รู้จัก ESOP แบ่งหุ้นให้พนักงาน เครื่องมือดึงดูดคนเก่ง ของบริษัท

รู้จัก ESOP แบ่งหุ้นให้พนักงาน เครื่องมือดึงดูดคนเก่ง ของบริษัท

26 ก.พ. 2024
รู้จัก ESOP แบ่งหุ้นให้พนักงาน เครื่องมือดึงดูดคนเก่ง ของบริษัท | MONEY LAB
เจ้าของกิจการหลายคน น่าจะต้องการให้พนักงานของตัวเอง ทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ เหมือนกับว่าตัวเองเป็นเจ้าของบริษัท
แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราก็จะได้ยินเสียงบ่นของพนักงานกลับมาว่า ทำงานแทบตาย ได้เงินเดือนนิดเดียว
รู้ไหมว่า ปัญหาความต้องการที่ไม่ตรงกันนี้ สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า “Employee Stock Ownership Plan” หรือ ESOP
แล้ว ESOP ที่ว่านี้คืออะไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ESOP คือ โครงการส่งเสริมพนักงานที่มีผลงานโดดเด่น ด้วยการแบ่งหุ้นส่วนหนึ่งของบริษัทให้พนักงาน เพื่อจูงใจให้พนักงานที่มีศักยภาพ ทำงานกับบริษัทต่อไป
นอกจากนี้ยังเป็นการจูงใจให้พนักงานคนอื่น ๆ มีแรงผลักดันที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีในการทำงาน
ซึ่งสิ่งที่พนักงานบริษัทจะได้รับจากโครงการนี้ ก็คือ เงินปันผลในทุก ๆ ปี ตราบใดที่ยังถือหุ้นอยู่ เฉกเช่นเดียวกับเจ้าของบริษัท ในกรณีที่บริษัทตัดสินใจจ่ายปันผล
และเมื่อถึงวัยเกษียณ พนักงานก็สามารถขายหุ้นบริษัท เพื่อรับเงินก้อนไปใช้หลังเกษียณได้
ข้อดีสำหรับบริษัทก็คือ การให้รางวัลกับพนักงานเป็นหุ้น ถือเป็นการจ่ายค่าตอบแทนกับพนักงานโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด
ดังนั้นการแบ่งหุ้นให้กับพนักงาน จึงเป็นที่นิยมมากสำหรับบริษัทสตาร์ตอัป ที่การรักษาสภาพคล่อง เป็นเรื่องสำคัญกับบริษัท
อ่านมาถึงตรงนี้ สงสัยกันไหมว่า แล้วบริษัทนำหุ้นจากไหนมาให้พนักงาน ?
การนำหุ้นมาเป็นสิ่งตอบแทนให้พนักงานสามารถทำได้หลายวิธี แต่ขอแบ่งเป็น 2 วิธีหลัก ๆ คือ
เจ้าของบริษัทแบ่งหุ้นของตัวเองให้พนักงาน
กรณีแบบนี้เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ โดยบริษัทจะจัดตั้งกองทรัสต์ขึ้นมา เพื่อรับซื้อหุ้นจากเจ้าของบริษัท ไม่เกินราคาตลาด
จากนั้นเมื่อกองทรัสต์มีหุ้นจำนวนมากพอแล้ว เมื่อถึงช่วงประเมินผลงานประจำปี กองทรัสต์ก็แค่ส่งมอบหุ้นที่มีอยู่ เป็นรางวัลให้กับพนักงานที่ได้รับการคัดเลือก
ข้อดีของการทำแบบนี้คือ ราคาหุ้นของบริษัทจะไม่มี Dilution Effect เพราะไม่ได้มีการออกหุ้นใหม่
Dilution Effect อธิบายได้ง่าย ๆ คือ ปรากฏการณ์ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง เนื่องจากบริษัทมีการออกหุ้นใหม่ในตลาด ทำให้จำนวนหุ้นในตลาดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของวิธีการรับซื้อหุ้นจากเจ้าของก็คือ บริษัทจะต้องมีเงินสดมากจำนวนหนึ่ง เพื่อไปซื้อหุ้นจากเจ้าของบริษัท
บริษัทออกหุ้นใหม่ให้พนักงาน
กรณีนี้บริษัทสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
2.1 ให้สิทธิพนักงานซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด
วิธีนี้เป็นที่นิยมมากในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น โดยบริษัทจะออกเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า Employee Stock Option ให้กับพนักงาน
พนักงานที่ได้รับ Employee Stock Option จะมีสิทธิในการซื้อหุ้นของบริษัทในราคาต่ำ
พอพนักงานจะใช้สิทธิซื้อหุ้น บริษัทก็ต้องออกหุ้นใหม่มาขายให้กับพนักงาน
วิธีนี้ ข้อดีสำหรับพนักงาน คือ ได้ซื้อหุ้นในราคาถูก แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ พนักงานต้องเป็นคนจ่ายเงินซื้อหุ้นเอง
ส่วนข้อดีสำหรับบริษัท ก็คือ บริษัทจะได้รับเงินเข้าบริษัท เสมือนกับว่าได้ออกหุ้นใหม่ เพื่อมาระดมทุนกับพนักงาน แต่ก็ต้องแลกมากับ Dilution Effect ด้วย
2.2 บริษัทออกหุ้นใหม่ให้พนักงานโดยตรงเลย
วิธีการนี้บริษัทจะออกหุ้นใหม่ให้พนักงานไปแบบฟรี ๆ เลย ซึ่งจะคล้ายกับข้อแรก ที่เจ้าของบริษัทแบ่งหุ้นของตัวเองให้พนักงาน ทำให้พนักงานไม่ต้องจ่ายเงินซื้อหุ้น
แต่จะต่างกันตรงที่ว่า วิธีการนี้จะทำให้เกิด Dilution Effect เวลาบริษัทออกหุ้นใหม่มาแจกพนักงาน
รู้หรือไม่ว่า ESOP ทำให้เกิดเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งระดับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลายรายในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Steve Ballmer อดีต CEO ของ Microsoft หรือ Eric Schmidt อดีต CEO ของ Google
คนเหล่านี้ไม่ใช่เจ้าของกิจการ เป็นเพียงแค่ผู้บริหารเท่านั้น แต่ก็สามารถสร้างความมั่งคั่งจากการทำงานในฐานะลูกจ้างได้
และนอกจากนี้ Elon Musk มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ก็สร้างความมั่งคั่งของตัวเองผ่าน ESOP ด้วยเช่นกัน
โดยในปี 2018 Elon Musk ประกาศจะไม่รับเงินเดือนแม้แต่บาทเดียว ทว่าจะได้รับเป็นหุ้นของบริษัทแทน
แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องทำให้บริษัทมีรายได้ ผลกำไร และมูลค่าบริษัทถึงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยเขาแบ่งผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับเป็นขั้น ๆ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
จากการประมาณการของสำนักข่าว Reuters พบว่า มูลค่าผลตอบแทนที่ Elon Musk ได้รับเป็นหุ้นจากสัญญาที่ทำไว้ในปี 2018
ในวันนี้จะมีมูลค่ามากถึง 1.8 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว..
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.