รู้จัก Nudge Theory ทฤษฎีที่ช่วยให้ ออมเงินได้ดีขึ้น

รู้จัก Nudge Theory ทฤษฎีที่ช่วยให้ ออมเงินได้ดีขึ้น

7 ธ.ค. 2023
รู้จัก Nudge Theory ทฤษฎีที่ช่วยให้ ออมเงินได้ดีขึ้น | MONEY LAB
เชื่อว่าหลายคน มีความตั้งใจที่จะเก็บออมเงิน แต่หลายครั้ง ก็ทำได้ไม่ถึงเป้าหมายสักที
ส่วนหนึ่งนั่นก็เป็นเพราะ การเก็บออมเงิน เป็นเสมือนการบังคับให้ตัวเองต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
ถ้าอย่างนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งทฤษฎีที่ช่วยออมเงินที่ชื่อว่า “Nudge Theory” ซึ่งอาจช่วยให้เราเก็บออมเงินได้มากขึ้น
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
เราน่าจะเคยสงสัยว่า ทําไมเราจึงยังเห็นบางคนนั้น ใช้จ่ายเกินตัว ไม่เหลือเก็บออมเงินเพื่ออนาคต ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาก็รู้ดีว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทํา
จนทำให้บางคนรู้สึกว่า การเก็บเงินเหมือนเป็นการบีบบังคับใจ
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เอง ที่ทำให้ ดร.ริชาร์ด เอช. เธเลอร์ นักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา
นำเสนอแนวคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่รวบรวมเอาทฤษฎีทางจิตวิทยา และพฤติกรรมของมนุษย์เข้าด้วยกัน ผ่าน “Nudge Theory”
โดย Nudge Theory ถ้าจะให้อธิบายง่าย ๆ ก็เป็นทฤษฎีที่ใช้การ “สะกิดกระตุ้น” ให้มนุษย์ตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ถูกต้องอย่างมีเหตุผลมากขึ้น ไม่รู้สึกเหมือนต้องถูกบังคับ
ซึ่งในภายหลัง ทฤษฎีนี้ก็ถูกประยุกต์ใช้กับการออมเงิน ซึ่งเริ่มจาก
เมื่อทำดีก็ต้องให้รางวัลตัวเอง
การเก็บเงินก็เหมือนกับการอดทนอดกลั้น ไม่ให้เรานำเงินไปใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ก็ต้องยอมรับว่า การทำแบบนี้บางครั้งก็อาจทำให้เรารู้สึกเครียดได้
ดังนั้น สิ่งที่ดีก็คือ เมื่อเราเก็บเงินได้ถึงเป้าหมาย เราก็ควรที่จะให้รางวัลแก่ตนเอง เช่น เราตั้งใจจะเก็บเงินให้ได้ปีละ 60,000 บาท หรือเดือนละ 5,000 บาท
และถ้าทำได้ตามเป้าหมาย เราจะให้รางวัลตัวเอง ด้วยการซื้อของที่อยากได้ 1 ชิ้น อาจจะในราคาไม่เกิน 5,000 บาท เพื่อให้เรามีกำลังใจเพิ่มมากขึ้นในการเก็บเงิน
ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการออมเงิน
จากข้อ 1 ที่เราตั้งเป้าจะเก็บเงินเดือนละ 5,000 บาท แต่ยังไม่สามารถเก็บเงินได้ตามเป้าหมาย เราก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินในแต่ละเดือน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเก็บออมได้ดีขึ้น
เช่น จากเดิมที่เคยนัดสังสรรค์กับเพื่อนอาทิตย์ละครั้ง เราอาจจะปรับลดเป็นเดือนละครั้ง เพื่อให้เหลือเงินเก็บมากขึ้น
ทำบัญชีรายรับรายจ่าย และแยกแต่ละบัญชีให้ชัดเจน
การจดบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นประจำ จะช่วยให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้จ่าย ทั้งยังช่วยปรับวิธีการใช้จ่ายเงิน และควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เพราะหลายครั้งเราอาจไม่เคยรู้เลยว่า เราใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็นมากขนาดไหน ถ้าเราไม่เคยทำบัญชีรายรับรายจ่าย
นอกจากนี้ เราอาจจะแยกบัญชีแต่ละบัญชีออกจากกันเลยก็ได้ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ เช่น บัญชีสำหรับเงินออม, บัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือน, บัญชีสำหรับไว้เป็นเงินลงทุน
เพื่อไม่ให้เงินแต่ละกองมาปนกัน และไม่เผลอเอาเงินบัญชีอื่นมาใช้
ตรวจสอบเงินในบัญชีเป็นประจำ
หลายคนอาจบอกว่า การตรวจสอบเงินในบัญชีเป็นประจำ จะทำให้เรารู้สึกใจเสีย เพราะยอดเงินคงเหลือ จะลดลงทุกวัน เมื่อเราใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้วการตรวจสอบเงินในบัญชี เป็นสิ่งที่เราควรทำเป็นนิสัย เพื่อให้เรารู้ว่า ปัจจุบัน เราเหลือเงินเท่านี้ จะได้ไม่เผลอนำเงินไปใช้ซื้อของที่ไม่จำเป็น
จะเห็นได้ว่า Nudge Theory เป็นทฤษฎีที่คำนึงถึงพฤติกรรมจริงของการเก็บออมเงินด้วย ไม่ใช่แค่การตั้งเป้าหมายด้วยตัวเลขเพียงอย่างเดียว
เพราะการจะทำอะไรให้สำเร็จ นอกจากเป้าหมายแล้ว วิธีการที่เป็นไปได้ ตรงกับพฤติกรรมและจริตของเรา ก็จะยิ่งช่วยกระตุ้นให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น..
---------------------------------------
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ เพลิดเพลินทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ในไทยและต่างประเทศ
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
Facebook : JCB Thailand
LINE : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)JCBThailand #JCBCard
JCBOwnHappinessOwnStory #อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.