เข้าใจจิตวิทยา เวลาหุ้นลง ด้วย 5 ขั้นของความเศร้า

เข้าใจจิตวิทยา เวลาหุ้นลง ด้วย 5 ขั้นของความเศร้า

9 ม.ค. 2024
เข้าใจจิตวิทยา เวลาหุ้นลง ด้วย 5 ขั้นของความเศร้า | MONEY LAB
แม้จะมีเครื่องมือดี ๆ หรือข้อมูลมากมาย แต่สุดท้ายสิ่งที่บังคับมือของนักลงทุนทุกคน ให้กดซื้อหรือขาย ก็คือจิตใจของตัวเอง เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจจิตวิทยาการลงทุน จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ถึงอย่างนั้น หลาย ๆ คนกลับมองข้าม เพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่เหมือนกับอัตราส่วนทางการเงิน หรือกราฟรูปแบบต่าง ๆ
แต่จิตใจของเหล่านักลงทุนนี้เอง ที่ได้ขับเคลื่อนตลาดมาช้านาน จนกลายเป็นวัฏจักรของตลาด ทั้งในเวลาหุ้นขึ้น และหุ้นลง
ซึ่งในวันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจ ความคิดของนักลงทุน เวลาที่ตลาดหุ้นลง ผ่านแนวคิดทางจิตวิทยา ที่เรียกว่า “5 ขั้นของความเศร้า” ไปด้วยกัน
และถ้าหากคุณสงสัยว่า 5 ขั้นของความเศร้า สำหรับนักลงทุนมีอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
แนวคิด 5 ขั้นของความเศร้า หรือ 5 Stages of Grief นั้น เกิดจากคุณ Elisabeth Kübler-Ross นักจิตวิทยาชาวสวิส ที่มองว่า เวลาคนเราได้สูญเสียอะไรไปนั้น จะมีความเศร้าอยู่ 5 ระยะ ได้แก่
ปฏิเสธความจริง (Denial)โกรธ (Anger)ต่อรอง (Bargaining)ซึมเศร้า (Depression)ยอมรับความจริง (Acceptance)
ซึ่งการขาดทุนหุ้นนั้น ก็นับเป็นการสูญเสียอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะกว่าที่เราจะกล้าลงทุนในหุ้นตัวหนึ่งนั้น เราก็ต้องคัดจากหุ้นหลายร้อยตัวในตลาด และอ่านหลักการลงทุนหุ้น และรายงานประจำปี ไม่รู้กี่ร้อยหน้า
นั่นจึงทำให้เวลาที่เราซื้อหุ้น แล้วราคาไม่เป็นไปตามที่เราคิด ก็ทำให้เราเสียใจได้ไม่แพ้การอกหักเลยทีเดียว
และถ้าหากเราลองสังเกตพฤติกรรมที่นักลงทุนในตลาดหุ้น แสดงออกมาเวลาหุ้นลงนั้น ก็จะเห็นได้ว่าค่อนข้างสอดคล้องกับแนวคิด 5 ขั้นของความเศร้า
“แค่ย่อเดี๋ยวก็ไปต่อ”
ตลาดหุ้นมีความผันผวนเป็นเรื่องปกติ ราคาหุ้นสามารถขึ้นไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ และตกลงมาอย่างรุนแรง ในอีกไม่กี่วันให้หลังได้
โดยเฉพาะช่วงที่ ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น หุ้นจะปรับตัวลงไม่มาก จากนั้นก็ขึ้นต่อไปอีก จนสร้างความเชื่อผิด ๆ ให้กับตัวเราอย่างไม่ทันระวังว่า ทุกการปรับตัวลง จะตามมาด้วยการขึ้นต่อเสมอ
ทำให้เมื่อเวลาขาลงจริง ๆ ของตลาดหุ้นมาถึง เราก็มักจะปฏิเสธราคาหุ้นที่ร่วงเอา ๆ อยู่ตรงหน้าว่า แค่ย่อเดี๋ยวก็ไปต่อ เท่านั้นเอง
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มีสัญญาณเตือนในทางลบต่าง ๆ เต็มไปหมด อย่างเช่น ราคาหุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม ที่เรียกว่า Lower High หรือสัญญาณตัวเลขทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทที่แย่ลง
“หุ้นลงขนาดนี้ xxx ทำอะไรอยู่ !”
