เถ้าแก่น้อย ขนมสาหร่าย ของคนไทย กำลังออกไป แย่งชิงอันดับ 1 โลก

เถ้าแก่น้อย ขนมสาหร่าย ของคนไทย กำลังออกไป แย่งชิงอันดับ 1 โลก

11 ก.ย. 2024
หากให้นึกถึงบริษัทระดับโลกที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ เราก็อาจจะนึกถึงบริษัทชื่อดัง อย่างเช่น Red Bull กัน
แต่รู้หรือไม่ว่า มีบริษัทขนมขบเคี้ยวแห่งหนึ่ง ที่เราเห็นในร้านสะดวกซื้อ ตอนนี้ได้กลายเป็นบริษัทระดับโลก ที่กำลังแย่งชิงตำแหน่งอันดับ 1 ของตลาดขนมสาหร่ายโลกอยู่
บริษัทที่ว่าก็คือ เถ้าแก่น้อย เจ้าของแบรนด์ขนมสาหร่ายชื่อดัง ที่ประสบความสำเร็จมาก จนครั้งหนึ่งเรื่องราวของผู้ก่อตั้งบริษัท เคยถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์มาแล้ว
หากสงสัยว่า เส้นทางธุรกิจของ เถ้าแก่น้อย กว่าจะกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกนั้น เป็นอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของสาหร่ายเถ้าแก่น้อย ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 21 ปีก่อน หรือในปี 2546
ผู้ก่อตั้งบริษัท ก็คือ คุณต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ อดีตเด็กติดเกม ในวัย 19 ปี ที่มีความฝันอยากช่วยครอบครัวปลดหนี้
แต่ก่อนจะมาขายสาหร่าย คุณต๊อบก็เริ่มจากการขายเกาลัดมาก่อน โดยในช่วงแรกก็ยังขายไม่ค่อยดีเท่าไรนัก
จนลองปรับกลยุทธ์มาเปิดร้านขายเกาลัดในห้างสรรพสินค้าดู จึงทำให้สินค้าขายดีขึ้นมาก และเริ่มขยายสาขาออกไปมากขึ้น ประกอบกับลองเอาสินค้าประเภทอื่น เช่น ลูกท้อและสาหร่ายทอดกรอบ มาวางขาย
ผลปรากฏว่า สาหร่ายทอดกรอบ ดันกลายเป็นสินค้าขายดีที่สุด แซงหน้าเกาลัดไปเลย..
พอเป็นแบบนี้ ก็เลยทำให้คุณต๊อบ หันมาพัฒนาสินค้าประเภทสาหร่ายอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นแบรนด์สาหร่ายเถ้าแก่น้อย อันโด่งดังที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันดี นั่นเอง
ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้จากการขายสินค้าของเถ้าแก่น้อย แบ่งได้ดังนี้
- สาหร่ายทอด 40%
- สาหร่ายย่าง 43%
- สาหร่ายอบ 8%
- สาหร่ายเทมปุระ 6%
- ผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ชานมแบรนด์ Just Drink และร้านอาหาร 71 mookata 3%
และหากไปดูสัดส่วนรายได้ระหว่างขายในประเทศไทย กับส่งออกไปต่างประเทศ จะเป็นดังนี้
- ไทย 36.6%
- จีน 25.2%
- ประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศ CLMV 38.2%
จะเห็นได้ว่า เถ้าแก่น้อย มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
ซึ่งถ้าหากเราลองวิเคราะห์ดูจากสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ ที่รวมกันแล้วสูงกว่าในไทยนี้ ก็อาจจะมองได้ว่า เถ้าแก่น้อย แบรนด์ขนมสาหร่ายของคนไทย มีความสามารถไปตีตลาดในต่างประเทศได้อย่างสบาย ๆ เลย
ทีนี้ลองมาดูผลประกอบการย้อนหลังกันบ้าง
ปี 2562 รายได้ 5,266 ล้านบาท กำไร 366 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 3,610 ล้านบาท กำไร 182 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 5,323 ล้านบาท กำไร 743 ล้านบาท
และล่าสุด ครึ่งปีแรก 2567 รายได้ 2,783 ล้านบาท กำไร 562 ล้านบาท
จากข้อมูลล่าสุดในปี 2566 ขนาดตลาดของอุตสาหกรรมขนมสาหร่ายทั้งโลก อยู่ที่ประมาณ 63,000 ล้านบาท ส่วนรายได้ของ เถ้าแก่น้อย ในปี 2566 ก็อยู่ที่ 5,323 ล้านบาท
หมายความว่า ท่ามกลางแบรนด์ขนมสาหร่าย หลายร้อยแบรนด์จากหลากหลายประเทศ เถ้าแก่น้อยชิงส่วนแบ่งทางธุรกิจจากทั้งโลก มาได้ถึงเกือบ 10% เลยทีเดียว
เมื่อเป็นแบบนี้ เราก็คงสามารถพูดได้ว่า เถ้าแก่น้อยเป็นธุรกิจระดับโลกไปแล้ว..
