สรุป 5 บทเรียนการเงิน การลงทุน จากการ์ตูน โดราเอมอน

สรุป 5 บทเรียนการเงิน การลงทุน จากการ์ตูน โดราเอมอน

27 ส.ค. 2024
#วางแผนการเงิน #หลักการวางแผนการเงิน #โดราเอมอน
โดราเอมอน คงเป็นการ์ตูนวัยเด็กของใครหลาย ๆ คน 
ที่ยังดูมาจนถึงตอนนี้ 
แต่อันที่จริงแล้ว นอกจากความสนุก โดราเอมอน ยังสอดแทรกแนวคิด ผ่านตัวละครในเรื่องมากมาย ตั้งแต่การใช้ชีวิต ไปจนถึงเรื่องการเงินอีกด้วย
แล้วบทเรียนการเงินที่ว่ามีอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
1. “การแบ่งเงินเป็นก้อน ๆ ตามค่าใช้จ่ายรายเดือน”
ถ้าเราลองสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า แม่โนบิตะมักเก็บเงินที่ได้มาจากพ่อโนบิตะ ใส่ซองแยกไว้จ่ายค่าต่าง ๆ เช่น ค่าหนังสือพิมพ์, ค่าเช่าบ้าน, ค่าขนม หรือค่าเดินทาง 
ซึ่งการทำแบบนี้ ทำให้แม่โนบิตะรู้ว่าต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง และรู้ว่าสถานะทางการเงินในบ้านตอนนี้เป็นอย่างไร 
ทำให้บางครั้ง แม่โนบิตะก็ปฏิเสธไม่ให้ค่าขนมโนบิตะเพิ่ม หรือสั่งลดค่าขนมและค่าอาหารของคนในครอบครัว เพราะรู้ว่าเดือนนี้ค่าใช้จ่ายอาจจะมากเป็นพิเศษ 
วิธีแบบนี้ ก็คล้ายกับเทคนิคการแบ่งเงินเป็นก้อน ๆ ของคุณลี กาชิง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ที่แบ่งเงินแต่ละเดือนออกเป็น 5 ก้อน ตั้งแต่การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการลงทุนเพิ่มเติม 
หรือกฎ 3-6-9 ที่บอกว่าเราควรมีเงินฉุกเฉินสำหรับค่าใช้จ่าย 3 เดือน ถ้ามีภาระ เช่น ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ต้องมีเงินเผื่อ 6 เดือน ส่วนเจ้าของธุรกิจ ก็ควรเผื่อเงินอย่างน้อย 9 เดือน 
ซึ่งปัจจุบัน เราก็สามารถใช้เทคนิคนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะมีแอปพลิเคชันมากมาย ให้เราแบ่งเงินและจัดการค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนอย่างสะดวกมากขึ้น 
2. “การซื้อของลดราคา”
บ่อยครั้ง เรามักเห็นแม่โนบิตะหักห้ามใจที่จะซื้อของใช้หรือของกินที่มีราคาแพง แต่ถ้าเมื่อไรที่เจอกับของลดราคา แม่ของโนบิตะก็จะซื้อของนั้นมาโดยทันที 
ซึ่งวิธีนี้ ก็ช่วยให้เราประหยัดเงินได้มากขึ้น แถมในบางครั้งยังเตือนใจให้เราคิดอีกครั้ง ว่าอยากซื้อหรืออยากได้ของนั้นจริง ๆ หรือเปล่า 
โดยเราอาจใช้วิธีเหมือนแม่โนบิตะ ที่ชอบจดรายการก่อนออกไปซื้อของ เพื่อเป็นการแยกระหว่างสิ่งของที่จำเป็น และสิ่งของที่อยากได้ออกจากกัน ซึ่งจะช่วยให้เราโฟกัสกับการใช้เงินได้มากยิ่งขึ้น
3. “มหัศจรรย์พลังของเงินเฟ้อ”
ในตอนหนึ่ง โนบิตะได้เงิน 10,000 เยนจากญาติ แล้วเอาเงินไปซื้อของที่อยากได้ทันที แต่ก่อนจะออกไป ก็ได้ยินพ่อกับแม่บ่นว่า สมัยนี้เงิน 10,000 เยน ซื้อของได้นิดเดียว
โนบิตะเลยขอยืมตู้โทรศัพท์สมมติ ให้เงินตัวเองมูลค่าเท่าเดิม แต่เงินในโลกสมมติมูลค่าน้อยลง ซึ่งส่งผลให้โนบิตะกลายเป็นเศรษฐีในพริบตา
เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นได้ดีถึงพลังของเงินเฟ้อ ที่คอยกัดกินมูลค่าเงินของเราในอนาคต หรือพูดอีกอย่างคือ เงินที่เรามีในปัจจุบัน มีมูลค่าน้อยลงในอนาคตนั่นเอง 
อย่างไรก็ตามโลกนี้มีนวัตกรรมที่เรียกว่า “การลงทุน” ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเงินของเรา เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อในอนาคตผ่านหุ้น, กองทุน, พันธบัตร, ตราสารหนี้ และอื่น ๆ อีกมากมาย 
