สแกนหุ้นปันผล ให้ครบทุกมิติ ด้วย Shareholder Yield | MONEY LAB
อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล หรือ Dividend Yield เป็นเหมือนลายแทงนำไปสู่หุ้นตัวที่ใช่ สำหรับนักลงทุนที่ชอบความมั่นคง จากหุ้นปันผล
สแกนหุ้นปันผล ให้ครบทุกมิติ ด้วย Shareholder Yield
11 มี.ค. 2024
อย่างไรก็ตาม การไล่ตามแต่เพียงปันผล ยังมีข้อเสียอยู่ตรงที่ว่า หุ้นหลายตัวที่จ่ายปันผลสูง มักจะเป็นบริษัทที่อิ่มตัวแล้ว และไม่เติบโต จนราคาหุ้นไม่ไปไหน
แถมยังทำให้วิสัยทัศน์ในการลงทุนของเรา แคบลงกว่าเดิม เพราะมองไม่เห็นว่าอันที่จริงแล้ว ตัวบริษัทนั้น สามารถสร้างผลตอบแทน ให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเรา ๆ ได้มากกว่าการจ่ายปันผลเพียงอย่างเดียว ได้หรือไม่
นั่นจึงทำให้ “Shareholder Yield” หรือ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของผู้ถือหุ้น เป็นสิ่งที่จะมาช่วยให้เราสแกนหุ้นปันผลที่เราสนใจ ให้ได้ครบทุกมิติมากยิ่งขึ้น
แล้ว Shareholder Yield คืออะไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
แนวคิดเรื่อง Shareholder Yield เกิดขึ้นจากคุณ William Priest ผู้เป็น CEO ของบริษัทบริหารทรัพย์สิน Epoch Investment Partners
โดยคุณ Priest มองว่า วิธีการที่บริษัทจะตอบแทนผู้ถือหุ้นได้ ไม่ได้มีเพียงแค่การจ่ายปันผลเป็นเงินสด คืนให้กับผู้ถือหุ้นเท่านั้น
แต่ยังประกอบไปด้วย การซื้อหุ้นคืน และการจ่ายเงินชำระหนี้ให้ลดลงด้วย
สำหรับการซื้อหุ้นคืนนั้น นอกจากนักลงทุนจะได้เงินสดคืน จากการที่บริษัทขอซื้อหุ้นคืนไปแล้ว
สิ่งที่นักลงทุนจะได้กลับมา ก็คือราคาหุ้นที่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องด้วยกำไรต่อหุ้นที่เพิ่มขึ้น จากจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดลดน้อยลง
สิ่งนี้เองก็จะเป็นส่วนช่วยเล็ก ๆ ไม่ให้เราต้องติดกับดักหุ้นปันผล ที่จ่ายปันผลมาก ๆ แต่ราคาไม่ไปไหน
เพราะอย่างน้อยถ้าบริษัทซื้อหุ้นคืนเพิ่มด้วย นอกจากจ่ายปันผลอย่างเดียว ก็มีโอกาสที่เราจะได้ผลตอบแทนจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น
ส่วนการที่บริษัทจ่ายชำระหนี้ให้ลดลง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องระหว่างบริษัทกับเจ้าหนี้ กลายเป็นผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้อย่างไรนั้น
เราต้องมาทบทวนกันก่อนว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นในบริษัท ก็คือ ส่วนต่างระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน ไม่ต่างอะไรกันกับความมั่งคั่งสุทธิ สำหรับบุคคลทั่วไป หรือ Net Worth
เพราะฉะนั้น การที่บริษัทจ่ายคืนหนี้ จนทำให้หนี้สินลดน้อยลง มูลค่าในส่วนของผู้ถือหุ้น หรือความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น ก็จะเพิ่มขึ้น
หรือถ้าหากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็คือ หนี้สินที่ลดลงนั้น ก็หมายถึงภาระดอกเบี้ยของบริษัทที่ลดลงตามไปด้วย
ผลกำไรในอนาคตของบริษัท ที่จะตกถึงมือของผู้ถือหุ้น จึงมีมากขึ้น เพราะไม่ต้องโดนหักด้วยดอกเบี้ยจำนวนมากไปก่อน
ทั้งหมดนี้เอง Shareholder Yield จึงคำนวณได้จากการนำ มูลค่าผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้ จาก 3 วิธีการตอบแทนผู้ถือหุ้นดังกล่าว ได้แก่
จำนวนเงินปันผลทั้งหมดที่บริษัทจ่ายการซื้อหุ้นคืนสุทธิ หาได้โดยนำ มูลค่าหุ้นที่บริษัทซื้อคืน ไปลบกับ มูลค่าหุ้นที่ออกใหม่หนี้สินที่ลดลงสุทธิ หาได้จากการนำ มูลค่าหนี้สินในปีที่แล้ว ไปลบกับ มูลค่าหนี้สินในปีนี้
จากนั้นก็นำทั้งหมด มาหารด้วยมูลค่าตามราคาตลาดของบริษัท หรือ Market Cap เพียงเท่านี้เราก็จะได้ตัวเลข Shareholder Yield ออกมาแล้ว
ถ้าหากยังไม่เห็นภาพ ก็ขอยกตัวอย่างสถานการณ์หนึ่ง ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
