ทำไมบางบริษัท มีหนี้สูง แต่ความเสี่ยงไม่ได้สูง ตามไปด้วย
14 มิ.ย. 2024
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ เรามักจะถูกสอนกันอยู่บ่อย ๆ ว่า บริษัทที่มีหนี้สินสูงนั้น จะเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีหนี้สินมากกว่าส่วนทุน หรือ D/E Ratio มากกว่า 1 เท่าเป็นต้นไป
เนื่องจากบริษัทแห่งนั้น กำลังมีหนี้สินมากกว่าส่วนทุนของบริษัท ทำให้เริ่มมีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย เพราะบริษัทมีแหล่งเงินทุนมาจากหนี้ มากกว่าใช้เงินทุนของตัวเอง
แต่รู้หรือไม่ว่า เพียงแค่จำนวนหนี้สิน รวมถึง D/E Ratio นั้น อาจไม่ได้บอกเราทั้งหมด ถึงความเสี่ยงทางด้านการเงิน เพราะเราก็มักจะเห็นว่า หลายบริษัทที่มีหนี้สินสูง แต่ก็สามารถทำธุรกิจอยู่ต่อได้
นั่นก็เป็นเพราะว่า การใช้ตัวเลข หรืออัตราส่วนทางการเงิน เพียงแค่ตัวเดียว มาวัดว่าบริษัทนั้นมีความเสี่ยงจะล้มละลาย อาจจะใช้ไม่ได้กับบางธุรกิจนั่นเอง
แล้วถ้าหากคุณสงสัยว่า มีธุรกิจอะไรบ้างที่มีหนี้สินสูง แต่กลับไม่ได้มีความเสี่ยงล้มละลาย มากเท่าที่คิด ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ธุรกิจที่เราไม่สามารถนำอัตราส่วน D/E Ratio เพียงอย่างเดียวมาวัดความเสี่ยง ในการที่บริษัทจะล้มละลายนั้น ที่พบเห็นได้ในตลาดหุ้นไทย จะมีอยู่ 2 ธุรกิจ
1. ธุรกิจค้าปลีก
ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ อย่างเช่น 7-Eleven สามารถเอาสินค้ามาขายก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินให้กับเจ้าของสินค้าทีหลัง สิ่งนี้เอง ทำให้เกิดหนี้สินที่เรียกว่า “เจ้าหนี้การค้า” ขึ้น
แม้ว่าจะขึ้นชื่อว่าหนี้สิน แต่เจ้าหนี้การค้านั้น เป็นหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นการที่บริษัทมีหนี้สินสูง แต่หนี้ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้การค้า ก็ถือว่าไม่น่ากังวลมากนัก
นอกจากนี้ การที่บริษัทค้าปลีก มีเจ้าหนี้การค้ามาก ยังแสดงให้เห็นว่า บริษัทมีอำนาจต่อรองกับซัปพลายเออร์ต่าง ๆ และเป็นบริษัทที่มีเครดิตดี จนคู่ค้ายอมให้ยืมสินค้าไปขายก่อนได้
เพราะฉะนั้น การใช้อัตราส่วน D/E Ratio อาจจะไม่เหมาะนัก กับการประเมินความเสี่ยงด้านการเงินในธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากหนี้สินที่ไม่มีดอกเบี้ยอย่างเจ้าหนี้การค้า ที่มีจำนวนมาก จะทำให้ D/E Ratio ดูสูงเกินจริง
แต่เราควรใช้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน หรือ Interest Bearing Debt to Equity Ratio (IBD/E Ratio) แทน
โดยหนี้สินที่มีดอกเบี้ย ประกอบไปด้วย เงินเบิกเกินบัญชี, เงินกู้ยืมธนาคาร ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงหุ้นกู้ เป็นต้น
อย่างเช่น บริษัท CPALL เจ้าของร้าน 7-Eleven เอง ที่ถ้าหากเราดูแค่ D/E Ratio ในปี 2023 จะเห็นว่าสูงถึง 2.07 เท่า แต่ถ้าหากกรองเอาแต่หนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย เราจะได้อัตราส่วน IBD/E Ratio อยู่แค่ 1.09 เท่า เท่านั้นเอง
2. ธุรกิจธนาคาร
เงินที่เราฝากไว้กับธนาคารนั้น จะถูกนับเป็นหนี้สินของธนาคาร นั่นจึงทำให้ แม้ว่าหนี้สินของธนาคารจะสูงมาก แต่หนี้สินเหล่านั้น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็น เงินที่ธนาคารรับฝากจากประชาชน
ซึ่งถ้าหากเราไปดูหนี้สินของธนาคารส่วนใหญ่แล้ว จะเห็นได้ว่า เงินรับฝาก คิดเป็นประมาณ 70% ถึง 80% ของจำนวนหนี้สินรวม