โดยเราก็สามารถใช้กฎ 100-อายุ เพื่อจัดสัดส่วนการลงทุนแบบง่าย ๆ ได้ โดยคำตอบที่ได้จากการนำเลข 100 มาลบกับอายุในปัจจุบัน คือสัดส่วนที่เราควรลงทุนในหุ้น ส่วนที่เหลือ ก็นำไปลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ได้ 
4. “การออมเงินเป็นสิ่งสำคัญ”
โนบิตะได้เงินพิเศษในวันขึ้นปีใหม่ เลยเอาเงินไปใส่กระปุกออมสินไว้ แต่สุดท้ายก็ไปทุบกระปุกออมสิน จนต้องขอให้โดราเอมอน เอากระปุกแบบพิเศษมาให้
แต่ไม่ว่ากระปุกออมสินเหล่านั้นจะพิเศษขนาดไหน ทว่าสุดท้ายโนบิตะก็หาทางเอาเงินออกมาใช้ได้อยู่ดี 
ทำให้โดราเอมอน ต้องใช้ของวิเศษอย่าง “เครื่องสร้างกระปุกออมสินมนุษย์” และนำเงินของโนบิตะไปฝากไว้ในปากของแม่ 
แต่ในตอนจบแม่ของโนบิตะ ก็เผลอพูดคำที่เป็นรหัสผ่านออกมา เลยได้เงินที่โนบิตะฝากไว้ในปากของแม่ไปทั้งหมด
ตอนนี้ ดูเพลิน ๆ ก็สนุกดี แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นบทเรียนที่ดี นั่นคือ การออมเงินเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องทำ และต้องหักห้ามใจไม่ให้เอาเงินตรงนี้ออกมาใช้ 
ซึ่งโดยทั่วไป เงินออมจะหักออกมาเป็น 10% ของเงินที่เราได้มาในแต่ละเดือน แต่ก็อาจจะหักออกมาออมมากกว่านี้ก็ได้ ถ้าไม่เดือดร้อนกับตัวเองมากเกินไป 
และเงินออมตรงนี้ เราก็สามารถนำเงินไปต่อยอดได้ผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อให้มูลค่างอกเงยได้ แต่สิ่งสำคัญตั้งแต่แรก นั่นคือ เราต้องมีเงินออมไว้ก่อน 
และบทเรียนสุดท้าย 
“อคติการมองย้อนหลัง”
บ่อยครั้งที่โนบิตะมักบ่นอยู่ตลอดเวลาว่า ทำไมครอบครัวตัวเองไม่เกิดมาร่ำรวย เลยพยายามนั่งไทม์มาชีน กลับไปแก้ประวัติศาสตร์ของพ่อแม่ หรือบรรพบุรุษอยู่เสมอ 
แต่สุดท้าย โนบิตะเองก็ไม่มีทางรู้เลยว่า แก้ไขไปแล้ว ครอบครัวตัวเองจะร่ำรวยขึ้นมาจริง ๆ หรือไม่ เพราะโนบิตะกำลังเกิดอคติการมองย้อนหลัง หรือ Hindsight Bias 
ซึ่งก็คือ การที่เรากลับไปคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตว่า ถ้าทำสิ่งที่แตกต่างออกไป ปัจจุบันคงจะดีกว่านี้
เรื่องนี้ใครที่เคยลงทุนน่าจะนึกออก เพราะมันคือคำพูดคลาสสิกอย่าง “รู้งี้” ที่เรามักจะชอบพูดหลังเห็นหุ้นวิ่งไปคนละทาง จากสิ่งที่เราคิดไว้ 
เช่น รู้งี้น่าจะซื้อบิตคอยน์ไว้ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว หรือ รู้งี้ไม่น่าไปซื้อหุ้นตัวนั้นให้ติดดอยเลย 
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้นอกจากทำให้เราเสียใจ จากความเสียดายเวลาที่ผ่านมาแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยให้การลงทุนของเราดีขึ้นเลย 
แต่สิ่งที่เราควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงอคติตรงนี้ก็คือ การเก็บประสบการณ์นี้ไว้เป็นบทเรียน และหันไปโฟกัสการลงทุนในปัจจุบัน ว่าจะส่งผลกับอนาคตอย่างไรมากกว่าแทน 
ถึงตรงนี้ จะเห็นว่าการ์ตูนโดราเอมอนที่เราดูกันตอนเด็ก 
สอดแทรกแนวคิดทางการเงิน และการลงทุนมากมาย โดยที่เราเอง ก็อาจไม่ทันสังเกต
แถมบทเรียนการเงินเหล่านี้ ที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องโดราเอมอน ก็ยังใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัยอีกด้วย..
References
- โดราเอมอน ตอน กระปุกออมสินมนุษย์
- โดราเอมอน ตอน อภิมหาเศรษฐีโนบิตะ 
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.