xxx ที่เว้นไว้ สามารถแทนที่ได้ด้วย ชื่อหน่วยงาน, รัฐบาล หรือแม้แต่ตัวบุคคล สารพัดที่นักลงทุนจะกล่าวโทษ
เพราะหลังจากขาดทุนไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ จนเริ่มตาสว่างแล้วว่า ตลาดหุ้นกลายเป็นขาลงจริง ๆ เราก็จะเริ่มหาแพะรับบาป สำหรับความผิดพลาด
ไม่ว่าจะเป็นไอ้เพื่อนคนนั้น ที่ชวนเราลงทุนในหุ้น หรือบรรดากูรูการลงทุนต่าง ๆ
ซึ่งก็จริงอยู่ที่ในบางครั้ง การหลอกลวงหรือให้ข้อมูลผิด ๆ ทำให้เราต้องขาดทุน
แต่การโทษคนอื่นเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ทบทวนว่า เราทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง ก็ไม่ได้ช่วยให้เรากลายเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้น และก้าวข้ามความผิดพลาดในอดีตเลย แม้แต่น้อย
“ขอขาดทุนน้อยหน่อย ก็แล้วกัน”
เมื่อเริ่มรู้ตัวว่าโทษคนอื่นไปก็เท่านั้น เราก็เริ่มจะแสวงหาหนทางต่าง ๆ ที่จะทำให้เราเจ็บตัวน้อยที่สุด
เช่น ประโยคคลาสสิกอย่าง “ไม่ขายไม่ขาดทุน” ซึ่งทำให้เรานอนกอดหุ้นที่ขาดทุนต่อไปเรื่อย ๆ โดยหวังว่าหุ้นจะเด้งขึ้นมาบ้าง แทนที่จะเอาเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ หรือหุ้นตัวอื่น ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า
หรือไม่ก็เข้ารับมีด ด้วยการถัวซื้อหุ้นต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไร้ความหวัง หรือเปลี่ยนไปใช้ ท่าการลงทุนสุดแสนพิสดารต่าง ๆ เพื่อเอาเงินคืนมา
แต่สิ่งอันตรายที่สุดก็คือ การกู้เงินมาอัดเพิ่มเข้าไป หวังจะเอาเงินคืนในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยง ให้กับตัวเองโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนสถานะเรา จากแค่ขาดทุน กลายเป็นหมดตัวจริง ๆ
“รอนาน ๆ ก็อาจจะบั่นทอนหัวใจ”
หลังจากค้นพบว่า ไม่มีหนทางไหนที่จะเปลี่ยนจากการขาดทุน ให้กลับมามีกำไรแล้ว หลาย ๆ คนก็เลือกจะปล่อยให้พอร์ตการลงทุนของเรา เป็นไปตามโชคชะตา
ความเศร้า และความผิดหวัง จากการขาดทุน รวมถึงการที่แผนไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง ก็จะถาโถมเข้าสู่จิตใจของเราอยู่เรื่อย ๆ
แต่ระยะนี้เอง เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทบทวน หรือจดบันทึก ความผิดพลาดที่ผ่านมาของเรา เพราะส่วนใหญ่แล้ว ระยะซึมเศร้านั้น คือระยะที่ยาวนานที่สุด จากทุกระยะในแนวคิด 5 ขั้นของความเศร้า
อีกทั้งไหน ๆ ช่วงนี้เราก็จะคิดถึงแต่ ความผิดพลาดของตัวเองซ้ำไปซ้ำมาอยู่แล้ว การจดบันทึก และทบทวน เพื่อไม่ให้ตัวเองพลาดซ้ำสอง ก็ถือว่าเป็นการใช้ความเศร้าให้เกิดประโยชน์
“ไม่เอาอีกแล้วตลาดหุ้น”
เมื่อเศร้าจนพอใจแล้ว เราก็จะมาอยู่บนทางแยกที่สำคัญ ก็คือ จะเรียนรู้จากความผิดพลาดแล้วลงทุนต่อ หรือจะพอแค่นี้
ถึงอย่างนั้นทั้ง 2 ทางเลือกก็ไม่มีผิดถูก เพราะการที่เราเลือกจะไม่อยู่ในตลาดหุ้นต่อ ก็อาจเป็นเพราะเราประเมินผิดไป ว่าตัวเองสามารถทนความเสี่ยงของตลาดหุ้นได้ หรืออาจจะยังศึกษาไม่มากพอ
แต่ถ้าเราเลือกที่จะลงทุนต่อ ถึงตรงนี้เราก็จะได้เรียนรู้แล้วว่า สิ่งใดที่ควรและไม่ควรทำ เมื่อจะต้องลงทุนในตลาดหุ้น และได้เรียนรู้ วิธีการรับมือกับการขาดทุน อย่างถูกวิธี
ไม่มีนักลงทุนคนไหนบนโลก ที่ไม่เคยขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนระดับตำนานอย่างคุณ Warren Buffett, คุณ Ray Dalio หรือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ทุกคนต่างก็เคยประสบกับการขาดทุนยับเยิน มาแล้วทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น การขาดทุน เป็นเรื่องที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการลงทุน เพียงแต่ว่า เมื่อพบเจอกับการขาดทุนแล้ว เรามีวิธีรับมือที่ถูกต้องไหม
และเราได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดครั้งนี้ เพื่อกลายเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้น ในอนาคต..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.