สมมติว่าในปี 2023 หุ้นของบริษัท A ซึ่งมีมูลค่าบริษัท 150,000 ล้านบาท, มีการจ่ายปันผลทั้งหมด 7,000 ล้านบาท, มีการซื้อหุ้นคืนสุทธิ 3,000 ล้านบาท และมีหนี้สินลดลง 1,000 ล้านบาท
ส่วนบริษัท B มีมูลค่าบริษัท 150,000 ล้านบาทเท่ากัน, มีการจ่ายปันผลทั้งหมด 5,500 ล้านบาท, มีการซื้อหุ้นคืนสุทธิ 5,000 ล้านบาท และมีหนี้สินลดลง 3,500 ล้านบาท
ถ้าหากเราดูเพียงแค่เงินปันผล จะเห็นได้ว่า หุ้นของบริษัท A มีความน่าสนใจกว่า ด้วย Dividend Yield ที่ 4.7% ในขณะที่หุ้นของบริษัท B มีเพียงแค่ 3.7% เท่านั้น
แต่ถ้าหากเราดูให้ครบทุกมิติด้วย Shareholder Yield แล้ว จะพบว่าอัตราผลตอบแทนของหุ้นบริษัท B นั้น น่าดึงดูดใจกว่ามาก
ด้วยตัวเลข Shareholder Yield ที่มากถึง 9.3% ในขณะที่หุ้นบริษัท A จะอยู่ที่ 7.3%
แล้วการลงทุนในหุ้นที่มี Shareholder Yield สูง ๆ ให้ผลตอบแทนดีแค่ไหน ?
ผลงานวิจัยของคุณ Wesley R. Gray และคุณ Jack Vogel จากมหาวิทยาลัย Drexel University ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า
ถ้าหากลงทุนในหุ้นสหรัฐอเมริกา ที่มี Shareholder Yield สูงที่สุด 20% แรกของหุ้นทั้งตลาด และสับเปลี่ยนหมุนเวียนในทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี 1972 จนถึงปี 2011 จะพบว่ากลยุทธ์นี้ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 15.36% เลยทีเดียว
ส่วนกองทุนที่ลงทุนด้วยกลยุทธ์นี้ ในหุ้นของกลุ่มประเทศเกิดใหม่อย่าง Cambria Emerging Shareholder Yield ETF ก็มีผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ก่อตั้งกองทุน มากถึง 17.80% ต่อปี
ส่วนในหุ้นไทยนั้น ทาง SiamQuant ก็ได้ทดสอบกลยุทธ์นี้กับข้อมูลของหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปี 2019 ก็พบว่า กลยุทธ์ลงทุนในหุ้น Shareholder Yield สูง ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากถึง 24.76%
ซึ่งชนะผลตอบแทน จากการลงทุนในหุ้นปันผลสูง และตลาดอย่างขาดลอย เพียงแต่ว่ากลยุทธ์นี้จะมีความผันผวนที่มากกว่า การลงทุน 2 แบบข้างต้น
สรุปแล้ว Shareholder Yield นั้น ก็ถือว่าเป็นเครื่องมือคัดกรองหุ้นที่น่าสนใจ ให้ได้ครบทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแค่การเลือกหุ้นโดยดูแค่ในด้านของการจ่ายปันผลเท่านั้น จนทำให้เราพลาดโอกาสลงทุนหุ้นดี ๆ ไป
ถึงอย่างนั้น นอกจากตัวเลข Shareholder Yield ที่เราต้องสนใจแล้ว สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ ปัจจัยทางด้านคุณภาพที่ตีเป็นตัวเลขได้ยาก อย่างเช่น การแข่งขัน, ความสามารถของผู้บริหาร และแบรนด์ของบริษัท
ไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็คงไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่า เราได้ศึกษาหุ้นตัวนี้อย่างรอบด้าน จนมั่นใจแล้วจริง ๆ..
References
-Priest, Williams W. (2005). The Case for Shareholder Yield - As a dominant driver of future equity returns.
-https://www.siamquant.com/shareholder-yield-2019/
-https://corporatefinanceinstitute.com/resources/equities/shareholder-yield/
-https://www.kiplinger.com/investing/dividends-how-to-maximize-your-yield
-Gray, Wesley R., & Vogel, J. (2014). Enhancing The -Investment Performances of Yield-Based Strategies.
-https://en.macromicro.me/etf/us/intro/EYLD
-Priest, Williams W. (2005). The Case for Shareholder Yield - As a dominant driver of future equity returns.
-https://www.siamquant.com/shareholder-yield-2019/
-https://corporatefinanceinstitute.com/resources/equities/shareholder-yield/
-https://www.kiplinger.com/investing/dividends-how-to-maximize-your-yield
-Gray, Wesley R., & Vogel, J. (2014). Enhancing The -Investment Performances of Yield-Based Strategies.
-https://en.macromicro.me/etf/us/intro/EYLD