แล้วที่ผ่านมา อัตราส่วนทางการเงินของบริษัทที่น่าสนใจ เป็นอย่างไรบ้าง ?
โดยเราจะวิเคราะห์ เถ้าแก่น้อย ออกมาใน 3 ด้าน คือ สภาพคล่อง, หนี้สิน และความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด
1. วิเคราะห์สภาพคล่อง โดยใช้ Current Ratio
Current Ratio หรือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน ไว้ใช้ดูว่า บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องหรือไม่
หาก Current Ratio มากกว่า 1 เท่า หมายความว่า บริษัทบริหารสภาพคล่องระยะสั้นได้ดี
เราสามารถคำนวณหา Current Ratio ได้โดย
สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
ปี 2562 มี Current Ratio เท่ากับ 1.6 เท่า
ปี 2564 มี Current Ratio เท่ากับ 1.76 เท่า
ปี 2566 มี Current Ratio เท่ากับ 2.49 เท่า
2. วิเคราะห์หนี้สิน โดยใช้ D/E Ratio
D/E Ratio ย่อมาจาก Debt to Equity Ratio หรือแปลเป็นไทยว่า “อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” ไว้ใช้ดูว่า บริษัทมีหนี้สินมากเกินไปหรือไม่
คำนวณหาได้โดย
หนี้สินรวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น
ปี 2562 มี D/E Ratio เท่ากับ 0.73 เท่า
ปี 2564 มี D/E Ratio เท่ากับ 0.73 เท่า
ปี 2566 มี D/E Ratio เท่ากับ 0.45 เท่า
โดยเถ้าแก่น้อย มี D/E Ratio ต่ำกว่า 1 เท่า หมายความว่า บริษัทมีหนี้สินน้อย เงินที่บริษัทใช้ทำธุรกิจส่วนใหญ่มาจากเงินของฝั่งผู้ถือหุ้น
3. วิเคราะห์ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด ด้วยกระแสเงินสดอิสระ
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow คือกระแสเงินสดที่บริษัทได้รับเข้ามาแบบฟรี ๆ เพราะเป็นเงินสดที่คงเหลืออยู่หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทุกอย่างไปหมดแล้ว
บริษัทสามารถนำกระแสเงินสดอิสระ ไปจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซื้อหุ้นคืน หรือจ่ายคืนหนี้สินก็ได้
คำนวณหาได้โดย
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ปี 2562 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 372 ล้านบาท
ปี 2564 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 296 ล้านบาท
ปี 2566 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 652 ล้านบาท
ที่ผ่านมา เถ้าแก่น้อย สามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระได้เป็นบวกอยู่ทุกปี แถมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาได้อย่างสม่ำเสมอ
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงเข้าใจกันดีขึ้นแล้วว่า เถ้าแก่น้อย แบรนด์ขนมสาหร่ายของคนไทย มีที่มาที่ไป และผลประกอบการที่ผ่านมา เป็นอย่างไร
จากผลประกอบการที่เติบโตมาตลอด บริษัทมีแบรนด์ของสินค้าที่แข็งแกร่ง และมีส่วนแบ่งทางธุรกิจที่สูงมาก
จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ถ้าวันนี้เราจะได้เห็นว่า แบรนด์ขนมสาหร่ายของคนไทยนี้ กลายมาเป็นแบรนด์สินค้าระดับโลกได้
และแบรนด์นั้นก็คือ “เถ้าแก่น้อย” ของคนไทย นั่นเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ธุรกิจ
#หุ้นไทย
#เถ้าแก่น้อย
References:
-รายงานประจำปี 2566 บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
-งบการเงินปี 2562-2566 บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
-MD&A ไตรมาส 2 ปี 2567 บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.