KKP วิเคราะห์ หนี้สาธารณะไทย อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ที่รัฐบาลใหม่ ต้องเร่งแก้ไข

KKP วิเคราะห์ หนี้สาธารณะไทย อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ที่รัฐบาลใหม่ ต้องเร่งแก้ไข

4 ส.ค. 2023
KKP วิเคราะห์ หนี้สาธารณะไทย อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ที่รัฐบาลใหม่ ต้องเร่งแก้ไข | MONEY LAB
นับตั้งแต่มีเหตุการณ์โรคระบาดเกิดขึ้นนั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทย ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยในปี 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 61% แล้ว ในขณะที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้ปรับระดับเพดานของหนี้สินใหม่ เป็น 70% ของ GDP
โดยการที่หนี้สาธารณะของไทย เพิ่มขึ้นมาอย่างนี้ ก็มีสาเหตุมาจาก ในช่วงที่เกิดวิกฤติโรคระบาด เมื่อปี 2563 รัฐบาลไทยได้ออก พ.ร.ก. เงินกู้มา 2 ฉบับ เป็นมูลค่ารวม 1,500,000 ล้านบาท เพื่อมาช่วยพยุงเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม KKP Research ได้ประเมินว่า ถ้ารัฐบาลไทยไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างรายรับรายจ่ายเสียใหม่
ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีต่อจากนี้ หนี้สาธารณะไทย ก็มีโอกาสจะเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 70% ของ GDP และปัญหาหนี้สาธารณะนี้ ก็จะกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ ของเศรษฐกิจไทย
แล้ว ปัจจัยอะไรบ้าง ที่ส่งผลให้ประเทศไทยมีปัญหาหนี้สาธารณะในอนาคต และเรื่องนี้ จะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อปัญหาหนี้สาธารณะไทย ประกอบด้วย
1.ประเทศไทยเก็บภาษีได้น้อย
ในปี 2565 ประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงแค่ 13.1% ต่อ GDP ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเก็บได้ที่ 15%
ในขณะที่กลุ่มประเทศ OECD และเอเชียแปซิฟิก จัดเก็บภาษีได้ในสัดส่วนที่สูงถึง 33.4% และ 20.3% ตามลำดับ
โดยสาเหตุหลักที่ประเทศไทยจัดเก็บภาษีได้น้อย ก็มาจาก
-ประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่เกินไป โดยแรงงานส่วนมาก เน้นทำอาชีพอิสระ ที่อยู่นอกระบบภาษี
-ประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่น
2.รัฐบาลมีรายจ่ายสูงเกินไป
ในแต่ละปี งบประมาณที่รัฐบาลตั้งประมาณการว่าจะใช้จ่าย แบ่งสัดส่วนเป็น
-รายจ่ายประจำ 80%
-รายจ่ายลงทุน 20%
จะเห็นได้ว่า สัดส่วนรายจ่ายประจำนั้นอยู่ในระดับสูง ที่กินสัดส่วนงบประมาณของรัฐบาล ไปมากถึง 80%
นอกจากนี้ สัดส่วนรายจ่ายด้านการลงทุน ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวเอง ก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ
ในขณะที่ หากดูที่ตัวเลขการเบิกจ่ายเพื่อใช้ลงทุนจริงแล้ว จะอยู่ที่ 14% เท่านั้นเอง ซึ่งมีสาเหตุมาจาก ปัญหาความล่าช้าของโครงการที่ลงทุน ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณในแต่ละปี ช้าตามไปด้วย
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ รัฐบาลไทยเก็บภาษีได้น้อย แต่รายจ่ายสูง และยังลงทุนในระยะยาวน้อยอีกด้วย
รู้หรือไม่ว่า ตั้งแต่ปี 2553 ประเทศไทยมีรายรับน้อยกว่ารายจ่ายมาโดยตลอด หรือขาดดุลการคลังที่เฉลี่ย 2.8% ต่อปี ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 7-8%
3.ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะส่งผลให้ไทยเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะจำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง ในขณะเดียวกัน สวัสดิการและค่าใช้จ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ซึ่งผลจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปนี้ ก็อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องขาดดุลทางการคลังเพิ่มด้วย
แล้ว ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ?
1.ใช้นโยบายการคลังได้อย่างจำกัด
การที่หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง ก็จะทำให้รัฐบาลมีตัวเลือกในการใช้นโยบายด้านการคลัง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ยามที่ประเทศมีปัญหาจริง ๆ ได้อย่างจำกัด
2.ประเทศอาจมีปัญหาในการกู้เงิน
เมื่อรัฐบาลมีการก่อหนี้ในระดับที่สูง และรายได้ไม่สามารถโตทันกับรายจ่าย จะส่งผลต่อระดับความน่าเชื่อถือของประเทศ เพราะมีโอกาสที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จะปรับลดความน่าเชื่อถือของประเทศลง
เมื่อระดับความน่าเชื่อถือลดลง ต่อไปประเทศไทยก็จะต้องกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
3.เงินทุนจากต่างชาติจะไหลออกจากประเทศไทย
ประเทศที่มีหนี้สาธารณะในสัดส่วนที่สูง มีโอกาสที่จะเจอกับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้
ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้นักลงทุนต่างชาติ อาจเลือกนำเงินไปลงทุนในประเทศอื่นแทน
เมื่อเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ก็จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง และส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นตามมาได้ ทำให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และการป้องกันเงินทุนไหลออก
เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็จะยิ่งไปเพิ่มต้นทุนในการกู้ยืมเงินอีกทอดหนึ่งด้วย
จากทั้งหมดนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ปัญหาหนี้สาธารณะ เป็นอีกหนึ่งระเบิดเวลาลูกใหญ่ ของเศรษฐกิจไทย
ดังนั้น เรื่องปัญหาหนี้สาธารณะ จึงเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญ ที่รัฐบาลในอนาคต จะต้องเข้ามาแก้ไข..
Reference
-KKP Research หนี้สาธารณะไทย โจทย์ใหญ่ภายใต้ความเสี่ยงรุมเร้า
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.