
สรุปมรสุมหุ้น SABUY จากความหวัง Berkshire เมืองไทย มูลค่าหายไปกว่า 90% ใน 3 ปี
8 เม.ย. 2025
SABUY เคยเป็นหนึ่งในหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเป้าหมายการเติบโตที่ชัดเจน และการเดินเกมซื้อกิจการต่อเนื่อง
โดยเฉพาะแผนการสร้าง Ecosystem ที่ครบวงจร
ตามสโลแกนที่ว่า “ตื่นยันหลับ ชีวิตติด SABUY”
จนทำให้นักลงทุนบางส่วนเคลิ้มมองว่า SABUY อาจยิ่งใหญ่จนกลายเป็น Berkshire Hathaway ของเมืองไทยได้ในอนาคต
โดยราคาหุ้นเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 38 บาท ในช่วงต้นปี 2565 แต่วันนี้กลับเหลือเพียง 0.26 บาท
นั่นหมายความว่า ถ้าเราซื้อหุ้น SABUY ด้วยเงิน 1 ล้านบาท เมื่อ 3 ปีก่อน วันนี้เราจะเหลือไม่ถึง 7,000 บาท..
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับ SABUY ทำไมมูลค่าบริษัท ถึงหายไปมากกว่า 90% ภายในระยะเวลาแค่ 3 ปีแบบนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY
เริ่มต้นจากธุรกิจให้บริการตู้เติมเงินอัตโนมัติ
ภายใต้ชื่อ “เติมสบายพลัส”
โดยมีหัวเรือใหญ่คือ คุณชูเกียรติ รุจนพรพจี อดีตนายธนาคารมากประสบการณ์ เคยทำงานกับธนาคารต่างชาติชั้นนำอย่าง Hong Kong Bank (HSBC) และ Standard Chartered
ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายก่อนเข้าสู่วงการธุรกิจ คือ Managing Director ของ Standard Chartered ที่สิงคโปร์
ด้วยพื้นฐานจากสายการเงินระดับโลก คุณชูเกียรติวางวิสัยทัศน์ให้ SABUY เติบโตจากกลุ่มเป้าหมายระดับฐานราก แล้วค่อย ๆ ต่อยอดเป็น Ecosystem ทางธุรกิจที่เชื่อมโยงบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
ตั้งแต่ตู้ขายสินค้า ตู้ล็อกเกอร์ การรับส่งพัสดุ ระบบศูนย์อาหาร ไปจนถึงประกันภัย สินเชื่อ ระบบรับชำระเงิน และบริการเติมเงินต่าง ๆ
แนวคิดนี้นำไปสู่การขยายกิจการอย่างรวดเร็ว ทั้งในรูปแบบการซื้อกิจการ การร่วมทุน และลงทุนในหลายธุรกิจ
ส่งผลให้ขนาดสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ปี 2564 สินทรัพย์รวม 6,137 ล้านบาท
ปี 2565 สินทรัพย์รวม 19,265 ล้านบาท
คิดเป็นการเติบโตเกือบ 3 เท่าในปีเดียว
ซึ่งรายการหลักที่ทำให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้น ได้แก่
- เงินลงทุนในตราสารทุน บริษัทร่วม และการร่วมค้า เพิ่มขึ้นประมาณ 7,200 ล้านบาท
- ค่าความนิยม ส่วนที่จ่ายซื้อกิจการแพงกว่ามูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สุทธิ เพิ่มขึ้นประมาณ 2,700 ล้านบาท
โดยบริษัทใช้เงินทุนจากหลายช่องทางเพื่อรองรับการเติบโต ทั้งเงินกู้ หุ้นกู้ และการเพิ่มทุนหลายรูปแบบ
ซึ่งตัวเลขรายได้และกำไรในช่วงปี 2563 ถึงปี 2565 ก็สะท้อนภาพการเติบโตได้ชัดเจน
ปี 2563 รายได้ 1,513 ล้านบาท กำไร 102 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 2,339 ล้านบาท กำไร 214 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 5,325 ล้านบาท กำไร 1,482 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้เองส่งผลทำให้ราคาหุ้น SABUY ปรับตัวขึ้น จากราคา IPO ที่ 2.50 บาท ช่วงปลายปี 2563 ไปทำจุดสูงสุดที่ 38 บาท ช่วงต้นปี 2565
คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 1,400% หรือราว 14 เด้ง ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี
แต่เมื่อเข้าไปดูงบการเงินปี 2565 เพิ่มเติม จะเห็นว่า
แม้บริษัทจะรายงานกำไรสุทธิ มากถึง 1,482 ล้านบาท
แต่เกือบ 1,400 ล้านบาท มาจากกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนในตราสารทุน
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นการบันทึกกำไรจากมูลค่าหุ้นที่ถืออยู่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยังไม่ได้ขายจริง
เหมือนตอนที่เราเปิดดูพอร์ตในแอปซื้อขายหุ้น แล้วเห็นตัวเลขกำไรเป็นบวกสีเขียว แต่กำไรเหล่านั้นก็ไม่ใช่เงินที่เรามีอยู่ในมือจริง ๆ เพราะยังไม่ได้ขายหุ้นเอากำไรมา
อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นคุณชูเกียรติ ยังคงตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานว่า ปี 2566 รายได้จะเติบโตแตะระดับ 20,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าซื้อกิจการและร่วมลงทุนอย่างต่อเนื่อง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับสวนทาง เพราะผลประกอบการปี 2566 SABUY มีรายได้เพียง 9,630 ล้านบาท และขาดทุน 190 ล้านบาท
จากผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้คุณชูเกียรติประกาศลาออกในเดือนมีนาคม 2567
แต่สถานการณ์ยังไม่จบเพียงเท่านี้..
