สรุป ประวัติศาสตร์ VC โลก จากโคลัมบัส ถึงซิลิคอนแวลลีย์

สรุป ประวัติศาสตร์ VC โลก จากโคลัมบัส ถึงซิลิคอนแวลลีย์

14 ส.ค. 2024
- Google มีจุดเริ่มต้นจากโปรเจกต์ของนักศึกษา ปัจจุบันเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 75 ล้านล้านบาท 
- Amazon มีสำนักงานแห่งแรกอยู่ในโรงรถ ปัจจุบันเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 67 ล้านล้านบาท
- Facebook ถูกคิดขึ้นมาในหอพักนักศึกษา ปัจจุบันเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 42 ล้านล้านบาท
ซึ่งเบื้องหลังที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ สามารถเติบโตจากบริษัทเล็ก ๆ กลายมาเป็นบริษัทระดับโลก
ไม่ได้มีเพียงแค่ความสามารถของผู้ก่อตั้งเท่านั้น 
แต่ยังต้องมีเงินทุนมหาศาล จากนักลงทุนแบบ Venture Capital หรือ VC ที่กล้าจะเดิมพันกับไอเดียสุดบ้าบิ่น ของสตาร์ตอัปเหล่านี้ เพื่อแลกกับผลตอบแทนมหาศาล ถ้าผู้ก่อตั้งเหล่านั้นทำได้สำเร็จ 
แต่รู้ไหมว่าอันที่จริงแล้ว ถ้าหากเราถอยกลับไปในประวัติศาสตร์ การลงทุนแบบ VC อาจจะมีมานานก่อนที่จะมีบริษัทเทคโนโลยีแบบทุกวันนี้เสียอีก
และการลงทุนแบบ VC นี้เอง ยังมีส่วนทำให้เกิดการค้นพบทวีปอเมริกาอีกด้วย
แล้วประวัติศาสตร์การลงทุนแบบ VC เกี่ยวข้องกับการค้นพบทวีปอเมริกาอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นนักสำรวจชาวอิตาลี ที่เกิดในนครรัฐเจนัว และเติบโตมาในยุคศตวรรษที่ 14 
ในยุคนั้นจักรวรรดิออตโตมัน ที่มีศูนย์กลางอยู่ในดินแดนตุรกีในปัจจุบัน ปิดเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญทางบก ระหว่างยุโรปและเอเชีย
โปรตุเกส และสเปน 2 ชาติมหาอำนาจในยุโรปในยุคนั้น จึงต้องออกสำรวจเส้นทางการค้าทางทะเลใหม่ ๆ เพื่อค้าขายเครื่องเทศกับอาณาจักรในแถบเอเชียให้ได้
ซึ่งเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรปในยุคนั้น คือการเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทางตอนใต้สุดของทวีปแอฟริกา
ที่ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะอันตราย จากคลื่นลมที่แปรปรวนอยู่บ่อยครั้ง แต่ชาวยุโรปก็ต้องกัดฟันเดินเรือผ่านเส้นทางนี้อยู่ดี เพราะพวกเขากลัวจะ “ตกโลกตาย” มากกว่า  
แต่โคลัมบัสกลับไม่คิดอย่างนั้น เพราะเขาเชื่อว่า โลกของเราเป็นทรงกลม
ดังนั้นไม่ว่าจะเดินเรือจากตะวันออก หรือตะวันตกจากยุโรป สุดท้ายแล้ว เราก็จะเดินทางไปถึงอินเดียได้อย่างแน่นอน
โคลัมบัส จึงนำไอเดียที่บ้าบิ่นแบบนี้ ไปเสนอราชสำนักโปรตุเกส ไม่ต่างจากผู้ประกอบการสตาร์ตอัปนับไม่ถ้วนในปัจจุบัน ที่ต้องนำไอเดียของตัวเองไปเสนอ ให้กับนักลงทุนฟัง
