ธนาคารพาณิชย์ หลายแห่งของคนไทย เกิดขึ้นได้ เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 | MONEY LAB

ธนาคารพาณิชย์ หลายแห่งของคนไทย เกิดขึ้นได้ เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 | MONEY LAB

24 ก.ย. 2024
เคยได้ยินทฤษฎี “ผีเสื้อขยับปีก” ไหม ?
ทฤษฎีนี้บอกว่า การกระทำสิ่งหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเป็นทอด ๆ
และผลลัพธ์สุดท้าย ก็อาจเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ๆ ในอนาคต..
เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้ว ในตอนที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกบุกไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเปลี่ยนโฉมหน้าระบบการเงินของไทยไปตลอดกาล
แล้วสงครามโลกครั้งที่ 2 กับธุรกิจธนาคารในไทย เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ คงต้องพาทุกคนย้อนเวลากลับไปก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และครั้งที่ 1 เลยด้วยซ้ำ
ในปี 2429 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยกำลังมีการลงทุนสร้างโครงข่ายรถไฟไปทั่วประเทศ
โดยรัฐบาลได้อนุมัติสัมปทานไปให้บริษัทเดนมาร์ก ในการก่อสร้างทางรถไฟสายแรก ระหว่างกรุงเทพฯ ถึงปากน้ำ ระยะทาง 21 กิโลเมตร
ธนาคารในยุโรปมองว่า เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ในยุคนั้นประเทศไทย ยังไม่มีธนาคารเลยสักแห่ง ธนาคารยุโรปจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในการจัดหาเงินกู้ยืม
โดยธนาคารต่างชาติที่เข้ามาเปิดสาขาธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในไทย คือ ธนาคาร HSBC ของอังกฤษ ในปี 2431
ต่อมาอีก 6 ปีให้หลัง ธนาคารชาร์เตอร์ด ซึ่งเป็นธนาคารอีกแห่งของอังกฤษ ก็เริ่มเข้ามาเปิดธนาคารพาณิชย์เป็นแห่งที่ 2 ของไทย
และตามมาด้วยธนาคารแห่งอินโดจีนของฝรั่งเศส เข้ามาเปิดธนาคารพาณิชย์ เป็นแห่งที่ 3 ในปี 2439
โดยในยุคนั้น ธนาคารต่างชาติที่มาทำธุรกิจในไทย ไม่ได้สนใจรับฝากเงินให้คนไทยแม้แต่น้อย แต่เข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจต่างชาติ ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยเท่านั้น
เช่น การจัดหาแหล่งเงินกู้ยืม และการค้าเงินตราต่างประเทศ
กว่าคนไทยจะเริ่มคุ้นเคยกับการใช้บริการธนาคาร ก็คือปี 2449 ซึ่งมีการก่อตั้งแบงก์สยามกัมมาจล หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในปัจจุบัน
แม้ธนาคารไทยพาณิชย์ จะถูกก่อตั้งโดยพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย แต่ก็มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นชาวตะวันตก และชาวจีน เช่น..
- ธนาคารแห่งชาติเยอรมนี ถือหุ้น 11%
- ธนาคารแห่งชาติเดนมาร์ก ถือหุ้น 8%
- กลุ่มคหบดีจีน 17%
ส่วนกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ผู้ก่อตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ และกรมพระคลังข้างที่ รวมถึงข้าราชการไทยคนอื่น ๆ ถือหุ้นรวมกันประมาณ 42%
ทำให้ตอนนั้นถ้าเราบอกว่า ธุรกิจธนาคารไทย กับกลุ่มทุนต่างชาติเป็นของคู่กัน ก็คงจะไม่ผิดนัก
แต่พอคนไทยเริ่มคุ้นชินกับการใช้บริการธนาคารมากขึ้น ธนาคารตะวันตกที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจลูกค้าคนไทย ก็เริ่มอยากหาลูกค้าเป็นคนไทยบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตามธนาคารตะวันตกหลายแห่ง มีพนักงานเป็นชาวต่างชาติ เพราะในยุคนั้นก็มีคนไทยไม่กี่คนที่สื่อสารกับชาวตะวันตกรู้เรื่อง
ธนาคารตะวันตกหลายแห่งจึงว่าจ้างพ่อค้าชาวจีน เพื่อทำหน้าที่เป็นล่าม และช่วยหาลูกค้ามาฝากหรือกู้เงินกับธนาคาร
พ่อค้าชาวจีนที่ทำงานกับธนาคารตะวันตกแบบนี้ ถูกเรียกว่า “คอมประโดร์”
ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่หาลูกค้าให้ธนาคารแล้ว คอมประโดร์ ยังต้องมีหน้าที่ค้ำประกันเงินกู้ให้ลูกค้าด้วย เพื่อเป็นการช่วยคัดกรองคุณภาพลูกหนี้ให้ธนาคารอีกชั้นหนึ่ง
ดังนั้นพ่อค้าชาวจีนที่เป็นคอมประโดร์ ก็ต้องเป็นคนมีทุนทรัพย์มากพอสมควร เพราะต้องวางเงินค้ำประกันเงินกู้ด้วย