เพราะตลอดปี 2567 บรรยากาศตลาดหุ้นไทยยังคงซบเซา รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ส่งผลให้โมเดลธุรกิจของ SABUY ที่ขยายกิจการด้วยการกู้และการลงทุนจำนวนมาก เริ่มเผชิญแรงกดดันอย่างชัดเจน
ทำให้เมื่อผลประกอบการ ปี 2567 ออกมา SABUY ไม่เพียงมีรายได้ลดลง มาอยู่ที่ 5,383 ล้านบาท แต่ขาดทุนมากถึง 6,238 ล้านบาท
เพราะอย่างที่เรารู้กันว่า SABUY ไม่ได้มีรายได้จากการดำเนินงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการลงทุนผ่านการถือหุ้นของกิจการอื่นจำนวนมาก
เมื่อราคาหุ้นเหล่านั้นปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา
บริษัทต้องขายหุ้นบางส่วนในราคาที่ต่ำกว่าทุน และบันทึกการขาดทุนจากการด้อยค่ามูลค่าเงินลงทุน สำหรับหุ้นที่ยังถืออยู่
คล้าย ๆ กับตอนที่เราขายหุ้นขาดทุนในพอร์ตทิ้ง แล้วต้องรับรู้การขาดทุน เป็นเงินของเราที่หายไปจริง ๆ
ตรงนี้รวม ๆ แล้ว SABUY ขาดทุนจากการลงทุนสูงถึง 5,700 ล้านบาท ภายในปีเดียว
หากเราลองดูโครงสร้างการถือหุ้นของ SABUY จะพบว่า บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น คือ
- TSR บริษัท ทีเอสอาร์ ลิฟวิ่ง โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเดิมชื่อ SBNEXT
- AS บริษัท แอสเฟียร์ อินโนเวชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
- PTECH บริษัท พลัส เทค อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน)
และถ้าย้อนกลับไปช่วงกลางปี 2567 หลายคนน่าจะยังจำเหตุการณ์ที่หุ้นขนาดกลาง-เล็ก ร่วงลงติดฟลอร์หลายวันจากกระแสข่าวการถูก Forced Sell
ซึ่งหุ้นที่โดนตอนนั้นก็มี SBNEXT และ AS ที่ SABUY ถืออยู่ด้วยนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ Forced Sell ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับหุ้นที่บริษัทลงทุนเท่านั้น แต่ทางผู้บริหารของ SABUY เองก็ยังออกมายอมรับว่า
ผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายของบริษัทก็ถูก Forced Sell จนทำให้ราคาหุ้นของ SABUY ดิ่งติดฟลอร์ด้วยเช่นกัน
สถานการณ์ของ SABUY ในช่วงที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเต็มไปด้วยแรงสั่นสะเทือนรอบด้าน จากทั้งการลาออกของคุณชูเกียรติ ผู้บริหารระดับสูงซึ่งเคยเป็นหัวเรือใหญ่ของบริษัท
การขอผ่อนผันการชำระหนี้หุ้นกู้บางรุ่น รวมทั้งการขยายระยะเวลาในการชำระเงินต้น และขอลดดอกเบี้ย
นอกจากนี้ล่าสุด ทางตลาดหลักทรัพย์ยังขอให้ SABUY ออกมาชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม
ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สินและสินค้าคงคลังที่สูญหาย และการซื้อธุรกิจให้เช่าล็อกเกอร์ที่มีค่าความนิยมสูงถึง 71% ของมูลค่าที่ซื้อ รวมถึงประเด็นความไม่แน่นอนต่อการดำเนินงานอื่น ๆ
ทำให้ต้องติดตามกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว SABUY จะแก้เกมให้บริษัท ผ่านมรสุมนี้ไปได้อย่างไร..
หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#SABUY
References
-ราคาหุ้น ณ วันที่ 18 มีนาคม 2565
-ราคาหุ้น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568
-งบการเงินของบริษัท ประจำปี 2565-2567