สรุป 3 ข้อต้องรู้ กองทุนวายุภักษ์ ความหวังใหม่ ของตลาดหุ้นไทย
13 ส.ค. 2024
1. กองทุนนี้ไม่ใช่กองทุนใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นกองทุนที่มีอยู่คู่กับตลาดทุนไทยมานานแล้ว โดยมีการเปิดขายมาตั้งแต่ปี 2546
โดยขายให้ทั้งนักลงทุนรายย่อย หรือที่เรียกว่าหน่วยลงทุนประเภท ก. และนักลงทุนสถาบัน ที่เรียกว่าหน่วยลงทุนประเภท ข.
ซึ่งหน่วยลงทุนประเภท ก. มีอายุถือครอง 10 ปี ทำให้เมื่อครบกำหนด 10 ปี กองทุนวายุภักษ์จึงเหลือแต่ หน่วยลงทุนประเภท ข. เพียงอย่างเดียว มาโดยตลอด
2. จนกระทั่งในช่วงนี้ ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างมาก ก็ได้มีการเสนอให้มีการระดมทุนเข้ากองทุนวายุภักษ์ ด้วยการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. อีกครั้ง
เป็นการเพิ่มวงเงินอีก 150,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีไซส์กองทุนอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท
โดยจะมีการเสนอขาย IPO ที่ราคา 10 บาทต่อหน่วย ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งหน่วยลงทุนประเภท ก. ตัวใหม่นี้ ก็จะมีอายุถือครอง 10 ปีเหมือนเคย รวมทั้งมีการกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำ และกลไกคุ้มครองเงินต้นด้วย
3. แล้วที่ผ่านมา ผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนเป็นอย่างไรบ้าง?
ข้อมูลจาก บลจ. กรุงไทย ซึ่งเป็นผู้เสนอขายหน่วยลงทุน กองทุนวายุภักษ์ 1 ได้แสดงให้เห็นผลตอบแทน ของกองทุนวายุภักษ์ 1 ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ดังนี้
- ตั้งแต่จัดตั้ง ผลตอบแทน 2.92% ต่อปี
- 10 ปีย้อนหลัง ผลตอบแทน 1.83% ต่อปี
- 5 ปีย้อนหลัง ผลตอบแทน -1.44% ต่อปี
- ตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน ผลตอบแทน -3.06%
อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่แสดงอยู่ เป็นผลตอบแทนที่ผู้ลงทุน หน่วยลงทุน ข. ได้รับ ไม่ใช่ของหน่วยลงทุน ก. ที่เป็นของนักลงทุนรายย่อย
เพราะผู้ลงทุนหน่วยลงทุนหน่วยลงทุน ก. หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2556 แล้ว ซึ่งมีทั้งการกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำ
และในช่วงนั้น ถือว่าเป็นยุคทองของตลาดหุ้นไทยเลย เพราะดัชนีมีฟื้นตัวจากประมาณ 300 จุด มาถึงประมาณ 1,500 จุด
ผู้ถือหน่วยลงทุน ก. จึงน่าจะได้ผลตอบแทนมากกว่า ผู้ถือหน่วยลงทุน ข. ประมาณหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นโยบายการสร้างกองทุนพยุงหุ้นนั้น ที่ผ่านมาก็เคยมีการหารือเช่นกัน เช่นในช่วงที่เกิดโรคระบาดปี 2563 ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกต่ำลงอย่างหนัก แต่ก็ถูกตีตกไป
แต่มาวันนี้ นโยบายคล้าย ๆ กัน กำลังจะกลับมาอีกครั้ง ก็เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า เมื่อมีกองทุนใหม่นี้เข้ามา จะช่วยกู้วิกฤติดัชนีตลาดหุ้นไทย ได้มากน้อยแค่ไหน..