รู้จัก 2 วิธี เช็กว่าบริษัทกำลังจะเจ๊ง ผ่านการดูสภาพคล่อง แบบง่าย ๆ

รู้จัก 2 วิธี เช็กว่าบริษัทกำลังจะเจ๊ง ผ่านการดูสภาพคล่อง แบบง่าย ๆ

26 ต.ค. 2023
รู้จัก 2 วิธี เช็กว่าบริษัทกำลังจะเจ๊ง ผ่านการดูสภาพคล่อง แบบง่าย ๆ | MONEY LAB
การคัดเลือกบริษัทที่ดี นอกจากจะต้องดูรายได้, กำไร และแนวโน้มการเติบโตแล้ว การดูสภาพคล่อง ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
หากบริษัทสามารถบริหารสภาพคล่องได้ดี บริษัทก็จะสามารถทำธุรกิจต่อไปได้เรื่อย ๆ
แต่หากบริษัทบริหารสภาพคล่องได้ไม่ดี ก็อาจจะเกิดปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่การล้มละลาย จนบริษัทเจ๊งได้
แล้วมีวิธีไหนบ้าง ที่ช่วยเราวัดสภาพคล่องของบริษัท ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
การตรวจสอบสภาพคล่องในที่นี้ เราจะดูที่กรอบระยะเวลา 1 ปี และเปรียบเทียบว่า สินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่ จะเพียงพอสำหรับการจ่ายหนี้ที่จะครบกำหนดใน 1 ปี หรือไม่ ?
ซึ่งสามารถดูได้จาก 2 อัตราส่วนง่าย ๆ
1.อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน หรือ Current Ratio
คำนวณหาได้จาก
สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
โดย สินทรัพย์หมุนเวียน คือสินทรัพย์ที่บริษัทสามารถเปลี่ยนมาเป็นเงินสดได้ ภายในระยะเวลา 1 ปี เช่น เงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด, ลูกหนี้การค้า รวมถึงสินค้าคงเหลือ
ส่วน หนี้สินหมุนเวียน คือหนี้สินระยะสั้น ที่บริษัทจะต้องจ่ายคืน ภายในระยะเวลา 1 ปี
ถ้า Current Ratio มากกว่า 1 เท่า หมายความว่า บริษัทมีสินทรัพย์เพียงพอ ที่จะชำระหนี้สินระยะสั้น และถือว่ามีสภาพคล่อง
แต่ถ้า Current Ratio น้อยกว่า 1 เท่า หมายความว่า บริษัทมีสินทรัพย์ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ระยะสั้น และมีโอกาสที่จะเจอกับปัญหาด้านสภาพคล่อง หรือการหมุนเงินมาใช้ทำธุรกิจไม่ทัน
และเมื่อมีปัญหาเรื่องการจ่ายหนี้คืน ก็อาจส่งผลให้ต้องไปกู้หนี้ก้อนใหม่ เพื่อนำมาจ่ายหนี้ก้อนเก่าด้วย
ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ
บริษัท A
-มีสินทรัพย์หมุนเวียน 2,000 ล้านบาท
-มีหนี้สินหมุนเวียน 1,000 ล้านบาท
ทำให้บริษัท A มี Current Ratio เท่ากับ 2 เท่า
สำหรับบริษัท B
-มีสินทรัพย์หมุนเวียน 2,800 ล้านบาท
-มีหนี้สินหมุนเวียน 4,000 ล้านบาท
ทำให้บริษัท B มี Current Ratio เท่ากับ 0.7 เท่า
จะเห็นได้ว่า บริษัท A มีความปลอดภัยในด้านสภาพคล่องของการทำธุรกิจ มากกว่าบริษัท B
สำหรับสัดส่วนที่เหมาะสมของ Current Ratio นั้น ควรมากกว่า 1 เท่า แต่ไม่ควรเกิน 5 เท่า
เพราะการมี Current Ratio ที่มากเกินไป อาจหมายความว่า บริษัทบริหารเงินสดได้ไม่มีประสิทธิภาพ
เพราะแทนที่บริษัทจะนำเงินสดที่มีอยู่ไปลงทุนเพิ่ม, ซื้อหุ้นคืน หรือจ่ายเงินปันผลให้มากขึ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
แต่บริษัทกลับเก็บเงินสดเอาไว้เฉย ๆ ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียโอกาสในการลงทุน
