เข้าใจ โมเดลธุรกิจของบริษัท ผ่าน งบดุล

เข้าใจ โมเดลธุรกิจของบริษัท ผ่าน งบดุล

23 ม.ค. 2024
เข้าใจ โมเดลธุรกิจของบริษัท ผ่าน งบดุล | MONEY LAB
ถ้าพูดถึงงบแสดงฐานะทางการเงิน หรืองบดุล เราคงนึกถึงสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรามักจะใช้งบดุล ในการตรวจสอบความแข็งแกร่งทางการเงิน และสภาพคล่องของบริษัท
แต่รู้หรือไม่ว่าตัวเลขในงบดุล สามารถบอกให้เรารู้เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจที่บริษัทกำลังใช้อยู่ได้
แล้วงบแสดงฐานะทางการเงิน หรืองบดุล จะช่วยบอกเราเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจที่บริษัทใช้ได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
เมื่อบริษัทใช้โมเดลธุรกิจที่แตกต่างกัน แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็ตาม ย่อมสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกันในงบดุล ซึ่งแสดงถึงฐานะทางการเงินของบริษัท
ยกตัวอย่างเช่น
รายได้รับล่วงหน้า
รายได้รับล่วงหน้า ที่อยู่ในส่วนของหนี้สินในงบดุล จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทใช้โมเดลธุรกิจแบบเก็บเงินก่อนที่จะส่งมอบสินค้า หรือก่อนการให้บริการลูกค้า
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมรายได้รับล่วงหน้า ถึงอยู่ในส่วนของหนี้สิน ?
สาเหตุก็คือ บริษัทมีภาระผูกพันในอนาคต ที่จะต้องส่งมอบสินค้า และบริการในอนาคต ไม่ต่างอะไรจากหนี้เงินกู้ ที่มีภาระผูกพันว่าต้องจ่ายคืนเงินต้น และดอกเบี้ยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้รายได้รับล่วงหน้าจะจัดว่าเป็นหนี้สิน แต่ก็ถือเป็นหนี้สินที่ดี เพราะรายได้รับล่วงหน้า จะทำให้มีเงินสดไหลเข้ามาในบริษัทเร็วขึ้น
ตัวอย่างบริษัท ที่มีสัดส่วนรายได้รับล่วงหน้าในงบดุลสูง ๆ ก็คือ Starbucks
โดย Starbucks คิดค้นระบบบัตรสมาชิกที่เรียกว่า Starbucks Rewards Card ซึ่งถูกใช้เป็นระบบชำระเงินด้วย
Starbucks จูงใจลูกค้าให้เติมเงินเข้าบัตรสมาชิกด้วยโปรโมชันสำหรับสมาชิก เช่น สะสมแต้มแลกเครื่องดื่มฟรี หรือให้เครื่องดื่มและขนมฟรี ในเดือนเกิดของเจ้าของบัตร
พอเป็นแบบนี้ก็ทำให้ลูกค้านิยมมาสมัครสมาชิกบัตร Starbucks และเติมเงินในบัตรไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก
โดย Starbucks มีเงื่อนไขไม่คืนเงินที่ได้รับมาล่วงหน้าในทุกกรณี ทำให้รายได้รับล่วงหน้าตรงนี้ เป็นเงินที่ไม่ต้องคืนลูกค้าแน่นอน
ซึ่ง Starbucks มีสัดส่วนรายได้รับล่วงหน้า คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 26% ของสินทรัพย์รวม
ในขณะที่บริษัทอย่าง Yum! Brands เจ้าของร้านเคเอฟซี และพิซซ่าฮัท ซึ่งจัดเป็นธุรกิจในกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มเหมือนกับ Starbucks
แต่ไม่มีโมเดลธุรกิจในการดึงดูดให้ลูกค้าฝากเงินเข้ามาในบัตรสมาชิกเหมือน Starbucks ทำให้งบดุลของ Yum! Brands ไม่มีรายการ รายได้รับล่วงหน้า ในส่วนหนี้สินของบริษัท
ลูกหนี้การค้า
ลูกหนี้การค้า ที่อยู่ในสินทรัพย์หมุนเวียน จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทมีการขายสินค้า หรือบริการแบบเงินเชื่อ คือการส่งสินค้า หรือบริการให้ลูกค้าก่อนเก็บเงิน
บริษัทที่มีลูกหนี้การค้าน้อย เมื่อเทียบกับยอดขาย หรือไม่มีลูกหนี้การค้าเลย ก็คือบริษัทที่เน้นขายสินค้าหรือบริการ เป็นเงินสด
