รู้จัก TURTLE เจ้าของร้านสะดวกซื้อ และพื้นที่เช่าบนบีทีเอส ที่อยู่ในตลาดหุ้น | MONEY LAB
1 เม.ย. 2024
ผู้ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว คงจะเคยเห็น “ร้าน Turtle” ร้านสะดวกซื้อ ที่อยู่บนสถานีบีทีเอสหลาย ๆ สถานี
แล้วรู้หรือไม่ว่า นอกจากร้านสะดวกซื้อแล้ว บริษัทนี้ยังเป็นเจ้าของพื้นที่เช่าบนสถานีบีทีเอส อีกหลายแห่งด้วย
เจ้าของร้าน Turtle คือใคร และทำธุรกิจอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เจ้าของร้าน Turtle คือ บมจ.ซุปเปอร์ เทอร์เทิล หรือ TURTLE ซึ่งบริษัทนี้ก็อยู่ในตลาดหุ้นด้วย
หลายคนอาจจะสงสัยว่า TURTLE เข้ามาในตลาดหุ้นตั้งแต่ตอนไหน ?
จริง ๆ แล้วชื่อเดิมของ TURTLE คือ บมจ.เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ หรือ NINE ที่ประกอบธุรกิจเดิมคือ สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์
ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น TURTLE ในปี 2566 ที่ผ่านมา
โดย TURTLE มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บมจ.วีจีไอ หรือ VGI
ในขณะที่ VGI ก็มี BTS ถือหุ้นอยู่ 31%
จากความสัมพันธ์นี้ เราก็จะเห็นว่า TURTLE สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจในเครือ BTS ได้
โดยในปี 2566 TURTLE มีรายได้รวม 556 ล้านบาท ซึ่งมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้
1. ธุรกิจค้าปลีก
มีรายได้ 228 ล้านบาท คิดเป็น 41.0%
ธุรกิจค้าปลีกในที่นี้ก็คือ ร้านสะดวกซื้อ “Turtle” ซึ่งเปิดสาขาแรกอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าเซนต์หลุยส์ ในปี 2564
แต่ปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นร้าน Turtle ได้บนสถานีรถไฟฟ้าทั้งหมด 20 สาขา ใน 19 สถานี
โดยที่สถานีสยาม มีร้าน Turtle อยู่ถึง 2 สาขา
2. ธุรกิจพื้นที่ให้เช่าเชิงพาณิชย์
มีรายได้ 241 ล้านบาท คิดเป็น 43.4%
โดย TURTLE ได้สิทธิการเข้ามาบริหารพื้นที่เช่าบนบีทีเอสสายสีเขียวทั้ง 31 สถานี ที่มีพื้นที่ให้เช่ากว่า 7,000 ตารางเมตร แต่เพียงผู้เดียว
ซึ่งผู้เช่าพื้นที่หลัก ๆ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นกิจการร่วมค้าและบริษัทในเครือ เช่น
- Jaymart ร้านขายอุปกรณ์ไอที ที่ถือหุ้น 9.8% ใน TURTLE
- Kerry ผู้ให้บริการส่งพัสดุ ที่มี VGI และ BTS ถือหุ้นรวมกัน 21.2%
- Hibox ตู้ล็อกเกอร์อัจฉริยะ ที่เกิดจากการจับมือกันระหว่าง Kerry Express ประเทศไทย กับบริษัท Hive Box ผู้ให้บริการสมาร์ตล็อกเกอร์ในประเทศจีน
- SuperRich Turtle ร้านแลกเงิน ที่เกิดจากการจับมือกันระหว่าง TURTLE กับบริษัท SuperRich 1965
3. ธุรกิจสิ่งพิมพ์และหนังสือ
มีรายได้ 87 ล้านบาท คิดเป็น 15.6%
ประกอบด้วยสิ่งพิมพ์ประเภทพ็อกเกตบุ๊ก และสิ่งพิมพ์สําหรับเยาวชน ทั้งในแบบรูปเล่มและอีบุ๊ก
โดยพ็อกเกตบุ๊กก็จะดำเนินการ ภายใต้สำนักพิมพ์ “เนชั่นบุ๊คส์” ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจพื้นที่ให้เช่าเชิงพาณิชย์ ที่มีสัดส่วนรวมกันกว่า 84% ของ TURTLE นั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส
สำหรับตัวเลขผู้โดยสารเฉลี่ย สายสีเขียวเส้นหลัก ในปี 2566 คือ 520,000 คนต่อวัน
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทั้ง 2 ธุรกิจนี้ จะมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา นั่นคือ
- สาขาของร้าน Turtle เพิ่มขึ้นจาก 3 สาขาเมื่อปี 2565 มาเป็น 20 สาขาในปี 2566
- อัตราการเช่าพื้นที่บนสถานีรถไฟฟ้า ก็เพิ่มขึ้นจาก 34% ในปี 2565 มาเป็น 56% ในปี 2566
รวมถึงทั้ง 2 ธุรกิจ ก็ยังมีโอกาสเติบโตไปตามรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลัก ทั้ง 31 สถานี ในปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ แต่ TURTLE นั้นมีข้อได้เปรียบ จากอีโคซิสเต็มของบริษัทในเครือ และผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว หลักหลายแสนคนต่อวัน
ก็เป็นที่น่าติดตามว่า TURTLE นั้นจะสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ เพื่อเติบโตได้อีกมากน้อยแค่ไหน..
References
-คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สิ้นปี 2566 บริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จำกัด (มหาชน)
-รายงานประจำปี 2566 บริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จำกัด (มหาชน)