
Lemming Effect กับดักทางจิตวิทยา ที่นักลงทุน ต้องระวัง
14 มี.ค. 2025
ในจักรวาลของการลงทุน มีทักษะที่สำคัญ ที่นักลงทุนจำเป็นต้องเรียนรู้ ถ้าอยากจะลงทุนให้ประสบความสำเร็จ
ทักษะสำคัญ 2 ด้าน ที่เราอาจจะพอคุ้นเคยกันมาบ้าง ก็อย่างเช่น การวิเคราะห์ด้านคุณภาพ และด้านปริมาณ ของบริษัทที่เราจะลงทุน
แต่นอกจากทักษะทั้ง 2 ด้านนี้แล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะเป็นตัวช่วยผลักดัน ให้เราได้ใช้ทักษะทั้ง 2 ด้านนี้ ออกมาได้ดีขึ้น
ทักษะด้านที่ 3 นี้ เรียกว่า “จิตวิทยาการลงทุน” ซึ่งหากให้เจาะลึกลงไป ก็จะพบว่า มีอยู่หลายเรื่องในด้านนี้ ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
แต่ก็มีประเด็นด้านจิตวิทยาการลงทุนอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งคนที่ลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นมานาน น่าจะพบเห็นเหตุการณ์แบบนี้กันเป็นประจำ
นั่นคือ มักจะมีนักลงทุนเป็นจำนวนมากเชื่อเหมือนกัน จนลงทุนตามกันไป และสุดท้ายก็ได้รับผลลัพธ์แบบเดียวกัน..
เหตุการณ์แบบนี้ ในทางจิตวิทยาเรียกว่า
“The Lemming Effect”
หากสงสัยว่า The Lemming Effect มีที่มาอย่างไร ทำไมจึงสำคัญต่อการลงทุน และทำไมเราถึงไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ต้นกำเนิดของ The Lemming Effect มาจากสัตว์ประเภทฟันแทะขนาดเล็ก หน้าตาคล้ายหนู ที่เรียกว่า “ตัวเลมมิง”
โดยตัวเลมมิง จะมีพฤติกรรมแปลก ๆ อย่างหนึ่ง คือจะชอบทำอะไรเหมือนกันโดยไม่คิด
เช่น เลมมิงชอบเดินตามกันไปเป็นฝูงใหญ่ ๆ แต่ถ้าเกิดว่า มีเลมมิงตัวหน้าสุดเดินตกหน้าผาไป เลมมิงตัวอื่นก็จะเลือกเดินตกหน้าผาตามไปเหมือนกัน
น่าแปลกใจที่เหตุการณ์ทำนองนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นอยู่กับแค่ฝูงเลมมิงเท่านั้น แต่มีการเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในสังคมมนุษย์ ซึ่งน่าจะมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์สูงกว่าเจ้าเลมมิงตัวน้อยเหมือนกันด้วย
จนนักจิตวิทยาถึงกับมีการตั้งชื่อพฤติกรรมแบบนี้ว่า
“The Lemming Effect”
ในโลกของการลงทุนเอง หากเราสังเกตให้ดี ก็จะพบว่า มีเหตุการณ์แบบ The Lemming Effect ที่นักลงทุนหลายคน ชอบทำอะไรตาม ๆ กัน เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ร้อยปีก็ตาม เช่น
1. ระหว่างปี 1636-1637 : Tulip Mania
กรณี Tulip Mania เกิดขึ้นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ นับเป็นเหตุการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก
โดยเกิดขึ้นเพราะคนจำนวนมาก แห่กันเก็งกำไรหัวทิวลิปอย่างไร้เหตุผล เพราะต่างพากันเข้ามาแย่งซื้อหัวทิวลิปในราคาแพง เพื่อจะได้เอาไปขายในราคาที่แพงกว่า
ส่งผลให้หัวทิวลิปบางหัว เคยมีราคาสูงขึ้นไป จนมีมูลค่าเท่ากับบ้านหนึ่งหลังเลยทีเดียว
แต่ความบ้าคลั่งนี้ ก็อยู่ได้ไม่นานนัก เพราะการเก็งกำไรสิ้นสุดลง ราคาหัวทิวลิปที่เคยขึ้นไปสูงมาก ก็ตกลงมาจนแทบไม่เหลือมูลค่า และทำให้คนที่เข้ามาลงทุนจำนวนมากต้องล้มละลาย
2. ปี 1720 : South Sea Bubble
กรณี South Sea Bubble เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ โดยเริ่มต้นจากการที่ บริษัท South Sea Company ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อมาแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลอังกฤษ
ซึ่งข้อแลกเปลี่ยนก็คือ บริษัทนี้จะได้รับสัมปทานการผูกขาดทางการค้าทั้งหมด ในแถบทวีปอเมริกาใต้บนฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก
พอมีเรื่องราวแบบนี้ ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากพากันเชื่อว่า บริษัทที่ได้รับสิทธิ์ในการผูกขาดทางการค้า คงจะทำกำไรได้อย่างมหาศาลเป็นแน่ ทำให้เกิดการเก็งกำไรในหุ้นของบริษัทนี้กันอย่างบ้าคลั่ง