แต่เขาต้องพบกับความผิดหวัง เพราะราชสำนักโปรตุเกสกลับไม่ให้เงินทุนสนับสนุนไอเดียของโคลัมบัส เนื่องจากมองว่า เส้นทางเดินเรือของโคลัมบัส น่าจะต้องใช้ทรัพยากรสูงกว่า เส้นทางเดิมที่ใช้อยู่
อย่างไรก็ตาม ด้วยจิตวิญญาณของนักสำรวจอันแรงกล้า เขาจึงไม่ย่อท้อ และเปลี่ยนไปขอทุนสนับสนุนจากราชสำนักสเปน คู่แข่งของโปรตุเกสแทน
ราชสำนักสเปน ที่ต้องการแผ่ขยายอำนาจทางทะเลให้ยิ่งใหญ่กว่าโปรตุเกสอยู่แล้ว จึงตอบตกลงและสนับสนุนโคลัมบัสด้วยลูกเรือ และเรือ 3 ลำ
สิ่งที่สเปนคาดหวังว่าจะได้รับกลับมาก็คือ การค้นพบเส้นทางการค้าใหม่ ๆ และสินค้ามีค่า อย่างเช่น เครื่องเทศ กับทองคำ
หากมองในมุมการลงทุนแล้ว การลงทุนในครั้งนี้มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะสเปนอาจคว้าน้ำเหลว ไม่ได้อะไรกลับมาเลย ถ้าหากโลกแบนจริง และโคลัมบัสตกโลกตายไป
แต่ถ้าสมมติฐานของโคลัมบัสถูกต้อง สเปนอาจจะค้นพบเส้นทางการค้าใหม่ และกลายเป็นมหาอำนาจได้เลย
เมื่อมองในมุมนี้แล้ว ก็คงไม่ผิดนักที่จะเทียบว่า โคลัมบัส เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่ไม่มีเงินทุน แต่มีไอเดียที่จะมาดิสรัปต์วงการการค้าทางทะเลของยุโรป
ขณะที่ราชสำนักสเปน ก็เป็นนักลงทุน VC ที่พร้อมรับความเสี่ยงที่สูง เพื่อหวังจะได้รับผลตอบแทนมหาศาลที่จะตามมา
และอย่างที่เราทราบกันดีว่า สมมติฐานของโคลัมบัสนั้นถูกต้อง เพราะการแล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไป ทำให้เขาได้เจอแผ่นดิน ที่ตัวเองเข้าใจผิด คิดว่าเป็นอินเดีย
แต่อันที่จริงแล้ว มันคือทวีปใหม่ ซึ่งถูกตั้งชื่อในภายหลังว่า ทวีปอเมริกา
การค้นพบทวีปใหม่ของโคลัมบัส ได้สร้างความมั่งคั่ง และเสริมความยิ่งใหญ่ให้สเปนอย่างมาก จากทั้งแร่มีค่าที่สเปนจะค้นพบจากแผ่นดินนี้ในกาลต่อมา อย่างทองคำ และแร่เงิน
จนราชสำนักสเปน แต่งตั้งให้โคลัมบัส เป็นผู้ปกครองแผ่นดินใหม่ที่เขาค้นพบ
คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่า ทวีปอเมริกา กลายมาเป็นทวีปอเมริกาที่เรารู้จักกันในวันนี้ได้ ก็เพราะถูกโคลัมบัสค้นพบ ด้วยเงินทุนจากราชสำนักสเปน ที่ยอมเป็นนักลงทุน VC ให้
และเมื่อข้ามเวลากลับมายังปัจจุบัน ทวีปอเมริกาก็ยังคงขับเคลื่อนด้วย เหล่าผู้ประกอบการสตาร์ตอัปที่มีความฝัน และนักลงทุน VC เหมือนเคย 
โดยมีซิลิคอนแวลลีย์ ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตะวันตกของทวีปใหม่แห่งนี้ ที่กลายเป็นบ้านเกิดของธุรกิจสตาร์ตอัปเปลี่ยนโลกทั้งหลาย
ซึ่งหลายบริษัท ก็เติบโตกลายมาเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลก ด้วยการลงทุนแบบ VC 
จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่วนลูปมาเกือบ 700 ปี บนทวีปแห่งนี้..
#เศรษฐกิจ
#ประวัติศาสตร์
#สตาร์ตอัป
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.