ทำให้ถ้าเราคำนวณ D/E Ratio ของธนาคารออกมา จะดูสูงมาก ๆ แต่นั่นก็เป็นเพราะว่า หนี้สินของธนาคารนั้นมีอยู่จำนวนมาก แถมยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการมีคนเอาเงินมาฝากเพิ่ม นั่นเอง
ดังนั้น อัตราส่วนที่เหมาะสมในการประเมินความเสี่ยงทางการเงิน สำหรับธุรกิจธนาคาร ก็คือ อัตราส่วนเฉพาะของธุรกิจธนาคาร
เช่น Liquidity Coverage Ratio หรือ LCR เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดว่า ธนาคารมีสินทรัพย์สภาพคล่องพอรองรับการถอนเงิน ในช่วงวิกฤติ ได้นานถึง 30 วันหรือไม่ ซึ่งอัตราส่วนนี้ควรจะมีค่ามากกว่า 100%
อีกอัตราส่วนหนึ่งที่หลายคนคุ้นเคยก็คือ อัตราส่วน NPL ซึ่งเป็นตัวบอกว่า ในตอนนี้หนี้เสียต่อหนี้สินรวมทั้งหมดของธนาคาร มีอยู่มากน้อยแค่ไหน ถ้าหากเพิ่มขึ้นสูงมาก ก็แปลว่า ธนาคารกำลังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
และนอกจากธุรกิจที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้ว ยังมีตัวอย่างของธุรกิจที่มีหนี้สูง แต่ไม่ได้กำลังมีปัญหาอย่างที่คิด ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ นั่นก็คือ บริษัท Starbucks นั่นเอง
ถ้าหากเราปิดชื่อ Starbucks ไว้แล้วดูแค่ตัวเลขงบการเงิน Starbucks จะดูเหมือนบริษัทที่กำลังมีปัญหา โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา Starbucks มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ถึง 1.27 เท่า
แต่ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่า Starbucks ยังคงทำธุรกิจอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง ยาวนานมาหลายปีแล้ว นั่นก็เป็นเพราะว่า หนี้สินของ Starbucks ส่วนหนึ่งก็เป็นเงินที่ลูกค้า เติมเงินเข้ามาในบัตร Starbucks Rewards
โดยเงินเหล่านี้ที่ทาง Starbucks ได้มาไว้ก่อน ก็จะถูกบันทึกเป็น รายได้รอการรับรู้ (Deferred Revenues) ในส่วนของหนี้สิน
ซึ่งหนี้สินประเภทนี้ บริษัทไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเลย เพราะเป็นเพียงแค่เงินที่ลูกค้าเติมเข้ามา โดยเมื่อลูกค้านำบัตรมาใช้ซื้อของ ถึงค่อยถูกบันทึกเป็นรายได้ทีหลัง
โดยในปี 2023 เงินที่ลูกค้าเติมเข้ามาใน Starbucks Rewards มีมากถึง 285,000 ล้านบาท เลยทีเดียว และคิดเป็นประมาณ 21% ของหนี้สินรวมของ Starbucks
จากทั้งหมดนี้เอง จะเห็นได้ว่า การนำเพียงแค่ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงิน เช่น D/E Ratio มาใช้ประเมินความเสี่ยงทางด้านการเงินของบริษัทอย่างเดียวนั้น
อาจไม่เหมาะสมกับบางธุรกิจ เนื่องจากลักษณะเฉพาะของธุรกิจบางประเภท อาจทำให้หนี้สินบางส่วนไม่ได้แสดงถึงความเสี่ยงที่แท้จริง
ดังนั้นแล้ว เราจึงควรพิจารณาอัตราส่วนอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับลักษณะของธุรกิจประกอบด้วย รวมทั้งวิเคราะห์ว่าส่วนประกอบของหนี้สิน ของแต่ละบริษัทประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
เพื่อให้เราสามารถประเมินความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทได้อย่างถูกต้อง
และไม่พลาดโอกาสลงทุนในบริษัทที่แข็งแกร่ง เพียงเพราะแค่เราประเมินผิด และคิดว่าบริษัทแห่งนี้กำลังมีปัญหา..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References
-CPALL. (2024). FY2023 CPALL Results Briefing.
-เว็บไซต์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย