ธุรกิจเหล่านี้ ปรับตัวอย่างไร ถึงอยู่รอดมาได้ นานกว่า 100 ปี

ธุรกิจเหล่านี้ ปรับตัวอย่างไร ถึงอยู่รอดมาได้ นานกว่า 100 ปี

17 ก.ย. 2024
“สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดได้เป็นแสน เป็นล้านปี ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่ง ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารเสมอไป
หากแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยต่างหาก”
นี่คือคำกล่าวของคุณชาร์ล ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์ ผู้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่
ในวงการธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ธุรกิจที่อยู่รอดได้เป็นร้อย ๆ ปี อาจไม่ใช่ธุรกิจที่สามารถรีดกำไรจากลูกค้าได้เยอะที่สุด
แต่เป็นธุรกิจที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
วันนี้ MONEY LAB จะมายกตัวอย่างเคสธุรกิจทั้งในไทย และต่างประเทศ ที่สามารถอยู่รอดได้เป็นร้อย เป็นพันปี
ว่าธุรกิจเหล่านี้สามารถยืนอยู่บนสังเวียนธุรกิจ เป็นร้อย เป็นพันปี ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
- Hoshi Ryokan ธุรกิจโรงแรม 1,300 ปี ของญี่ปุ่น
ตามตำนานเล่าขานกันว่า จุดเริ่มต้นของโรงแรมแห่งนี้มาจากความฝันของพระสงฆ์ที่ชื่อว่า ไทโจ ไดชิ ที่ฝันเห็นเทพเจ้าของญี่ปุ่น มาบอกว่ามีน้ำพุร้อนศักดิ์สิทธิ์อยู่ใต้พื้นดิน
เมื่อชาวบ้านช่วยกันขุดลงไปก็พบน้ำพุร้อนจริง ๆ และเมื่อคนป่วยลงไปแช่ น้ำพุร้อนนี้ก็สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ไทโจ ไดชิ จึงสั่งให้ลูกศิษย์ อย่างคุณกาเรียว โฮชิ สร้างโรงแรมสำหรับคนที่เดินทางมารักษาโรคที่น้ำพุร้อนแห่งนี้
นี่จึงเป็นที่มาของธุรกิจโรงแรม Hoshi Ryokan ที่มีการสืบทอดกิจการต่อ ๆ กันมา 46 รุ่นแล้ว
คุณโฮชิ เซ็งโกโร ทายาทรุ่นที่ 46 เคยพูดถึงเคล็ดลับในการอยู่รอดของธุรกิจจนมีอายุ 1,300 ปี ว่าเราต้อง “เรียนรู้จากน้ำ”
การที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้ ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา
ดั่งสายน้ำที่ลื่นไหลไปตามแรงโน้มถ่วง อย่างไม่ฝ่าฝืน และหาเส้นทางไหลที่มีประสิทธิภาพที่สุด เมื่อโดนกีดขวาง
แต่อุปสรรคกีดขวางที่ไม่ยอมให้ Hoshi Ryokan ก้าวไปข้างหน้าได้ ไม่ใช่คู่แข่งภายนอกที่น่ากลัว แต่เป็นธรรมเนียมการสืบทอดกิจการที่เคร่งครัด
โดยทั่วไปของธุรกิจครอบครัวชาวเอเชีย มักจะต้องส่งต่อธุรกิจให้กับลูกชายคนโต หรือทายาทที่เป็นผู้ชาย
แต่คุณโฮชิ เซ็งโกโร ขาดทายาทผู้ชาย ที่จะมารับช่วงต่อ เมื่อต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด 
คุณโฮชิ จึงต้องยอมละทิ้งประเพณีที่สืบทอดกันมามากกว่า 1,300 ปี ด้วยการส่งต่อธุรกิจให้คุณฮิซาเอะ ผู้เป็นลูกสาว เข้ามารับช่วงต่อแทน
เรื่องราวของโรงแรม Hoshi Ryokan แสดงให้เห็นว่า บางครั้งก็ต้องยอมเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่ล้าสมัย แม้วัฒนธรรมนั้นจะฝังรากลึกมาเป็นพัน ๆ ปี เพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปให้ได้
- B.GRIMM ธุรกิจอายุ 146 ปี ที่ไม่หยุดตัวเองอยู่แค่ร้านขายยา
บริษัท B.GRIMM อาจจะไม่คุ้นหูคนไทยหลายคน แต่บริษัทแห่งนี้ทำธุรกิจในไทยมา 146 ปีแล้ว และเจ้าของบริษัท ก็ไม่ใช่คนไทย