จนราคาหุ้นของ South Sea Company เพิ่มขึ้นจาก 100 ปอนด์ ไปเป็น 1,000 ปอนด์ ในระยะเวลาสั้น ๆ
แต่การเก็งกำไรกันอย่างไม่ยั้งคิดนี้ ก็สิ้นสุดลง เมื่อมีข่าวรั่วไหลออกมาว่า ทางผู้บริหารของบริษัท เห็นว่าราคาหุ้นสูงเกินไปกว่ารายได้ที่บริษัททำได้ จึงได้เริ่มขายหุ้นออกมา
ทีนี้พอมีคนรู้กันมากเข้า ก็มีการถล่มขายหุ้นออกมา จนทำให้ราคาหุ้นของ South Sea Company ตกลงมาอย่างหนัก จนกลับไปที่ 100 ปอนด์เหมือนเดิม
และหลังจากนั้นอีกไม่นาน ความเป็นจริงก็ได้เฉลยออกมาว่า กำไรจำนวนมหาศาลที่ผู้คนต่างเชื่อกันว่าจะเกิดขึ้น กลับไม่เกิดขึ้น
เพราะจริง ๆ แล้ว บริษัทกลับมีผลขาดทุนซ่อนอยู่เป็นจำนวนมหาศาลต่างหาก
และรู้หรือไม่ว่า หนึ่งในคนที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์นี้ ก็คืออัจฉริยะแห่งยุคในตอนนั้น นั่นก็คือ เซอร์ไอแซก นิวตัน ผู้ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วง ที่เรายังเรียนกันอยู่จนทุกวันนี้
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะคิดว่าตัวเองฉลาดมากแค่ไหน แต่ถ้าหากไม่ระวังตัวให้ดี เราก็มีสิทธิ์เป็นเหยื่อของ Lemming Effect ได้เสมอ
3. ปี 1930 : The Great Depression
กรณี The Great Depression เริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1920 โดยมีคนจำนวนมากแห่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกันอย่างคึกคัก
ด้วยความเชื่อว่า “เดี๋ยวราคาหุ้นจะต้องขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันตกอีก..”
พอความเชื่อแบบนี้กลายมาเป็นความเชื่อกระแสหลัก ก็เลยส่งผลให้มีนักลงทุนเป็นจำนวนมาก กู้เงินเพื่อนำมาลงทุน
แต่แล้ว ในวันที่ 24 ตุลาคม 1929 ก็เกิดเหตุการณ์ “Black Thursday” ที่ตลาดหุ้นเริ่มตกลงอย่างรุนแรง
และหลังจากนั้นก็ตามมาด้วย “Black Monday” และ “Black Tuesday” ในสัปดาห์ต่อมา ที่ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างไม่หยุด
ทำให้นักลงทุนที่กู้เงินมาลงทุน ต้องเทขายหุ้นทิ้งในราคาต่ำ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้ แต่พอยิ่งมีการเทขายหุ้น ก็ยิ่งทำให้ราคาหุ้นลดลงมากขึ้นไปอีก
ผลกระทบจากเหตุการณ์ The Great Depression ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงระบบเศรษฐกิจของโลกเลย และกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาได้ ก็ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี
4. ระหว่างปี 1995-2000 : Dot-com Bubble
กรณีของ Dot-com Bubble เกิดขึ้นในช่วงที่อินเทอร์เน็ตเริ่มมีการแพร่หลาย โดยได้มีนักลงทุนจำนวนมาก แห่กันเข้าไปลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่ทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต
ในช่วงเวลานั้น ได้มีบริษัทเกิดใหม่จำนวนมาก ที่เพียงแค่ใช้คำว่า “.com” ต่อท้ายชื่อของบริษัท ราคาหุ้นก็สามารถพุ่งขึ้นไปได้อย่างบ้าคลั่ง
ซึ่งบริษัทเหล่านี้ หลายบริษัทยังไม่ได้มีแผนการทำธุรกิจที่ชัดเจน และไม่มีกำไรเลยด้วยซ้ำ แต่ก็สามารถขายฝัน จนระดมทุนจากนักลงทุนไปได้อย่างง่ายดาย
พอนักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อในเรื่องนี้กัน ก็ทำให้ดัชนี NASDAQ ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีบริษัทเทคโนโลยีจดทะเบียนอยู่เป็นจำนวนมาก พุ่งจาก 1,000 จุด ไปเกือบถึง 5,000 จุด ภายในระยะเวลาแค่ 5 ปี
แต่แล้ว พอถึงต้นปี 2000 นักลงทุนก็เริ่มตระหนักได้ว่า บริษัท Dot-com จำนวนมากไม่ได้มีโมเดลธุรกิจที่ดี พอจะสร้างกำไรได้จริง ๆ
