้อมทำให้บริษัทที่ใหญ่เหมือนช้างเมื่อ 20 ปีก่อน เติบโตต่อเนื่องจนกลายเป็นบริษัทระดับไดโนเสาร์ ในตอนนี้
ก็เป็นผลมาจากการที่ Microsoft ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า Land & Expand ได้อย่างเชี่ยวชาญสุด ๆ
แล้วกลยุทธ์ Land & Expand ช่วยให้ Microsoft กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่โตไม่หยุด ได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุนให้เข้าใจง่าย ๆ
Microsoft เป็นบริษัทเจ้าของระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows และโปรแกรม Microsoft Office ที่คนทั่วโลกใช้งานกันอยู่
ภายในระบบนิเวศทางธุรกิจของ Microsoft ยังมีโปรแกรมอื่น ๆ ด้วย เช่น
- เว็บไซต์ให้บริการ E-mail อย่าง Outlook
- เว็บไซต์ค้นหาข้อมูล อย่าง Bing
- การให้บริการเก็บข้อมูลผ่าน Cloud อย่าง Microsoft Azure
- แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ สำหรับคนทำงาน อย่าง LinkedIn
- โปรแกรมประชุมออนไลน์ อย่าง Skype และ Microsoft Teams
- เครื่องเล่นเกม อย่าง Xbox
โปรแกรมมากมายที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ จริง ๆ แล้ว Microsoft ไม่ได้มีสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น แต่ค่อย ๆ สร้าง หรือซื้อเข้ามาเพิ่มเติม
ด้วยกลยุทธ์ “Land & Expand” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมในหมู่บริษัท Software as a Service (SaaS)
โดยกลยุทธ์นี้จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ
1. Landing Phase คือการปิดการขายให้ได้ในครั้งแรก ในขั้นตอนนี้บริษัทจะให้ลูกค้าลองซื้อแค่โปรแกรมเดียวด้วยเงินก้อนเล็ก ๆ ดูก่อน
ขั้นตอนนี้เปรียบเสมือนการดึงลูกค้า ให้เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศทางธุรกิจของเราให้ได้มากที่สุดก่อน
เมื่อลูกค้าได้รับความพึงพอใจกับโปรแกรมแรกของบริษัทแล้ว จะทำให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจในตัวบริษัทด้วย ซึ่งจะนำมาสู่ขั้นตอนที่ 2
2. Expanding Phase คือการทำให้ลูกค้ารายเดิม เพิ่มการใช้จ่ายบนโปรแกรมของเรา อาจจะเป็นการเพิ่มฟีเชอร์บนโปรแกรมตัวเดิม หรือแนะนำโปรแกรมใหม่ ๆ ของเราที่ช่วยแก้ปัญหาอื่นให้ลูกค้าไปเลย
เช่นเดียวกัน Microsoft เองก็เริ่มต้นมาจากการขายระบบปฏิบัติการ Windows ในช่วง Landing Phase
และเมื่อระบบปฏิบัติการ Windows ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมา Microsoft ก็เริ่มพัฒนาโปรแกรมสำหรับสำนักงานที่ใช้งานได้ลื่นไหล บนระบบปฏิบัติการ Windows
ได้แก่ Microsoft Word, Microsoft Excel และ Microsoft PowerPoint ที่เราคุ้นเคย ก่อนจะรวมเข้าด้วยกันกลายเป็น Microsoft Office
ซึ่งการที่มีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำให้ Microsoft Word และ Microsoft Excel คว่ำเจ้าตลาดเก่าของโปรแกรมสำนักงาน อย่าง WordPerfect และ Lotus 1-2-3 ได้ในที่สุด
ซึ่งในขั้นตอนนี้เอง เป็นช่วงที่ Microsoft เข้าสู่ Expanding Phase แล้ว
เพราะนอกจากจะสร้างรายได้จากการขายระบบปฏิบัติการ Windows ให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ ยังทำให้ลูกค้ารายเดิมต้องจ่ายเงินค่าใช้โปรแกรม Microsoft Office เพิ่มอีกด้วย สำหรับทำงานบนคอมพิวเตอร์ได้อย่างราบรื่น