แต่การดู Current Ratio อย่างเดียว อาจจะยังสะท้อนภาพของสภาพคล่องได้ไม่ดีพอ เพราะสินทรัพย์หมุนเวียนที่อยู่ในสูตรนั้น รวมสินค้าคงเหลือเอาไว้ด้วย
ซึ่งสินค้าคงเหลือ ก็มีข้อจำกัดบางประการ เช่น เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ช้ากว่า, มูลค่าของสินค้าคงเหลือไม่แน่นอน
รวมถึงสินค้าคงเหลือในแต่ละอุตสาหกรรม ก็มีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน นั่นจึงเป็นที่มาของวิธีที่ 2
2.อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว หรือ Quick Ratio
คำนวณหาได้จาก
(สินทรัพย์หมุนเวียน - สินค้าคงเหลือ) / หนี้สินหมุนเวียน
สินค้าคงเหลือ จะนับรวมมูลค่าของวัตถุดิบ, สินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิต และสินค้าสำเร็จรูปรอการขาย
สำหรับ Quick Ratio คือการคำนวณสภาพคล่องในแบบอนุรักษนิยม หรือเข้มงวดมากขึ้น
เพราะอัตราส่วนนี้ จะคำนวณหาสภาพคล่องของบริษัท โดยไม่ได้เอาส่วนของสินค้าคงเหลือ มาร่วมคำนวณด้วย
อธิบายให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ก็คือ การคำนวณอัตราส่วนนี้ มาจากสมมติฐานว่า
ต่อให้สินค้าคงเหลือของบริษัท ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เลย บริษัทจะยังสามารถรักษาสภาพคล่อง ในการทำธุรกิจได้ต่อไปในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้านี้หรือไม่
ยกตัวอย่างเดิม จากบริษัท A และบริษัท B
บริษัท A มีสินค้าคงเหลือ 500 ล้านบาท
ทำให้บริษัท A มี Quick Ratio เท่ากับ 1.5 เท่า
(2,000 - 500) / 1,000
บริษัท B มีสินค้าคงเหลือ 200 ล้านบาท
ทำให้บริษัท B มี Quick Ratio เท่ากับ 0.65 เท่า
(2,800 - 200) / 4,000
จากตัวอย่างข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า ต่อให้เกิดเหตุการณ์ที่สินค้าคงเหลือขายไม่ออก และไม่สามารถแปลงมาเป็นเงินสดได้
บริษัท A ก็ยังสามารถรักษาสภาพคล่องในการทำธุรกิจ ได้เป็นอย่างดีอยู่
ส่วนบริษัท B มีความเสี่ยงที่จะเจอกับปัญหาการขาดสภาพคล่องในระยะสั้น
สำหรับ Quick Ratio นั้น สัดส่วนที่กำลังดีควรอยู่ระหว่าง 1 ถึง 1.5 เท่า
ถ้าสัดส่วนนี้สูงเกินไป ก็จะหมายความว่า บริษัทบริหารเงินสดได้ไม่มีประสิทธิภาพเช่นกัน
ทั้งนี้ ก็มีคำแนะนำเพิ่มเติมว่า เราควรจะตรวจสอบสภาพคล่องของบริษัท ย้อนหลังไปหลาย ๆ ปีด้วย
เพื่อให้เราแน่ใจได้ว่า บริษัทนั้นมีความสม่ำเสมอในการรักษาสภาพคล่องเพื่อการทำธุรกิจ ได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ทำได้ดีแค่บางปีเท่านั้น
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
บางธุรกิจก็อาจจะมี Current Ratio และ Quick Ratio ที่ใกล้เคียงกัน เพราะมีสัดส่วนของสินค้าคงเหลือไม่มาก เช่น ธุรกิจบริการ
โดยจากตัวอย่างข้างต้น เราก็อาจตีความได้ว่า บริษัท B มีแนวโน้มที่จะทำธุรกิจบริการ นั่นเอง..
References
-หนังสือ Warren Buffett Accounting Book: Reading Financial Statements for Value Investing (2014) โดย Stig Brodersen และ Preston Pysh
-หนังสือ Value Investing Made Easy: Benjamin Graham's Classic Investment Strategy Explained for Everyone (1996) โดย Janet Lowe
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.