จึงทำให้เริ่มมีการถล่มขายหุ้นออกมา จนราคาหุ้นตกลงอย่างหนัก ส่วนดัชนี NASDAQ เอง ก็ตกลงกว่า 75% ภายในระยะเวลาสั้น ๆ ด้วย
และในตอนสุดท้าย ความจริงก็ปรากฏออกมาว่า บริษัท Dot-com เหล่านี้ ที่คนส่วนใหญ่เคยเชื่อกันว่าจะเปลี่ยนโลกได้ ส่วนใหญ่ก็ทำธุรกิจไม่รอดและได้ปิดตัวลงในที่สุด
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงเข้าใจเรื่องของ The Lemming Effect และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เหล่านี้กันดีขึ้นแล้วว่า สามารถส่งผลเสียลุกลามไปมากขนาดไหน
จริง ๆ แล้วเหตุการณ์ทำนองนี้ ก็ไม่เคยหายไปเลย แต่ยังคอยที่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ตลอด
อย่างในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็มีเหตุการณ์การเข้าไปเก็งกำไรกันอย่างหนักในตลาด Cryptocurrency และ NFT
ด้วยความเชื่อว่า ราคาของสินทรัพย์เหล่านี้จะขึ้นตลอดไป หากเราไม่รีบเข้าไปซื้อไว้ก่อน ก็จะพลาดโอกาสในการทำกำไรเยอะ ๆ ไปได้
แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อฟองสบู่การเก็งกำไรในรอบนี้ได้แตกออก ก็มีคนหลายคนต้องสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมหาศาล
เราคงได้เห็นกันแล้วว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานสักแค่ไหน และไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ตาม เหตุการณ์อย่าง The Lemming Effect ก็เกิดขึ้นได้ตลอด
ซึ่งวิธีการที่จะป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกับเรา ก็พอจะมีอยู่บ้างเหมือนกัน นั่นคือ
- เลือกลงทุนในสิ่งที่เรามีความเข้าใจดีมากจริง ๆ โดยเป็นสิ่งที่เราพอจะคาดการณ์อนาคตได้อย่างถูกต้อง
- มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ในสินทรัพย์ที่หลากหลายอย่างเหมาะสม
- รู้จักมูลค่าในสิ่งที่จะลงทุนเป็นอย่างดี อย่าซื้อมาในราคาที่แพงเกินไป
- ระมัดระวังเรื่องราวที่ Too Good To Be True หรือเรื่องราวที่ฟังแล้ว ดูดีเกินจะเป็นไปได้จริงไปมาก
และวิธีการที่สำคัญอย่างสุดท้าย ก็คือหลักการที่พระพุทธองค์ทรงสอนมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว เรียกว่า “กาลามสูตร”
นั่นคือ ไม่ว่าเราจะได้รับรู้เรื่องใดมาก็ตาม จงอย่าเพิ่งเชื่อในทันที แต่ให้พยายามค้นคว้าหาคำตอบ เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้เสียก่อน
ซึ่งในโลกของการลงทุนหุ้นเอง เราก็สามารถนำหลักการนี้ไปใช้ได้เช่นกัน โดยเมื่อเราได้รับรู้เรื่องราวของหุ้นตัวไหนมาก็ตาม ก็ขอให้เราหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเราเองก่อนว่า
- เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ?
- เรามีความสามารถจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ไหม ?
- คนที่เชียร์หุ้นตัวนี้ จริง ๆ แล้ว เข้าใจหุ้นตัวนี้เป็นอย่างดี จริงหรือไม่ ?
- ราคาและมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตัวนี้เป็นอย่างไร ?
หากเราทำได้แบบนี้อย่างสม่ำเสมอ เราก็น่าจะปลอดภัยจากเหตุการณ์อย่าง The Lemming Effect ไปได้
และต่อไป การลงทุนของเรา ก็น่าจะจำกัดอยู่แค่ในส่วนที่เรามั่นใจ นั่นคือภายในขอบเขตความเชี่ยวชาญของเราเท่านั้น..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#จิตวิทยาการลงทุน
References
-หนังสือ Zero to One : Notes on Startups, or How to Build the Future (2014) โดย Peter Thiel และ Blake Masters
-หนังสือ The Little Book of Behavioral Investing : How not to be your own worst enemy (2010) โดย James Montier
-หนังสือ The Psychology of Investing (2002) โดย John R. Nofsinger
-The Right Attitude ทัศนคติที่ควรมีของนักลงทุนหุ้น