
Sharpe Ratio เครื่องมือเลือกกองทุน ที่นักลงทุน ควรรู้จัก
30 พ.ย. 2022
การไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อกองทุนไหนดี มักจะเป็นปัญหาแรก ๆ สำหรับนักลงทุน ที่อยากจะเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม เพราะแค่กองทุนหุ้นไทย ก็มีมากกว่า 10 กองทุนจากหลากหลายธนาคาร ให้เราเลือกลงทุนแล้ว
เพราะฉะนั้นในวันนี้ BillionMoney จะมาแนะนำ หนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการเลือกกองทุน นั่นก็คือ Sharpe Ratio
ส่วนใหญ่แล้ว เวลาที่หลาย ๆ คนเลือกกองทุนที่จะไปลงทุน เราก็มักจะมองหากองทุนที่มีผลตอบแทนสูง ๆ ไว้ก่อน
แต่อย่างไรก็ตาม กองทุนที่มีผลตอบแทนสูง ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นเล็ก, หุ้นต่างประเทศ, อสังหาริมทรัพย์ หรือน้ำมัน เป็นต้น ทำให้ความเสี่ยงของกองทุนที่เราไปลงทุนนั้น สูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นการเลือกกองทุน ด้วยการดูจากผลตอบแทนสูง ๆ เพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้เราหลงลืมที่จะมองในเรื่องของความเสี่ยง จนเราอาจจะพลาดไปลงทุนในกองทุน ที่มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงกว่าผลตอบแทนที่เราจะได้
ซึ่งตัว Sharpe Ratio นี้เอง ก็เป็นตัวเลขที่จะมาบอกเราว่า การลงทุนในกองทุนที่เรากำลังสนใจอยู่นี้ เป็นการลงทุนที่เรา “คุ้มที่จะเสี่ยง” หรือไม่
โดย Sharpe Ratio นั้น จะคำนวณโดยการนำผลตอบแทนของกองทุนที่เราสนใจ มาหักกับผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก เช่น พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น หรือเงินฝาก
จากนั้นก็นำมาหารกับส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความผันผวนของราคาหน่วยลงทุน ของกองทุนที่เราสนใจ จึงทำให้ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานนี้เอง สะท้อนถึงความเสี่ยงในการลงทุนของเรา
ทำให้ถ้าหาก Sharpe Ratio ยิ่งมีค่าสูง ก็จะยิ่งดี เพราะแปลว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนของเรานั้น คุ้มค่ามาก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น
กองทุน A ผลตอบแทน 30% SD 25%
กองทุน B ผลตอบแทน 20% SD 15%
โดยอัตราผลตอบแทน พันธบัตรระยะสั้นของไทย ณ ตอนนั้น อยู่ที่ 1% ต่อปี
กองทุน B ผลตอบแทน 20% SD 15%
โดยอัตราผลตอบแทน พันธบัตรระยะสั้นของไทย ณ ตอนนั้น อยู่ที่ 1% ต่อปี
และเมื่อคำนวณ Sharpe Ratio ออกมา ก็จะพบว่า
Sharpe Ratio กองทุน A เท่ากับ 1.16 เท่า
Sharpe Ratio กองทุน B เท่ากับ 1.27 เท่า
Sharpe Ratio กองทุน A เท่ากับ 1.16 เท่า
Sharpe Ratio กองทุน B เท่ากับ 1.27 เท่า
จากตัวเลขข้างต้นนี้เอง ก็จะทำให้เราเห็นว่า ถึงแม้กองทุน A จะมีผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุน B
แต่ด้วยความเสี่ยงของกองทุน A ที่มีมากกว่า ก็ทำให้กองทุน A อาจไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง เมื่อเทียบกันกับกองทุน B ที่แม้จะทำให้เราได้รับผลตอบแทนน้อยลงมาหน่อย แต่มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า
ซึ่งถ้าหากถามว่า Sharpe Ratio ควรมีค่าเท่าไรนั้น ส่วนใหญ่แล้ว ค่าของ Sharpe Ratio ที่ดี ก็คือมากกว่า 1 เท่าขึ้นไป และถ้าหากเกิน 3 เท่า ก็จะถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่จะเสี่ยงมาก ๆ
อย่างไรก็ตาม การใช้ Sharpe Ratio ในการเลือกกองทุน ก็ยังมีข้อควรระวังอยู่ เนื่องจากข้อมูลต่าง ๆ ที่ใช้ในการคำนวณ Sharpe Ratio เป็นข้อมูลในอดีต ทำให้ตอนที่เราเข้าซื้อกองทุน ตัวเลขผลตอบแทน และความผันผวน อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้วก็ได้
นอกจากนี้ การเปรียบเทียบ Sharpe Ratio ระหว่างกองทุนนั้น ยังต้องทำกับกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์แบบเดียวกัน เช่น เปรียบเทียบกับกองทุนหุ้นไทยด้วยกัน หรือกองทุนหุ้นต่างประเทศด้วยกัน
และกองทุนในสินทรัพย์เดียวกัน ที่เรานำมาเปรียบเทียบนั้น ก็ต้องมีนโยบายในการลงทุนคล้าย ๆ กันด้วย เช่น เปรียบเทียบ Sharpe Ratio ระหว่างกองทุนที่ลงทุนเพื่อเอาชนะตลาด (Active Investing) ด้วยกันเอง เป็นต้น
จากทั้งหมดนี้เอง ก็จะเห็นได้ว่า Sharpe Ratio เป็นอัตราส่วนที่แปลความได้ค่อนข้างง่าย และไม่ซับซ้อนมาก
ซึ่งเราก็สามารถนำ Sharpe Ratio มาใช้เป็นเครื่องมือ ในการเลือกกองทุนที่เราสนใจ ในเบื้องต้นได้..