สรุปสาเหตุ ทำไมผ่านไป 7 ปี SCC มูลค่าหาย 400,000 ล้านบาท
23 ส.ค. 2024
#ลงทุน #หุ้นไทย #SCC
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC คือหนึ่งในตำนานหุ้น 100 เด้งของตลาดหุ้นไทย และเป็นหุ้นขวัญใจนักลงทุนมาอย่างยาวนาน
บริษัทแห่งนี้ เคยมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 660,000 ล้านบาท ในปี 2560 แต่มาวันนี้ กลับเหลือเพียง 240,000 ล้านบาทเท่านั้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ มูลค่าบริษัทหายไปมากกว่าครึ่ง ในระยะเวลาเพียง 7 ปี
แล้วมูลค่าที่หายไปกว่า 400,000 ล้านบาทเกิดจากอะไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
SCC เป็นบริษัทเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานมากกว่า 100 ปี ด้วยก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ในปี 2456 และเป็นหนึ่งในหุ้น 8 ตัวแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2518
SCC เริ่มต้นจากการทำธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ จากนั้น
จึงเริ่มขยายเข้ามาสู่ธุรกิจกระดาษ หรือแพ็กเกจจิง
และธุรกิจปิโตรเคมี
ซึ่งในปัจจุบันทั้ง 3 ธุรกิจนี้ ถือเป็นเสาหลักรายได้
สำคัญของบริษัท
ในช่วงปี 2560 นับเป็นยุครุ่งเรืองของ SCC ราคาหุ้น
แตะจุดสูงสุดที่ 552 บาท ส่งผลให้มูลค่าบริษัทสูงถึง 660,000 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อย้อนดูผลประกอบการในช่วงนั้น จะเห็นได้ว่า
รายได้ ปี 2560 450,921 ล้านบาท
กำไร ปี 2560 55,041 ล้านบาท
โครงสร้างสัดส่วนรายได้และกำไร มาจาก
- ธุรกิจเคมิคอล
มีสัดส่วนรายได้ 46% คิดเป็น 76% ของกำไรทั้งหมด
- ธุรกิจซีเมนต์และก่อสร้าง
มีสัดส่วนรายได้ 36% คิดเป็น 13% ของกำไรทั้งหมด
- ธุรกิจแพ็กเกจจิง
มีสัดส่วนรายได้ 18% คิดเป็น 8% ของกำไรทั้งหมด
จะเห็นว่าในปี 2560 ธุรกิจเคมิคอลถือเป็นกำไรหลัก
ของ SCC เพราะสามารถทำกำไรได้ถึง 76% ของกำไรทั้งหมด
ด้วยความที่กำไรหลักของ SCC มาจากธุรกิจเคมิคอล นั่นก็หมายความว่า ความผันผวนของวัฏจักรปิโตรเคมี
ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงกับกำไรของ SCC อย่างมากเช่นกัน
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในช่วงปี 2560 และปี 2566 จะเห็นภาพชัดเจนว่า
ปี 2560
รายได้ 450,921 ล้านบาท กำไร 55,041 ล้านบาท
กำไรธุรกิจเคมิคอล 42,007 ล้านบาท
ปี 2566
รายได้ 528,531 ล้านบาท กำไร 25,915 ล้านบาท
กำไรธุรกิจเคมิคอล 589 ล้านบาท
ทำให้เมื่อเทียบปี 2560 กับปี 2566 แม้รายได้จะเพิ่มขึ้น 17% แต่กำไรกลับลดลงมากกว่าครึ่ง
เพราะกำไรเฉพาะในส่วนของธุรกิจเคมิคอลลดลงกว่า 41,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนกำไรของธุรกิจเคมิคอล
จากที่สูงถึง 76% ลดเหลือเพียง 2%
ซึ่งก็เท่ากับว่ากำไรทั้งหมดของ SCC ที่หายไปกว่า 30,000 ล้านบาท มาจากการลดลงของธุรกิจเคมิคอลเป็นหลัก
และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้น SCC ร่วงลง
มาจาก 552 บาท เหลือเพียง 205 บาท และทำให้มูลค่า
บริษัทหายไปกว่า 400,000 ล้านบาท
จริงอยู่ที่ว่าธุรกิจหลักของ SCC ยังมีปูนซีเมนต์ และแพ็กเกจจิง แต่ด้วยลักษณะของธุรกิจซีเมนต์และก่อสร้างที่เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้รายได้และกำไรไม่หวือหวา
ส่วนธุรกิจแพ็กเกจจิง แม้รายได้และกำไรจะเติบโตดี แต่ก็ยังมีสัดส่วนไม่มาก
ด้วยโครงสร้างธุรกิจหลักแบบนี้ ทำให้กำไรส่วนใหญ่
ของ SCC ขึ้นอยู่กับธุรกิจเคมิคอล ซึ่งมีความผันผวน
ตามวัฏจักรปิโตรเคมี
เมื่ออยู่ในช่วงขาขึ้น กำไรก็จะพุ่งสูง แต่เมื่อเข้าสู่ขาลง ก็จะให้ภาพตรงกันข้าม
และจากการปรับตัวลงของ SCC รอบนี้ก็เชื่อว่าได้ให้
บทเรียนสำคัญกับนักลงทุน
นั่นก็คือการมองทะลุภาพจำของหุ้นที่เราจะลงทุนให้ได้ ว่าอันที่จริงแล้ว บริษัทนั้นมีรูปแบบธุรกิจอย่างไร และมีแหล่งรายได้มาจากไหนบ้าง
เหมือนกับการที่เราต้องมองให้ทะลุภาพจำของ SCC ในฐานะหุ้นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ ซึ่งที่จริงแล้วกลับมีรายได้หลักมาจากธุรกิจเคมิคอล
เพราะฉะนั้นการลงทุนหุ้นสักตัว เราควรทำความเข้าใจ อย่างถ่องแท้ว่าบริษัทนั้นมีรายได้และกำไรมาจากธุรกิจ
ใดเป็นหลัก
เพื่อที่จะประเมินความเสี่ยงและหาโอกาส
ได้อย่างแม่นยำนั่นเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References
-มูลค่าตลาด ณ วันที่ 16/08/2567
-มูลค่าตลาด ณ วันที่ 11/04/2560
-รายงานประจำปี 2560 และปี 2566 ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
-รายการ 3 ศาสตร์ : SCC ปูนใหญ่ผู้แข็งแกร่ง