AOT เจ้าของ​สนามบิน รายได้เพิ่ม 77% แต่กำไรโต 1,000% เพราะอะไร ?

AOT เจ้าของ​สนามบิน รายได้เพิ่ม 77% แต่กำไรโต 1,000% เพราะอะไร ?

16 ก.พ. 2024
AOT เจ้าของ​สนามบิน รายได้เพิ่ม 77% แต่กำไรโต 1,000% เพราะอะไร ? | MONEY LAB
เมื่อไม่กี่วันก่อน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ประกาศผลประกอบการของ ไตรมาส 1 ปี 2567 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566)
ซึ่งรายงานว่า AOT มีรายได้รวมเติบโตขึ้น 77%
แต่กำไรที่บริษัททำได้ กลับเติบโตขึ้นถึง 1,064%
หรือเติบโตขึ้นถึง 10 เท่า..
แล้วอะไรคือปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้กำไรของ AOT เติบโตขึ้น ได้มากขนาดนี้ ?
MONEY LAB จะพาไปดูรายละเอียดของเรื่องนี้กัน
AOT เป็นเจ้าของสนามบินหลักทั้ง 6 แห่ง ของประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่า 903,570 ล้านบาท
นับเป็นบริษัทเจ้าของสนามบิน ที่มีมูลค่ามากสุด เป็นอันดับที่ 2 ของโลก
ในไตรมาส 1 ปี 2567 AOT มีรายได้หลักจาก 2 ส่วน คือ
รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 7,076 ล้านบาท และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 8,630 ล้านบาท
แต่หากเราดูลึกลงไปในรายละเอียด จะพบว่า AOT มีรายได้จากส่วนต่าง ๆ ดังนี้
ท่าอากาศยานดอนเมือง 2,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84%ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 10,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75%ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125%ท่าอากาศยานหาดใหญ่ 112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20%ท่าอากาศยานภูเก็ต 1,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88%ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย 62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14%กิจการโรงแรม 193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%กิจการบริการภาคพื้น 820 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83%กิจการรักษาความปลอดภัย 512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19%
เมื่อรวมกับรายได้อื่น ๆ และตัดรายการระหว่างกันออกไปแล้ว AOT จะมีรายได้รวม 15,789 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77%
และมีกำไรสุทธิรวม 4,682 ล้านบาท เติบโตขึ้น 1,064%
สาเหตุหลักที่ส่งผลให้ AOT มีกำไรเติบโตขึ้นมาก เป็น 1,000% แบบนี้ ก็สามารถอธิบายได้ดังนี้
การท่องเที่ยว อยู่ในช่วงฟื้นตัว
ในช่วงที่ผ่านมา ได้เกิดโรคระบาดขึ้นทั่วโลก ทำให้การเดินทางทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ต้องหยุดชะงักลง
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จึงได้รับผลกระทบมาก
อย่าง AOT เอง ในช่วงระหว่างปี 2563-2566 ก็มีผลประกอบการ ที่ตกต่ำลงเป็นอย่างมาก
แต่พอเหตุการณ์การระบาดของโรค ได้คลี่คลายลง บวกกับทั้งทางภาครัฐ และทาง AOT เอง ได้มีนโยบายกระตุ้น ให้เกิดการเดินทางทางอากาศมากขึ้น
ผลประกอบการของ AOT จึงฟื้นตัวกลับมาได้ เริ่มใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดแล้ว
โดยในไตรมาส 1 ปี 2567
ปริมาณการจราจรทางอากาศ รวม 178,215 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 18%จำนวนผู้โดยสาร รวม 28,883,371 คน เพิ่มขึ้น 25%
ค่าใช้จ่ายของบริษัท ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่
ต้นทุนคงที่ หรือ Fixed Cost คือค่าใช้จ่ายที่จะไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าสาธารณูปโภค
หากเราไปดูรายละเอียดเชิงลึก สำหรับค่าใช้จ่ายที่มีนัยสำคัญของ AOT จะเห็นว่า
ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน 2,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22%ค่าจ้างภายนอก 1,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31%ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 2,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26%
ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ AOT มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน รวม 9,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21%
เมื่อรายได้เติบโตขึ้นมาก แต่ค่าใช้จ่ายหลักเหล่านี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ ไม่เพิ่มขึ้นสูงเป็นเงาตามตัว
ทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้น ไหลลงมาเป็นกำไรเกือบทั้งหมด และส่งผลให้กำไรของ AOT เติบโตขึ้นมาก ได้ระดับ 10 เท่า นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงเข้าใจถึงสาเหตุสำคัญเบื้องหลังผลประกอบการของ AOT กันดีขึ้นบ้างแล้วใช่ไหมว่า ทำไมรายได้โต 77% แต่กำไรกลับโตถึง 1,064%
ธุรกิจแบบ AOT เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ที่เราสามารถเรียนรู้ และนำไปใช้วิเคราะห์การลงทุนในอนาคตได้
เพราะธรรมชาติของธุรกิจประเภทนี้ มักมีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ เป็นค่าใช้จ่ายคงที่
ดังนั้น เมื่อรายได้ของบริษัทมีการเติบโตขึ้น กำไรของบริษัทจึงเติบโตขึ้นมากกว่า
ถ้าเราเจอบริษัทประเภทนี้ ในตอนที่มูลค่าของบริษัทยังเล็กอยู่ แต่มีทิศทางการเติบโตของรายได้ อย่างชัดเจน
และเราเลือกลงทุนตั้งแต่เนิ่น ๆ ในตอนที่คนส่วนใหญ่ยังไม่สังเกตเห็น เราก็จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ที่คุ้มค่ามาก..
References
งบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบการเงิน ไตรมาส 1 ปี 2567 ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)คำอธิบายผลการดำเนินงานและการวิเคราะห์งบแสดงฐานะการเงิน ไตรมาส 1 ปี 2567 ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)รายงานสรุปผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2567 ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)https://companiesmarketcap.com/airports/largest-airport-operating-companies-by-market-cap/#google_vignette
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.