รู้จัก ไทย สมายล์ บัส เจ้าของสายรถเมล์ กว่าครึ่งกรุงเทพฯ

รู้จัก ไทย สมายล์ บัส เจ้าของสายรถเมล์ กว่าครึ่งกรุงเทพฯ

6 ก.พ. 2024
รู้จัก ไทย สมายล์ บัส เจ้าของสายรถเมล์ กว่าครึ่งกรุงเทพฯ | MONEY LAB
ในกรุงเทพฯ แต่ละวันจะมีผู้คนเดินทางด้วยรถเมล์ มากกว่า 500,000 คนต่อวัน
ซึ่งภาพรถเมล์ที่ติดตาเรา ก็คงจะเป็น รถสีครีม-แดง ติดพัดลม สภาพเก่า ๆ
แต่ในช่วงหลัง ๆ มานี้ เราน่าจะได้เห็น รถเมล์ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าสีน้ำเงิน กันมากขึ้น
เช่น ปอ.2-38 หรือสาย 8 เดิม ซึ่งเป็นรถที่บริษัทเอกชนมาเดินรถร่วมกับ ขสมก.
และรู้หรือไม่ว่า จากทั้งหมด 242 เส้นทางเดินรถในปัจจุบันนั้น บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ถือครองเส้นทางเดินรถอยู่ถึง 122 เส้นทาง
มากกว่า ขสมก. ที่มี 110 เส้นทาง เสียอีก
โดยเส้นทางที่เหลือ จะเป็นเอกชนรายอื่น ๆ รวมกัน
แล้ว ไทย สมายล์ บัส คือใคร
ทำไมถึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้ครองสายรถเมล์กว่าครึ่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
สำหรับจุดเริ่มต้นของการเดินรถเมล์นั้น แต่ก่อน ขสมก. จะผูกขาดการเดินรถทุกสายเพียงรายเดียว
โดยก่อนปี 2559 ขสมก. ถือการเดินรถอยู่ทั้งหมด 207 เส้นทาง
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ขสมก. ก็คือ
ประสบปัญหาขาดทุน เฉลี่ยประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ตอนนี้ ขสมก. ขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 130,000 ล้านบาทจำนวนรถเมล์ และเส้นทางรถเมล์ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนรัฐไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณได้เพียงพอ
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ในปี 2559 ขสมก. ทำแผนแม่บทในการปฏิรูปขึ้น และใบอนุญาตจึงกลับไปที่กรมการขนส่งทางบก และให้เอกชนมีสิทธิ์เข้ามาร่วมประมูลสัมปทานการเดินรถ
ซึ่งมีเป้าหมายว่า ในปี 2567 จะให้มีการเดินรถทั้งหมด 267 เส้นทาง
หลังจากมีการปฏิรูป ก็มีเอกชนเข้ามาหลายราย แต่หลัก ๆ จะมีอยู่ 2 ราย นั่นก็คือ
บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSBบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด
สำหรับจุดเริ่มต้นของ TSB ได้มีการเดินรถครั้งแรกในปี 2564 คือ สาย 35 พระประแดง-สายใต้ใหม่
ภายใต้ใบอนุญาตของ บริษัท บี.บี.ริช (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นอดีตเจ้าของสัมปทานเดินรถร่วมบริการ ขสมก. เดิม
และต่อด้วยสาย ปอ.7 เป็นสายที่สอง
รวมถึงเป็นเจ้าของสาย 8 เดิม แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ด้วย
ซึ่งสาย 8 และสาย ปอ.7 ก็คือ 2 เส้นทางที่ทำรายได้ให้
TSB มากที่สุดในปัจจุบันด้วย
ในช่วงเริ่มต้น TSB เดินรถภายใต้ใบอนุญาตผู้ประกอบการเดิมทั้งหมด 8 เส้นทาง
และต่อมา ก็มีการซื้อใบอนุญาตเพิ่มอีก 77 เส้นทาง
ทำให้ล่าสุด ณ ปี 2567 TSB ถือครองอยู่ 85 เส้นทาง
ข้ามมาที่ฝั่ง บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด กันบ้าง
ในช่วงที่ ขสมก. มีผลขาดทุน ขสมก. ก็ได้โอนเส้นทางบางส่วนให้กับ สมาร์ทบัส เป็นจำนวนทั้งหมด 37 เส้นทาง
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 บริษัทที่เป็นผู้เล่นหลักนี้ ก็มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ คือ เป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้กลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA
โดย EA ส่งบริษัทย่อย คือ บริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง จำกัด มาเป็นผู้ถือหุ้นในทั้ง 2 บริษัท ทั้ง TSB และ สมาร์ทบัส
และเมื่อไม่นานมานี้ คือในปี 2565 TSB ที่ถือครองเส้นทางอยู่ 85 เส้นทาง ก็รับโอนสิทธิ์การเดินรถจาก สมาร์ทบัส ที่มีอยู่ 37 เส้นทาง
ทำให้ล่าสุด TSB มีสิทธิ์การเดินรถในมืออยู่ 122 เส้นทาง
เมื่อเปรียบเทียบกับ ขสมก. ที่มีอยู่ 110 เส้นทาง
และเอกชนรายอื่น ๆ ที่มีรวมกันอีก 10 เส้นทาง
นั่นก็หมายความว่า ตอนนี้ TSB ถือครองสายรถเมล์กว่าครึ่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
และเป็นเจ้าของรถเมล์ไฟฟ้าอยู่ราว 3,100 คัน
ถ้านับเฉพาะรถเมล์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ก็คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท
แต่ความท้าทายของ TSB ก็คือ การลงทุน 20,000 ล้านบาทนี้ จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีแค่ไหน
เพราะโมเดลธุรกิจของการเดินรถเมล์นั้น รายได้ก็คือ จำนวนผู้โดยสาร คูณกับราคาค่าโดยสาร
ในขณะที่รายจ่าย ก็คือ ค่าพนักงาน ค่าพลังงาน และค่าซ่อมบำรุง ซึ่ง TSB ที่ใช้รถเมล์แบบพลังงานไฟฟ้า อาจจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ต่ำกว่าการใช้รถเมล์แบบสันดาป
ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า TSB ที่เป็นเจ้าของสายรถเมล์กว่าครึ่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จะสามารถสร้างผลกำไร ในธุรกิจที่ ขสมก. เคยขาดทุนปีละ 5,000 ล้านบาท ได้หรือไม่..
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.