หลักลงทุน 10 ข้อ ของ คุณปริญญา เธียรวร เซียนหุ้น VI พอร์ต 15,000 ล้าน

หลักลงทุน 10 ข้อ ของ คุณปริญญา เธียรวร เซียนหุ้น VI พอร์ต 15,000 ล้าน

13 ก.ย. 2023
หลักลงทุน 10 ข้อ ของ คุณปริญญา เธียรวร เซียนหุ้น VI พอร์ต 15,000 ล้าน | MONEY LAB
หากพูดถึงนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ที่มีมูลค่าพอร์ตหลักหมื่นล้านบาทขึ้นไปนั้น ชื่อแรก ๆ ที่เรามักจะนึกถึงก็คือ
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
แต่ยังมีนักลงทุนระดับหมื่นล้านบาทอีกคนหนึ่ง ที่ชื่ออาจไม่ค่อยคุ้นหู ของใครหลาย ๆ คน แต่มีหลักการลงทุนที่น่าสนใจ นั่นก็คือ คุณปริญญา เธียรวร
ปัจจุบัน คุณปริญญา มีมูลค่าพอร์ตการลงทุน สูงกว่า 15,000 ล้านบาท แถมมีชื่อติดอยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ในหลาย บริษัท อีกด้วย
แล้ว คุณปริญญา มีหลักการลงทุนที่น่าสนใจอย่างไร จึงสามารถปั้นพอร์ตการลงทุน ให้เติบโตมาได้ขนาดนี้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ ?
หลักการลงทุนของคุณปริญญา เธียรวร สามารถสรุปออกมาได้เป็น 10 ข้อ
1.รู้จักตัวเองว่า เราเป็นนักลงทุนประเภทไหน
จุดเริ่มต้นสำคัญของการลงทุนนั้น เราควรเริ่มต้นจากการรู้จักตัวเราเองก่อนว่า เรามีความสนใจในแนวทางการลงทุนแบบไหน
จากนั้นก็ทำการศึกษาแนวทางการลงทุนแบบนั้นอย่างตั้งใจ และนำหลักการลงทุนนั้นมาใช้ไปตลอด
อย่างกรณีของคุณปริญญา ที่เลือกเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ซึ่งเน้นลงทุนในระยะยาว โดยมีหลักในการลงทุนในหุ้น เสมือนว่าตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของบริษัท
2.รู้จักประเภทหุ้นต่าง ๆ เพื่อเลือกลงทุน
ก่อนที่จะลงทุนในหุ้นของบริษัทใดก็ตาม เราต้องรู้จักจำแนกประเภทของหุ้นออกมาด้วยว่า หุ้นของบริษัทนั้น จัดว่าเป็นประเภทไหน เพื่อที่เราจะได้สามารถเลือกวิธีการวิเคราะห์ธุรกิจ ได้อย่างเหมาะสม
โดยหุ้นนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภทหลัก ๆ คือ
-หุ้นเติบโตช้า เป็นธุรกิจที่มั่นคง แต่ไม่เติบโต
-หุ้นเติบโตเร็ว เป็นธุรกิจที่ยอดขาย และกำไรเติบโตเร็ว
-หุ้นวัฏจักร เป็นธุรกิจที่ผลประกอบการ ขึ้นลงเป็นวัฏจักร
-หุ้นฟื้นตัว เป็นบริษัทที่กลับมาได้ จากการล้มละลาย
-หุ้นสินทรัพย์เยอะ เป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ซ่อนอยู่
-หุ้นแข็งแกร่ง เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่ทนทานต่อวิกฤติ
แต่หุ้นที่คุณปริญญาเลือกลงทุนนั้น จะมีเพียงแค่ หุ้นแข็งแกร่ง, หุ้นสินทรัพย์เยอะ และหุ้นเติบโตช้า เท่านั้น
เพราะหุ้นทั้ง 3 ประเภทนี้ มีความปลอดภัยสูง และในระยะยาว พื้นฐานธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างน้อย เหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาในการติดตามการลงทุนเท่าไร
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า คุณปริญญาเอง ก็มีธุรกิจส่วนตัว ที่ต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการมากพอสมควร จึงต้องออกแบบพอร์ตการลงทุน ที่ไม่ต้องใช้เวลาในการติดตามมากนัก
3.ลงทุนในบริษัท ที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
บริษัทที่คุณปริญญาจะลงทุนนั้น จะต้องมีประวัติในการจ่ายเงินปันผลมาอย่างยาวนาน สม่ำเสมอ และจะต้องจ่ายเงินปันผลอย่างน้อย 5% ต่อปี
4.มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เป็นบวก อย่างสม่ำเสมอ และต้องไม่น้อยกว่ากำไรสุทธิมากเกินไป
การที่บริษัทมีกระแสเงินสด จากกิจกรรมการดำเนินงาน น้อยกว่ากำไรสุทธิมากเกินไป มักจะมีอยู่ 2 กรณี คือ บริษัทมีลูกหนี้การค้ามากเกินไป หรือมีปัญหาเรื่องการมีสินค้าคงคลังมากเกินไป
ซึ่งปัญหาทั้ง 2 อย่างนี้ ถ้าหากบริษัทจัดการได้ไม่ดี ก็จะส่งผลต่อกระแสเงินสดจากการทำธุรกิจ และสร้างปัญหาสภาพคล่องให้กับบริษัท ในอนาคตได้
5.ลงทุนในบริษัท ที่มีวงจรเงินสด สั้นกว่าค่าเฉลี่ย
วงจรเงินสด เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดว่า ใช้เวลานานแค่ไหน กว่าที่เงินสดจะเข้าบริษัท โดยวัดตั้งแต่วันที่บริษัทเริ่มสั่งวัตถุดิบมาผลิตสินค้า ไปจนถึงวันที่ขายสินค้าออก
