ITOCHU คือบริษัทอะไร ทำไมมีทั้ง CP และ Berkshire เป็นเจ้าของร่วมกัน

ITOCHU คือบริษัทอะไร ทำไมมีทั้ง CP และ Berkshire เป็นเจ้าของร่วมกัน

2 ก.ย. 2024
ลองนึกภาพว่า เราเปิดประตูห้องประชุมเข้าไป แล้วเจอกับคนที่รวยที่สุดในไทยอย่าง เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ และนักลงทุนระดับตำนาน อย่างคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ นั่งอยู่ข้างใน ตอนวันประชุมผู้ถือหุ้น เราเองก็คงจะรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย
แต่แน่นอนว่าคำถามในหัวของเราที่จะตามมาคือ บริษัทนี้มีดีอะไร ถึงดึงดูดใจของทั้ง 2 มหาเศรษฐีจากคนละซีกโลก ให้มาถือหุ้นร่วมกัน      
แถมทั้ง 2 มหาเศรษฐี ก็ไม่ได้มาเล่น ๆ เพราะบริษัท Berkshire Hathaway ของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ นั้นคือผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ตามมาด้วยบริษัท CP Group ของเจ้าสัวธนินท์ ที่เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของบริษัท
และบริษัทที่ว่านั้นก็คือ บริษัทจากญี่ปุ่นที่ชื่อว่า ITOCHU
แล้วทั้ง CP และ Berkshire Hathaway มองเห็นอะไรใน ITOCHU ถึงทุ่มเงินลงทุนมหาศาลในบริษัทนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของบริษัท ITOCHU ต้องย้อนกลับไปในปี 1858 สมัยที่ผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างคุณ Chubei Itoh เริ่มทำการค้าขาย ขณะที่ยังมีอายุได้เพียง 15 ปี เท่านั้น
ต้องใช้เวลาเกือบ 200 ปี กว่าที่บริษัท ITOCHU จะขยับขยายธุรกิจเรื่อยมา จากเดิมที่เป็นเพียงบริษัทที่ค้าขายแค่ระหว่างหัวเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่น
จนกลายเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศรายใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยปัจจุบัน ITOCHU แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 8 กลุ่มหลัก คือ..
1. ธุรกิจขายสินค้าสิ่งทอ
2. ธุรกิจขายเครื่องจักร
3. ธุรกิจเหมืองแร่
4. ธุรกิจพลังงาน และเคมีภัณฑ์
5. ธุรกิจอาหาร
6. ธุรกิจขายสินค้าทั่วไป และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
7. ธุรกิจ ICT และการเงิน
8. กลุ่มธุรกิจใหม่ รวมถึงเครือข่ายร้านค้าสะดวกซื้อ อย่าง FamilyMart ด้วย
กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่นำสินค้าเข้ามาขายในญี่ปุ่น แบบ ITOCHU มีชื่อเรียกว่า Sogo Shosha ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
เนื่องจากญี่ปุ่นมีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด จึงต้องมีธุรกิจ Sogo Shosha เป็นตัวกลางจัดหาสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขาย
นอกจาก ITOCHU แล้ว ในกลุ่ม Sogo Shosha เองก็ยังมีบริษัท Mitsubishi, Mitsui & Co., Sumitomo และ Marubeni ที่คอยทำหน้าที่จัดหาสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน
จุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่ม CP เข้ามาถือหุ้นใน ITOCHU คือตอนที่ CP เข้าลงทุนในบริษัท Ping An Insurance Group กลุ่มบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดของจีนในปี 2013 
ในตอนนั้นผู้บริหารของ Ping An ต้องการแนะนำให้เจ้าสัวธนินท์ รู้จักกับคุณ Masahiro Okafuji ประธานบริษัท ITOCHU ในเวลานั้น
เมื่อเจ้าสัวธนินท์ ตรวจสอบประวัติของคุณ Okafuji ก็รู้สึกทึ่งกับความสามารถของคุณ Okafuji มาก
เพราะในเวลานั้นกลุ่มบริษัท Sogo Shosha ของญี่ปุ่น ต่างถอดใจกับธุรกิจสิ่งทอกันหมดแล้ว เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่สร้างผลกำไรให้บริษัท