จุดเริ่มต้นของบริษัทนี้ เกิดจากเภสัชกรชาวเยอรมัน คือ คุณแบร์นฮาร์ด กริม และหุ้นส่วนชาวออสเตรีย คือ คุณแอร์วิน มุลเลอร์ ที่เข้ามาเปิดร้านขายยา ในซอยโรงแรมโอเรียนเต็ล บนถนนเจริญกรุง ในปี 1878
ร้านขายยาของทั้ง 2 คน เป็นร้านขายยาตำรับตะวันตกแห่งแรกในไทย ด้วยชื่อเสียง และฝีมือในการปรุงยาของทั้ง 2 คน ทำให้รัชกาลที่ 5 แต่งตั้งให้ร้านยาแห่งนี้ เป็นร้านยาหลวงเลยทีเดียว
ทว่าทั้ง 2 ก็ไม่หยุดความสำเร็จไว้ที่ร้านขายยาเท่านั้น แต่ยังร่วมมือกับตระกูลสนิทวงศ์ ราชนิกุลชั้นสูง ขุดคลองรังสิต ซึ่งเป็นโครงการชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนั้น
ต่อมาทั้ง 2 คน ก็รับเภสัชกรชาวเยอรมันอีกคน คือคุณอดอล์ฟ ลิงค์ เข้ามาช่วยงาน ซึ่งคุณอดอล์ฟ ลิงค์ ก็คือต้นตระกูลของคุณฮาราลด์ ลิงค์ เจ้าของบริษัท B.GRIMM คนปัจจุบันนั่นเอง
คุณอดอล์ฟ ลิงค์ มีส่วนช่วยอย่างมากในการขยายธุรกิจออกไปนอกเหนือจากธุรกิจร้านขายยา เช่น การนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากยุโรป เข้ามาขายในไทย
และปัจจุบัน B.GRIMM ภายใต้การบริหารงานของคุณฮาราลด์ ลิงค์ ก็กลายมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 3,000 เมกะวัตต์
จากเรื่องราวนี้เอง ดูเหมือนว่า การไม่หยุดคิดทำอะไรใหม่ ๆ จะเป็น DNA การทำธุรกิจของ B.GRIMM
โดยมูลค่าตลาดร้านขายยาในไทย มีมูลค่าเพียง 40,000 ล้านบาทเท่านั้น และมียอดขายจากร้านขายยารายย่อยมากถึง 70% ขณะที่เชนร้านขายยารายใหญ่มียอดขายเพียง 30% เท่านั้น
แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัด ในการขยายธุรกิจร้านขายยาให้มีขนาดใหญ่
เพราะฉะนั้นถ้า B.GRIMM หยุดความสำเร็จของตัวเองไว้แค่ที่ร้านขายยา วันนี้ B.GRIMM ก็คงไม่ใช่บริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 60,000 ล้านบาท เหมือนในวันนี้
จะเห็นได้ว่า ทั้งจากกรณีของ Hoshi Ryokan และบริษัท B.GRIMM เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่า ธุรกิจที่จะอยู่มาได้อย่างยาวนานนั้น จะต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากอยากจะอยู่รอดให้ได้อย่างยาวนาน  
อย่างเช่น โรงแรม Hoshi Ryokan ที่ถ้าหากไม่ยอมละทิ้งประเพณีโบราณกว่า 1,300 ปีของตัวเอง ธุรกิจที่ดำเนินการสืบเนื่องมาอย่างยาวนานก็คงไม่มีความหมาย เพราะไร้ผู้สืบทอด   
หรือบริษัทอย่าง B.GRIMM ที่ปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเอง และมองหาโอกาสการเติบโตเสมอ ไม่หยุดอยู่กับที่ จนสร้างมูลค่าจากร้านขายยาเล็ก ๆ ให้กลายเป็นบริษัท 60,000 ล้านบาท
เพราะฉะนั้นแล้ว ผู้ชนะที่แท้จริงในสังเวียนธุรกิจ ไม่ใช่ธุรกิจที่รีดกำไรจากลูกค้าได้มากที่สุด หรือเติบโตเร็วที่สุด 
แต่กลับเป็นบริษัทที่เติบโตได้อย่างมั่นคง และปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างถูกเวลา ก่อนจะถึงวันที่สถานการณ์ภายนอกเข้ามาบังคับให้ต้องเปลี่ยนตัวเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ธุรกิจ
#หุ้นไทย
#ธุรกิจ100ปี
References
-หนังสือ Business Family บทเรียนจาก 30 ครอบครัวธุรกิจ ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจครอบครัวระดับโลก เขียนโดย กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.