และ Expanding Phase ก็ไม่ได้จำกัดแค่ การที่ Microsoft ต้องพัฒนาโปรแกรมมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยตัวเองเท่านั้น
เพราะบริษัทแห่งนี้ยังขยันซื้อกิจการ เพื่อมองหาโปรแกรมใหม่ ๆ มาเสริมความต้องการของลูกค้าเพิ่มเติม
- ปี 2011 ซื้อ Skype บริการสื่อสารผ่านวิดีโอคอล มูลค่า 256,000 ล้านบาท
- ปี 2016 ซื้อ LinkedIn แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ในแวดวงธุรกิจ มูลค่า 789,000 ล้านบาท
- ปี 2018 ซื้อ GitHub บริการจัดเก็บข้อมูลเขียน Code มูลค่า 226,000 ล้านบาท
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ สำหรับ Microsoft ที่จูงใจลูกค้าให้จ่ายเงินเพิ่มบนโปรแกรมตัวเดิมคือ การออก Microsoft 365
Microsoft 365 คือการรวบรวมโปรแกรม Microsoft Office รวมไปถึงบริการคลังเก็บข้อมูลบน Cloud เข้ามาไว้ด้วยกัน
ผู้ใช้งานสามารถเก็บข้อมูล ขณะทำงานบนโปรแกรม Microsoft Office ไว้ใน Cloud ได้ รวมถึงรับการอัปเดตโปรแกรมให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดได้ฟรี
โดย Microsoft จะเก็บค่าสมัครสมาชิกการใช้งานเป็นรายเดือน หรือรายปี
ซึ่งจะแตกต่างจากการซื้อโปรแกรม Microsoft Office แบบเมื่อก่อน ที่เป็นการซื้อขาดเพียงครั้งเดียว และถ้าต้องการอัปเดตเป็นเวอร์ชันใหม่ ก็ต้องซื้อใหม่อีกครั้งหนึ่ง
แน่นอนว่าการสมัครใช้งาน Microsoft 365 จะทำให้ลูกค้าต้องจ่ายเงินมากกว่าการซื้อขาดเพียงครั้งเดียว แต่ก็แลกมาด้วยฟีเชอร์ใหม่ อย่างการเก็บข้อมูลบน Cloud และการอัปเดตโปรแกรมเวอร์ชันใหม่แบบไม่คิดเงินเพิ่ม
ปัจจุบัน Microsoft 365 จึงเป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญให้กับ Microsoft
จะเห็นได้ว่า Microsoft เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้กลยุทธ์ Land & Expand มาก ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนรายได้ในปัจจุบันของบริษัท ที่ไม่ได้พึ่งพาแหล่งรายได้จากโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งเป็นพิเศษ
เราลองมาดูสัดส่วนรายได้ทั้งปีของ Microsoft ในปี 2024 กัน (ปิดรอบบัญชี ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2024)
40% มาจากธุรกิจ Cloud
22% มาจากโปรแกรม Microsoft Office
9% มาจากระบบปฏิบัติการ Windows
9% มาจากธุรกิจเกม เช่น Xbox
7% มาจากแพลตฟอร์ม LinkedIn
13% มาจากธุรกิจอื่น ๆ
มีคำพูดเปรียบเปรยในแวดวงการลงทุนว่า “หุ้นบริษัทใหญ่ เปรียบเสมือนช้างที่โตช้า ลงทุนหุ้นเล็ก ๆ ถึงจะเสี่ยง แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่า”
แต่เรื่องนี้น่าจะให้ข้อคิดกับนักลงทุนได้เป็นอย่างดีว่า ไม่เสมอไปที่การลงทุนในบริษัทใหญ่ ๆ จะสร้างผลตอบแทนให้เราได้น้อย
เพราะถ้าเราเข้าใจกลยุทธ์ธุรกิจ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทแล้ว
เราก็จะสามารถประเมินได้ว่าบริษัทไหนที่ใหญ่เป็นช้างแล้ว แต่ยังสามารถใหญ่ขึ้นได้อีก จนกลายเป็นไดโนเสาร์ได้
แบบที่ Microsoft กำลังทำได้ อยู่ในทุกวันนี้..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#DRx
#DRวันละตัว
References