ในยุคนั้นคนไทยจึงมีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือ ถ้าไม่ฝากเงินไว้กับธนาคารต่างชาติ ก็เหลือเพียงแค่ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารไทยเพียงแห่งเดียว
แต่เหตุการณ์ทุกอย่างกำลังพลิกผันไป แบบที่ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นึกไม่ถึง 
ในปี 2484 กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกบุกไทย ธนาคารต่างชาติในไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติศัตรูของญี่ปุ่น ต่างก็ปิดทำการ
จึงเกิดเป็นช่องว่างให้พ่อค้า คหบดีชาวจีน ที่เคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นคอมประโดร์ ให้ธนาคารต่างชาติ
เริ่มสร้างธนาคารพาณิชย์ขึ้นมาเป็นของตัวเอง 
เช่น ธนาคารกรุงเทพ ของกลุ่มโสภณพนิช หรือธนาคารกสิกรไทย ของตระกูลล่ำซำ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจไทยก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาตามลำดับ และผ่านช่วงเวลาสำคัญ ๆ มากมาย ที่มีผลทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต
ทั้งการเป็นฐานทัพให้สหรัฐอเมริกาทำสงครามเวียดนาม จนดึงดูดเงินทุนสนับสนุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 
ตามด้วยการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติบริเวณอ่าวไทย ในสมัยพลเอก เปรม จนถูกขนานนามว่าเป็นยุคโชติช่วงชัชวาลของเศรษฐกิจไทย
และการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือโครงการ Eastern Seaboard เพื่อสร้างอุตสาหกรรมหนักในไทย เช่น การผลิตยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี
ตอนนั้นหลายคนคาดการณ์กันว่า ไทย อาจกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย ตามหลังฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน
เมื่อเศรษฐกิจในประเทศเฟื่องฟูถึงขีดสุด ธุรกิจธนาคาร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบทุนนิยม ก็ได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ
คนทำงานสายการเงินในธนาคารใหญ่ ๆ ล้วนถูกยกให้เป็นอาชีพมนุษย์ทองคำ เพราะเป็นอาชีพที่ได้รับผลตอบแทนมหาศาล
แต่ทุกงานเลี้ยง ย่อมมีวันเลิกรา..
ในปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งขึ้น จากการกู้เงินจากต่างประเทศอย่างเกินตัว เพื่อมาเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์
มีการปิดสถาบันการเงินไปมากกว่า 50 แห่ง ส่วนธนาคารไทยที่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ ต่างก็ต้องเจ็บตัว มีการปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มทุนให้ต่างชาติมาถือหุ้นมากขึ้น
ทำให้เจ้าของธนาคารหลายแห่ง ต้องถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นลง เช่น ตระกูลล่ำซำ เคยถือหุ้นในธนาคารกสิกรไทยมากกว่า 50% ในปี 2513
พอเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเหลือเพียง 7% กลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยทันที
วิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 จึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารไทยในปัจจุบัน แทบจะไม่เจอผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เป็นคนไทยเลย
พอเรามองย้อนกลับไป ก็น่าสนใจดีที่ ธนาคารของคนไทยเกิดขึ้นมาได้ เพราะกลุ่มทุนต่างชาติปิดกิจการ หนีออกจากเมืองไทย เพราะการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น
ก่อนที่ในอีก 50 ปีต่อมา กลุ่มทุนต่างชาติก็กลับเข้ามาถือหุ้นในธนาคารใหญ่ ๆ ของไทยอีกครั้ง เพื่อต่อลมหายใจให้ธนาคารไทยหลายแห่ง ยังคงเปิดดำเนินการได้มาจนถึงทุกวันนี้
และถ้าหากเราลองจินตนาการเล่น ๆ กันต่อไปอีกว่า ถ้าวันนั้นญี่ปุ่นไม่บุกไทย 
วันนี้เราก็คงจะรับเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคาร HSBC แทนที่จะเป็นธนาคารกรุงเทพ หรือธนาคารกสิกรไทย อย่างในทุกวันนี้..
#ธุรกิจ
#หุ้นไทย
#ธนาคารไทย
References
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.