สรุปความแตกต่าง LTF และ SSF ในวันที่ตลาดหุ้นไทย ต้องการตัวช่วย
13 พ.ค. 2024
หนึ่งในประเด็นร้อนของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ นั่นคือ กระแสข่าว “การจะนำกองทุน LTF กลับมา”
โดยกองทุน LTF ย่อมาจาก Long Term Equity Fund หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว
เป็นกองทุนลดหย่อนภาษี แต่ถูกยกเลิกไปในช่วงสิ้นปี 2562
ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยกองทุนลดหย่อนภาษีรูปแบบใหม่ นั่นคือ กองทุน SSF
ซึ่ง SSF ย่อมาจาก Super Savings Fund หรือ กองทุนเพื่อการส่งเสริมการออมระยะยาว
แล้วกองทุน LTF แตกต่างกับ SSF อย่างไร
เพราะอะไรถึงมีแนวความคิดที่จะนำกองทุน LTF กลับมา ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ทั้งกองทุน LTF และ SSF ต่างก็เป็นกองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ซื้อกองทุน ให้สามารถนำเงินที่ซื้อ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
ซึ่งกองทุนลดหย่อนภาษีทั้ง 2 กองทุนนี้ไม่ได้มีแค่ชื่อ
กองทุนที่แตกต่างกันเท่านั้น
แต่ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ข้อหลัก ๆ คือ
1. การลดหย่อนภาษี
- กองทุน SSF ซื้อได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้ต่อปี และไม่เกิน 200,000 บาท
และเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีระยะเวลาการถือครอง 10 ปี นับแบบวันชนวัน
โดยกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ที่ถ้าหากนำ SSF ไปนับรวมแล้ว ห้ามเกิน 500,000 บาท ได้แก่
กองทุน RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., กอช., กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และประกันชีวิตแบบบำนาญ
- กองทุน LTF ซื้อได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้ต่อปี และไม่เกิน 500,000 บาท
โดยไม่ต้องนำไปรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ และมีระยะเวลาการถือครอง 7 ปีปฏิทิน
ซึ่งถ้าเราซื้อกองทุนตอนปลายปีที่ 1 และไปขายตอนต้นปีที่ 7 ก็เท่ากับว่า มีระยะเวลาถือครองแค่ 5 ปีเศษ
จะเห็นว่ากองทุน SSF ปรับลดเพดานจำนวนเงินที่สามารถซื้อได้ ให้ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด
จากเดิมที่สามารถซื้อกองทุน LTF สูงสุด 500,000 บาท และกลุ่มการเกษียณอื่น ๆ อีก 500,000 บาท รวมเป็นซื้อได้สูงสุด 1,000,000 บาท
ลดลงมาเหลือเพียงกองทุน SSF รวมกับกลุ่มการ
เกษียณอื่น ๆ ได้สูงสุด 500,000 บาทเท่านั้น
2. นโยบายการลงทุน
- กองทุน SSF ลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นต่างประเทศล้วน, หุ้นไทยล้วน, ตราสารหนี้ หรือแม้แต่สินทรัพย์ทางเลือกอย่าง ทองคำ
- กองทุน LTF ลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก ไม่ต่ำกว่า 65% และ 35% ลงทุนในตราสารอื่น ๆ
จะเห็นว่า เงินลงทุนของกองทุน SSF ไม่ได้ถูกบังคับ
ให้ลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก ซึ่งต่างจากกองทุน LTF
ส่งผลทำให้มีเม็ดเงินใหม่ ๆ ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยน้อยลง
ในช่วงที่มีกองทุน LTF อยู่ ในแต่ละปีจะมีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยจำนวนมาก
ปี 2558 จำนวน 6.37 หมื่นล้านบาท
ปี 2559 จำนวน 5.87 หมื่นล้านบาท
ปี 2560 จำนวน 6.45 หมื่นล้านบาท
ปี 2561 จำนวน 7.66 หมื่นล้านบาท
ปี 2562 จำนวน 7.40 หมื่นล้านบาท
ซึ่งในปัจจุบัน นอกจากจะไม่มีเม็ดเงิน LTF ใหม่ ๆ
เข้ามาแล้ว ยังมีเม็ดเงิน LTF คงค้างเก่า ๆ ที่ถูกทยอยไถ่ถอนออก เพราะครบกำหนดเรื่อย ๆ
เห็นได้จากข้อมูลการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุน ในช่วงเดือนมกราคม ปี 2564 - เมษายน ปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่กองทุน LTF ถูกยกเลิกไป
นักลงทุนสถาบัน ขายหุ้นสุทธิ 1.56 แสนล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติ ขายหุ้นสุทธิ 1.03 แสนล้านบาท
นักลงทุนรายย่อย ซื้อหุ้นสุทธิ 2.60 แสนล้านบาท
นักลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อหุ้นสุทธิ 296 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า กลุ่มนักลงทุนที่ขายหุ้นไทยมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือ นักลงทุนสถาบัน
ซึ่งนักลงทุนสถาบัน ก็คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่บริหารจัดการกองทุน LTF ให้กับนักลงทุนนั่นเอง
ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน มีมูลค่าการซื้อขาย
ที่เบาบางมาก จากกำลังซื้อของนักลงทุนสถาบันที่
ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
จึงทำให้หลาย ๆ ฝ่ายมีความคิดที่จะนำกองทุน LTF กลับมา เพราะหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดหุ้นไทยกลับมามีบรรยากาศการลงทุนที่คึกคักได้อีกครั้ง
ซึ่งก็ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก เพราะหากกองทุน LTF กลับมา ในมุมของตลาดหุ้น ก็มีข้อดีที่อาจได้เม็ดเงินใหม่ ๆ ไหลกลับเข้ามา ปีละ 50,000-70,000 ล้านบาท
แต่เม็ดเงินเหล่านั้นจะกลับมาจริงหรือไม่ เพราะผู้ซื้อกองทุน LTF ที่เคยเจ็บมาแล้ว จากการที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ผ่านมาเป็นสิบ ๆ ปีกลับไม่ไปไหน
ก็คงจะคิดหนัก เมื่อเห็นกองทุน LTF กลับมาเปิดให้ลงทุนอีกครั้ง
ตรงนี้เองเป็นโจทย์สำคัญ ว่าจะทำอย่างไรให้คนบางส่วนที่เข็ดขยาดกับกองทุน LTF ไปแล้ว กลับมาสนใจได้อีกครั้ง
สุดท้ายแล้ว ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า กองทุน LTF จะได้กลับมาไหม หรือกองทุน SSF จะได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขอะไรอีกหรือเปล่า
และถ้าหากกองทุน LTF ถูกชุบชีวิตกลับขึ้นมาอีกครั้งจริง ๆ จะช่วยปลุกให้ตลาดหุ้นไทย กลับมาคึกคักเหมือนในวันวาน ได้อีกครั้งหรือไม่..
References: