บิลล์ แอกแมน vs คาร์ล ไอคาห์น สงครามดวลหุ้น Herbalife ของ 2 นักลงทุนระดับโลก

บิลล์ แอกแมน vs คาร์ล ไอคาห์น สงครามดวลหุ้น Herbalife ของ 2 นักลงทุนระดับโลก

29 ต.ค. 2023
บิลล์ แอกแมน vs คาร์ล ไอคาห์น สงครามดวลหุ้น Herbalife ของ 2 นักลงทุนระดับโลก | MONEY LAB
ปัจจุบันมีนักลงทุนชื่อดังหลายคน ที่เราทุกคนน่าจะรู้จัก เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์, จอร์จ โซรอส หรือเรย์ ดาลิโอ
ถึงจะเป็นนักลงทุนระดับเซียนเหมือนกัน แต่หลายครั้งก็มีมุมมองต่อหุ้นแตกต่างกัน จนนำไปสู่การทำสงครามในตลาดหุ้น
บริษัทอย่าง Herbalife ในสหรัฐอเมริกา ก็เคยเป็นสังเวียนของสงครามดวลหุ้น ระหว่างนักลงทุนระดับโลก
แถมยังเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ในหลายประเด็นด้วยเช่นกัน
เรื่องราวของศึกดวลหุ้น Herbalife เป็นอย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
Herbalife เป็นบริษัทขายอาหารเสริม ที่เน้นการตลาดแบบ MLM หรือการตลาดแบบขายตรง โดยมีสินค้าชูโรงคือ เครื่องดื่มโปรตีน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีร้านขายสินค้าเป็นของตัวเองชื่อว่า Nutrition Club โดยที่ตัวแทนขายสามารถใช้พื้นที่ภายในร้านเป็นสถานที่พบปะลูกค้า และให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ด้วย
เมื่อดูแบบผิวเผินแล้ว โมเดลธุรกิจของ Herbalife ก็เป็นโมเดลธุรกิจปกติทั่วไป ไม่ต่างอะไรจากธุรกิจเครือข่ายอื่น ๆ ที่ขายอาหารเสริม และมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง
แต่ในปี 2012 บิลล์ แอกแมน ได้ออกมาแสดงความมั่นใจ ว่าธุรกิจของ Herbalife เป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่ ที่ต้องหาตัวแทนขายเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ
และราคาหุ้นของ Herbalife จะต้องถูกเทขายลงมาอย่างหนักแน่นอน
โดย บิลล์ แอกแมน ก็คือผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ชื่อดัง แถมยังได้รับฉายาว่าเป็น วอร์เรน บัฟเฟตต์ คนต่อไป
เมื่อเห็นดังนั้น บิลล์ แอกแมน จึงตัดสินใจขายชอร์ตหุ้น Herbalife ทันที
การขายชอร์ต ก็คือ การที่เรายืมหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์ มาขายก่อน จากนั้นจึงค่อยซื้อหุ้นเพื่อนำไปคืนทีหลัง
เราจะได้กำไรจากการขายชอร์ต ถ้าราคาหุ้นต่ำลง
เพราะเราจะขายหุ้นที่ยืมมา ได้ในราคาแพง และซื้อหุ้นในราคาต่ำ เพื่อนำไปคืนบริษัทหลักทรัพย์
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าหุ้นขึ้นไปสูงกว่าจุดที่เราขาย เราก็จะขาดทุน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็มีนักลงทุนชื่อดังอีกคนหนึ่ง คือ คาร์ล ไอคาห์น มองว่า Herbalife เป็นธุรกิจที่ดี
และมองว่า บิลล์ แอกแมน คิดผิด
ดังนั้น คาร์ล ไอคาห์น จึงตัดสินใจเข้ามากว้านซื้อหุ้นตัวนี้
และการที่มีนักลงทุนรายใหญ่อย่าง คาร์ล ไอคาห์น เข้ามากว้านซื้อหุ้น ก็ทำให้ราคาหุ้น Herbalife ปรับตัวสูงขึ้น และทำให้ บิลล์ แอกแมน ที่ขายชอร์ตอยู่ ต้องขาดทุนในที่สุด
การต่อสู้ของเซียนหุ้นทั้ง 2 คน ดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานานถึง 5 ปี จนถึงขนาดที่ คาร์ล ไอคาห์น กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ Herbalife ในสัดส่วน 26% และทำให้เขาได้กำไรมากถึง 36,000 ล้านบาท
ในขณะที่ด้าน บิลล์ แอกแมน ก็ขาดทุนจากการขายชอร์ตไปมากถึง 36,000 ล้านบาท
แล้วในสงครามดวลหุ้นครั้งนี้ บิลล์ แอกแมน ทำผิดพลาดตรงไหน ?
ข้อแรกก็คือ ธุรกิจของ Herbalife มีสินค้าวางขายอยู่จริง และก็มีลูกค้าที่ซื้อสินค้าของบริษัทจริง
แตกต่างจากแชร์ลูกโซ่ ที่เอาเงินของคนใหม่ มาจ่ายให้คนเก่า โดยไม่ได้มีธุรกิจจริงมารองรับ
นอกจากนี้ โมเดลการแบ่งค่าคอมมิชชันให้ตัวแทนขายของ Herbalife ที่จะให้ก็ต่อเมื่อตัวแทนขายสินค้าได้เท่านั้น ก็มีความแตกต่างจากธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ที่มีการการันตีผลตอบแทนให้แน่นอน
ข้อต่อมาก็คือ ทันทีที่ บิลล์ แอกแมน ออกมาโจมตีบริษัทผ่านสื่อ บริษัทก็ออกมาแถลงข้อเท็จจริงตอบโต้ในทันที พร้อมกับสื่อสารไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยตรง ตั้งแต่ ลูกค้า พนักงาน ไปจนถึงผู้ถือหุ้น
การสื่อสารของ Herbalife ได้ผล สะท้อนให้เห็นจากราคาหุ้นที่ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว จนกลายมาเป็นกรณีศึกษาในหนังสือเรียน เรื่องการสื่อสารขององค์กรในภาวะวิกฤติ อีกด้วย
และข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุดเลยคือ การเข้ามาลงทุนของเซียนหุ้นอย่าง คาร์ล ไอคาห์น จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนรายอื่น
นอกจากนี้ การที่ คาร์ล ไอคาห์น ซื้อหุ้นไปมากถึง 26% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ก็ทำให้จำนวนหุ้นในตลาดเหลือน้อยลง
และการดันราคาหุ้น Herbalife ก็ยิ่งทำได้อย่างง่ายดายมากขึ้นเช่นกัน
เรื่องราวของสงครามดวลหุ้นในครั้งนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า บางครั้งนักลงทุนที่มีชื่อเสียง และได้ผลตอบแทนในอดีตที่เหนือกว่าคนอื่น ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการลงทุนทุกครั้งเสมอไป
ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้ก็คือ อย่าเชื่อและลงทุนตามเซียนหุ้น โดยที่เราขาดความรู้ ความเข้าใจ ในสิ่งที่เรากำลังจะลงทุน
นอกจากนี้ เรื่องนี้ก็บ่งชี้ได้ว่า ไม่มีใครสามารถทำกำไรจากการลงทุนได้ทุกครั้ง ดังนั้น การบริหารความเสี่ยง ด้วยการไม่ทุ่มการลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนทุกคน ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนก็ตาม..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.