แต่คุณ Okafuji กลับสามารถทำกำไรในธุรกิจสิ่งทอเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ ITOCHU ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับธุรกิจของกลุ่ม CP เท่าไรนัก เจ้าสัวธนินท์ จึงไม่ได้พบกับคุณ Okafuji เสียที
จนเวลาผ่านมาเกือบครึ่งปี เจ้าสัวธนินท์ มีโอกาสบินไปทำธุรกิจที่ญี่ปุ่น เขาจึงถือโอกาสเข้าพบคุณ Okafuji ด้วย
และในวันเดียวกันนั้นเอง เจ้าสัวธนินท์ ก็เป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้น ITOCHU ในสัดส่วน 10% 
แต่สุดท้ายก็ตกลงกันว่ากลุ่ม CP จะถือหุ้นใน ITOCHU ประมาณ 4.9% ส่วน ITOCHU จะถือหุ้นในบริษัท C.P. Pokphand ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง 25%
ซึ่งบริษัท C.P. Pokphand ในตลาดหุ้นฮ่องกง คือบริษัทย่อยของ CPF ซึ่งทำธุรกิจเกษตร และอาหารในประเทศเวียดนาม และจีน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในวันที่เจ้าสัวธนินท์ ตัดสินใจแลกหุ้น C.P. Pokphand กับ ITOCHU วันนั้นราคาหุ้น ITOCHU มีราคาอยู่ที่ 1,300 เยนต่อหุ้นเท่านั้น 
แต่ในวันนี้ราคาหุ้น ITOCHU มีราคาหุ้นไม่ต่ำกว่า 7,000 เยน..
เวลาล่วงเลยผ่านมาจนถึงปี 2020 Berkshire Hathaway ของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัท Sogo Shosha ของญี่ปุ่นพร้อมกันถึง 5 แห่ง
คือ ITOCHU, Marubeni, Mitsubishi, Mitsui & Co. และ Sumitomo โดยเข้าถือหุ้นบริษัทละ 5%
พร้อมกับประกาศว่าจะเข้าซื้อหุ้นในบริษัทเหล่านี้สูงสุดไม่เกิน 9.9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดในแต่ละบริษัท
โดยคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยพูดถึงการเข้ามาลงทุนในกลุ่ม Sogo Shosha ทั้ง 5 บริษัทของญี่ปุ่น ว่าเป็นการลงทุนระยะยาว และยังเชื่อมั่นในอนาคตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่
นอกจากนี้บริษัททั้ง 5 แห่ง ยังมีการลงทุนออกไปยังหลายประเทศทั่วโลกอีกด้วย
Berkshire Hathaway เข้ามาซื้อหุ้นของ ITOCHU เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ ITOCHU คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 7.5% 
ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 ก็คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากกลุ่ม CP จากเมืองไทย ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 4.5%
ปัจจุบัน ITOCHU มีมูลค่าบริษัท 2.6 ล้านล้านบาท เมื่อคิดจากสัดส่วนการถือหุ้นแล้ว Berkshire Hathaway มีหุ้น ITOCHU คิดเป็นมูลค่าประมาณ 198,349 ล้านบาท
ส่วนกลุ่ม CP จะมีหุ้น ITOCHU คิดเป็นมูลค่าประมาณ 118,726 ล้านบาท
แม้ทั้ง Berkshire Hathaway และกลุ่ม CP จะมีเหตุผลในการเข้าลงทุนใน ITOCHU แตกต่างกัน
แต่ผลการดำเนินงานของ ITOCHU ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ตัดสินใจถูก ที่มาถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้ร่วมกัน
- ปี 2021 รายได้ 2,433,939 ล้านบาท กำไรสุทธิ 94,287 ล้านบาท
- ปี 2022 รายได้ 2,887,420 ล้านบาท กำไรสุทธิ 192,662 ล้านบาท
- ปี 2023 รายได้ 3,275,503 ล้านบาท กำไรสุทธิ 188,023 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นจากช่วงที่มีโรคระบาด ผลประกอบการของ ITOCHU ก็กลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
และผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ก็ส่งผลทำให้ราคาหุ้นของ ITOCHU ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงปี 2020 ถึง 350%
จนกลายเป็นหุ้นที่สร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง Berkshire Hathaway ของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ และกลุ่ม CP ของเจ้าสัวธนินท์ ได้อย่างงดงาม..
#สรุปธุรกิจ 
#หุ้นนอก 
#เจ้าสัวซีพี
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.