โดยถ้าหากบริษัทมีวงจรเงินสดสั้น หมายความว่า บริษัทมีสภาพคล่องสูง มีเงินสดไหลเข้าบริษัทอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าหากบริษัทมีวงจรเงินสดยาว หมายความว่า บริษัทมีสภาพคล่องต่ำ และอาจจะต้องไปกู้เงินมาหมุนเวียนในธุรกิจ
ซึ่งหุ้นที่คุณปริญญาเลือกลงทุนนั้น จะต้องมีวงจรเงินสดที่สั้นกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ที่บริษัททำธุรกิจอยู่
6.ลงทุนในบริษัทที่มีหนี้สินน้อย
บริษัทที่คุณปริญญาสนใจนั้น จะต้องมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ต่ำกว่า 2 เท่า
โดยวิธีการหาอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ D/E Ratio สามารถคำนวณหาได้จาก นำหนี้สินรวม มาหารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น
ในขณะที่ อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ Interest Bearing Debt to Equity Ratio
จะคำนวณหาจาก การนำหนี้สินที่มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ย เช่น เงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้ยืมธนาคาร และหุ้นกู้ มารวมกัน แล้วหารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น
7.ลงทุนในบริษัทที่มีผู้บริหารที่เก่ง และมีความซื่อสัตย์
คุณปริญญาบอกว่า บริษัทที่จะลงทุนนั้น จะต้องมีผู้บริหารที่เก่งด้วย เพราะการมีผู้บริหารที่เก่ง จะช่วยให้บริษัทมีผลประกอบการที่เติบโต และสามารถเอาตัวรอดได้ ในยามที่เกิดสถานการณ์ที่ยากลำบาก
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารที่เก่งอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ผู้บริหารจะต้องมีความซื่อสัตย์ และมีธรรมาภิบาลสูงอีกด้วย
8.รอซื้อหุ้นของบริษัทพื้นฐานดี ในเวลาที่เหมาะสม
คุณปริญญาแนะนำว่า ถ้าหากเราหาหุ้นที่เข้าเงื่อนไขไม่ได้ สิ่งที่เราควรทำก็คือ การรอ และเก็บเงินสดเอาไว้ก่อน เพราะราคาของหุ้นจะไม่มีทางขึ้นไปได้ตลอดกาล
สักวันหนึ่งราคาหุ้นจะตกลงมา และเมื่อราคาหุ้นในตอนนั้น อยู่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และเรามีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยมากพอ เราก็ค่อยนำเงินที่เก็บออมไว้มาซื้อหุ้น
9.มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างเหมาะสม
ในการลงทุนนั้น เราจะต้องคำนึงถึงเรื่องความเสี่ยงที่จะขาดทุนเอาไว้ตลอดเวลา
วิธีในการป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุด ก็คือ การกระจายความเสี่ยง โดยการลงทุนในหุ้นหลาย ๆ ตัว
เหมือนอย่างคุณปริญญา ก็มีการกระจายการลงทุนไปในหุ้นหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น หุ้น MBK, หุ้น DMT, และหุ้น QH
10.อดทนรวย และเป็นนักลงทุนแบบระยะยาว
การลงทุนนั้นเป็นเรื่องของเวลา คุณปริญญาจึงได้ให้คำแนะนำไว้ว่า เราต้องอดทนลงทุน ให้ได้มากกว่า 10 ปีขึ้นไป
และเมื่อเราได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ในรูปแบบของทั้งเงินปันผลและส่วนต่างของราคาหุ้นมาแล้ว เราจะต้องนำกลับไปลงทุนเพิ่ม เพื่อให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของเรา ทบต้นได้ต่อไปเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ เราควรสนใจความผันผวนระยะสั้นของราคาหุ้นที่เราถือให้น้อยลง เพราะการสนใจเรื่องราคาหุ้นมากเกินไป จะส่งผลให้จิตใจของเราหวั่นไหว และทำให้เราไม่มีความสุขในการลงทุนได้
จากตรงนี้เองจะเห็นได้ว่า หลักการลงทุนของคุณปริญญา เธียรวร ค่อนข้างเรียบง่ายเป็นอย่างมาก ซึ่งด้วยหลักการ 10 ข้อนี้ ก็ได้ทำให้คุณปริญญา สามารถสร้างพอร์ตให้เติบโตไปอยู่ที่ระดับหมื่นล้านบาทได้
ซึ่งหากเราสามารถนำหลักการลงทุนเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุน ในการสร้างความมั่งคั่งของเรา ได้มากเลยทีเดียว..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจลงทุน
References
-หนังสือ วิถีแห่ง VI (2023)
-https://www.blockdit.com/posts/5d63623ae074b20ce056ad8a
-หนังสือ One Up On Wall Street: How To Use What You Already Know To Make Money In The Market (1989) โดย Peter Lynch และ John Rothchild
-https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/308-tsi-what-can-we-learn-from-company-financial-status-besides-financial-stability-ep02
-https://www.longtunman.com/36740
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.