PVD เครื่องมือสร้างความมั่งคั่ง 2 เด้ง ของมนุษย์เงินเดือน

PVD เครื่องมือสร้างความมั่งคั่ง 2 เด้ง ของมนุษย์เงินเดือน

25 พ.ย. 2024
ถ้าหากเรากำลังซื้อกองทุนเดือนละ 2,000 บาทอยู่ แล้วมีคนบอกว่า เขาจะให้เงินเราซื้อกองทุนเพิ่มอีก 2,000 บาท ทุกเดือน เราจะเอาหรือไม่ ? 
อ่านแค่นี้หลาย ๆ คนก็คงมองว่าเป็นคำถามสิ้นคิด เพราะไม่ว่าใครก็อยากได้เงินเพิ่มอยู่แล้ว 
ซึ่งคำถามที่กล่าวไปข้างต้นก็คล้าย ๆ กับการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD นั่นเอง 
แต่ว่าในความเป็นจริงกลับไม่เป็นแบบนั้น เพราะหลายคนกลับมองข้ามการลงทุนใน PVD ไป เพราะมองว่าเอาเงินไปลงทุนเองดีกว่า หรือไม่ก็รู้สึกยุ่งยากที่จะลงทุน 
แต่อันที่จริงแล้ว การลงทุนใน PVD นั้นมีประโยชน์กว่าที่เราคิดมาก และควรจะเป็นตัวเลือกที่ไม่ว่ามนุษย์เงินเดือนคนไหนก็ไม่ควรปฏิเสธเลย 
แล้วการลงทุนใน PVD จะมีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เงินที่เข้าไปเติมในกองทุน PVD จะมาจาก 2 ทางก็คือ 
- เงินสะสม ซึ่งเป็นเงินที่เราหักจากเงินเดือนไปลงทุน PVD ตามแผนที่เราเลือกไว้ โดยส่วนใหญ่ เราสามารถเลือกหักจากเงินเดือนเป็นสัดส่วนได้ตั้งแต่ 2% ถึง 15% 
- เงินสมทบ เป็นเงินที่บริษัทจะสมทบให้เราลงทุนใน PVD โดยส่วนใหญ่ บริษัทก็จะสมทบเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 2% ถึง 15% ของเงินเดือน เช่นเดียวกัน  
แล้วการลงทุนใน PVD จะช่วยสร้างผลตอบแทนให้เราถึง 2 เด้งได้อย่างไร ? 
แน่นอนว่าผลตอบแทนในส่วนแรกของ PVD นั้น ก็คือการทำให้เงินลงทุนของเราเติบโต  
ถ้าสมมติว่า ตอนนี้คุณหนิง อายุ 23 ปี มีเงินเดือน 18,000 บาท และมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 5% พร้อมหักเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5% ของเงินเดือนไปตลอด ซึ่งทางบริษัทก็สมทบ 5% ของเงินเดือนเหมือนกัน 
โดยแผนการลงทุน PVD ของคุณหนิงคือลงทุนในกองทุนหุ้นโลก 100% ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8% 
จะทำให้เมื่อวันที่คุณหนิงเกษียณ เธอจะมีมูลค่าผลตอบแทนรวมเงินต้นอยู่ที่ 9,717,826 บาท โดยเงินสะสมที่คุณหนิงหักไปลงทุนซึ่งเป็นเงินต้น จะอยู่ที่ 1,163,263 บาท เท่านั้น
จะเห็นได้ว่าการลงทุนใน PVD ทำให้เงินของเราเติบโตได้มหาศาลมาก เมื่อเทียบกับเงินที่เราลงทุนไป
ในทางกลับกัน ถ้าหากคุณหนิงหักเงินเดือน 5% ไปลงทุน ในกองทุนหุ้นโลก 100% ด้วยตัวเอง โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8% และเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 5% เหมือนเดิม
เมื่อถึงวันเกษียณ คุณหนิงจะมีมูลค่าผลตอบแทนรวมเงินต้นอยู่ที่ 4,406,327 บาท ซึ่งคิดเป็นเงินต้นที่คุณหนิงลงทุนไปเท่ากับ 1,163,263 บาท เท่ากัน 
แต่ผลตอบแทนกลับได้น้อยกว่ากันถึงประมาณ 2 เท่าเลยทีเดียว..
ทีนี้มาถึงผลตอบแทนอีกอย่างหนึ่ง ที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป สำหรับการลงทุน PVD นั่นก็คือ สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีนั่นเอง 
โดยทางกรมสรรพากรได้กำหนดไว้ว่า เราสามารถนำเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ 
และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุน RMF, กองทุน SSF และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท 
ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างกันดูว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ช่วยเราประหยัดภาษีได้มากแค่ไหน ลองมาดูอีกตัวอย่าง
สมมติว่าคุณวิน มีเงินเดือนประมาณ 50,000 บาท และมีรายได้จากเงินเดือนทางเดียว แถมไม่มีครอบครัว 
โดยคุณวินไม่ได้ซื้อประกันหรือกองทุนลดหย่อนภาษีเลย มีแค่หักเงินเดือนสมทบใน PVD เต็มที่ 15% 
ค่าลดหย่อนของคุณวิน จึงประกอบไปด้วย 
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- เงินสมทบประกันสังคม 7,200 บาท
- เงินสมทบ PVD 90,000 บาท
จากสูตร เงินได้สุทธิ = รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน จะทำให้คุณวินมีเงินได้สุทธิสำหรับนำไปคำนวณภาษี เท่ากับ 
เงินได้สุทธิ = 600,000 - 100,000 - (60,000 + 7,200 + 90,000) = 342,800 บาท 
เงินได้สุทธิของคุณวินอยู่ในขั้นเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีที่อัตราภาษี 10% ทำให้ภาษีที่คุณวินจะต้องเสีย เท่ากับ 
ภาษีที่ต้องจ่าย = [(342,800 - 300,000) x 0.10] + 7,500 = 11,780 บาท 
แต่ถ้าคุณวินไม่ได้ลงทุนใน PVD เลย จะทำให้เงินได้สุทธิเพิ่มขึ้นมาเป็น 432,800 บาท และภาษีที่คุณวินจะต้องจ่าย เท่ากับ 
ภาษีที่ต้องจ่าย = [(432,800 - 300,000) x 0.10] + 7,500 = 20,780 บาท
จากทั้ง 2 ตัวอย่าง เราก็น่าจะเห็นถึงประโยชน์ และความสำคัญของ PVD กันไม่มากก็น้อย 
ด้วยประโยชน์ที่สำคัญมหาศาลขนาดนี้ แต่จากรายงานการดำเนินงานและการกำกับดูแลการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.   
ได้แสดงให้เห็นว่า นายจ้างหรือบริษัทที่มี PVD ให้พนักงาน คิดเป็นเพียงแค่ 4.5% ของจำนวนนายจ้างทั้งหมดในไทยเท่านั้น หรือก็คือใน 100 บริษัท เราจะเจอบริษัทที่มี PVD ประมาณ 5 บริษัทเท่านั้น 
เพราะฉะนั้น การที่บริษัทที่เราทำงานอยู่ มี PVD ให้ลงทุนแบบนี้ เราก็ควรใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ ซึ่งน้อยคนนักจะมี มาช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับเราต่อไป..  
#วางแผนการเงิน
#TaxFest2024
#ภาษีนี้มีแต่ได้
References 
-สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. (2567). รายงานการดำเนินงานและการกำกับดูแลการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2567
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.