ขณะที่บริษัทที่มีลูกหนี้การค้าในสัดส่วนที่สูงใกล้เคียงกับรายได้ ก็คือบริษัทที่เน้นขายสินค้าหรือบริการ เป็นเงินเชื่อ
ตัวอย่างของบริษัทที่เน้นขายสินค้าเป็นเงินสดในไทย คือบริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MOSHI
โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 MOSHI มีลูกหนี้การค้าอยู่ที่เพียง 990,138 บาท ขณะที่ในไตรมาสเดียวกัน บริษัทมีรายได้รวม 588,715,316 บาท
แต่หากเทียบกับธุรกิจค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ อย่างบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ในไตรมาสเดียวกัน มีลูกหนี้การค้าอยู่ที่ 2,650,874,000 บาท จากรายได้รวม 16,328,775,965 บาท
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า MOSHI มีสัดส่วนลูกหนี้การค้าน้อยกว่า COM7 เมื่อเทียบกับรายได้ของแต่ละบริษัท
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะว่า MOSHI เป็นธุรกิจค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์ ราคาไม่แพง ขณะที่ COM7 เน้นขายอุปกรณ์ไอที ซึ่งลูกค้ามักจะซื้อด้วยบัตรเครดิต
ค่าความนิยม
ค่าความนิยม คือสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ที่บ่งบอกถึงประโยชน์ ที่บริษัทคาดว่าจะได้รับ เมื่อซื้อกิจการอื่น
โดยคิดจาก ส่วนต่างของมูลค่าการซื้อกิจการจริง และมูลค่ายุติธรรม
ในขณะที่ มูลค่ายุติธรรม คำนวณจาก มูลค่าสินทรัพย์ หักด้วยหนี้สินของกิจการที่ถูกเข้าซื้อ
ซึ่งค่าความนิยมจะสูงขึ้น ตามความคาดการณ์ของบริษัทถึงประโยชน์ที่จะได้รับ จากการซื้อกิจการส่วนเพิ่มนี้ในอนาคต
ดังนั้นบริษัทที่มีค่าความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ก็คือบริษัทที่มีกลยุทธ์เน้นซื้อกิจการ เพื่อสร้างการเติบโต หรือรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้
ตัวอย่างบริษัทที่เน้นซื้อกิจการ เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ก็คือ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เช่น Microsoft และ Alphabet
อย่างไรก็ตาม ค่าความนิยมก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่นักลงทุนต้องระวัง เพราะหากบริษัทซื้อกิจการมาในราคาที่แพงเกินไป ค่าความนิยมที่มีมูลค่าสูงในงบดุล ก็อาจถูกลดมูลค่าลงในอนาคต
และถ้าเป็นแบบนั้น มูลค่าของค่าความนิยมที่หายไป บริษัทก็อาจตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ เป็นรายการค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนได้
จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ ก็จะเห็นได้ว่านอกจากงบแสดงฐานะทางการเงิน จะบอกเราเกี่ยวกับสุขภาพทางการเงินของบริษัทแล้ว ก็ยังบอกให้เรารู้เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจที่บริษัทใช้อีกด้วย
ซึ่งเราก็สามารถนำข้อมูลจากบทความนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ใช้ตรวจสอบว่าบริษัทมีแนวทางการดำเนินธุรกิจตรงกับที่ผู้บริหารบริษัทเคยกล่าวไว้หรือไม่..
References
https://investor.starbucks.com/https://investors.yum.com/corporateprofile/default.aspxงบการเงินประจำไตรมาส 3/2565 บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)งบการเงินประจำไตรมาส 3/2565 บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน)
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.