“โมเดลธุรกิจไตรกีฬา” เคล็ดลับ ที่ทำให้ Xiaomi ผลิตของถูก ให้คนทั่วโลกใช้

“โมเดลธุรกิจไตรกีฬา” เคล็ดลับ ที่ทำให้ Xiaomi ผลิตของถูก ให้คนทั่วโลกใช้

4 เม.ย. 2025
“เราจะคุมอัตรากำไรสุทธิ ของสินค้า Hardware ให้อยู่ที่ 5% ตลอดไป” 
นี่คือสิ่งที่คุณเหลย จุน ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของบริษัท Xiaomi ลั่นวาจาไว้ ก่อนบริษัทจะเข้าจดทะเบียนซื้อขาย ในตลาดหุ้นฮ่องกง
ถ้าได้ฟังครั้งแรก เราก็คงรู้สึกว่าคุณเหลย พูดจาอะไรแปลก ๆ อยู่ดี ๆ ก็อยากมัดมือกิจการตัวเอง ให้ขายโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นรายได้หลัก ในราคา 100 บาท แต่ตัวเองจะเอากำไรแค่ 5 บาท เสียอย่างนั้น 
แต่รู้หรือไม่ว่า การตัดสินใจที่เราหลายคนน่าจะมองว่าแปลกในตอนแรกนี้เอง กลับเป็นสิ่งที่คุณเขาคิดมาอย่างดีแล้ว 
เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจที่ Xiaomi ยึดมั่น ซึ่งคุณเหลย เรียกว่า “โมเดลธุรกิจไตรกีฬา” (Triathlon Business Model) 
ที่ช่วยให้ Xiaomi ในวันนี้เป็นบริษัทมูลค่า 6 ล้านล้านบาท และสามารถผลิตสินค้าดีที่ราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ ให้พวกเราได้ใช้อยู่เสมอ 
แล้วโมเดลธุรกิจไตรกีฬาของ Xiaomi มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
คนที่ลงแข่งไตรกีฬานั้น จะต้องว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง ให้ได้ดีทั้งหมด เพื่อที่จะเข้าเส้นชัยให้ได้ก่อนคนอื่น
เช่นเดียวกัน Xiaomi เอง ก็มี 3 สิ่งที่ยึดมั่นว่าต้องทำให้ได้ดีทั้งหมดเหมือนกัน ไม่ต่างจากผู้เข้าแข่งไตรกีฬา ที่ต้องการชนะคู่แข่ง 
1. อุปกรณ์ล้ำ ๆ ที่ทำให้ผู้ใช้งานได้ประสบการณ์ที่ดี
“สนองความต้องการ 80% ของคน 80% ในตลาด” คือหลักในการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Xiaomi
ซึ่งความหมายของหลักการนี้คือ แม้ Xiaomi จะใส่นวัตกรรมล้ำ ๆ เข้ามาในผลิตภัณฑ์ก็จริง แต่ก็จะไม่ใช่การใส่เทคโนโลยีแบบเต็มสูบ จนฟีเชอร์เยอะแยะเต็มไปหมด 
แต่ใส่เพียงแค่ฟีเชอร์หลัก ๆ ที่ลูกค้าน่าจะต้องใช้จริง ๆ จากนั้นก็ทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ 
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณเหลย มีนโยบายที่จะจำกัดอัตรากำไรของสินค้า Hardware แบบที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งทำให้ Xiaomi ตั้งราคาขายสินค้าถูก ๆ แม้จะได้กำไรที่ค่อนข้างน้อย แต่เข้าถึงคนได้มาก  
เพราะสำหรับเขาแล้ว สินค้าต่าง ๆ ของ Xiaomi คือหน้าด่านของบริษัท ที่จะต้องสร้างความประทับใจในครั้งแรกให้กับลูกค้าให้ได้ 
และเมื่อลูกค้าประทับใจ และไว้ใจในสินค้าของ Xiaomi แล้ว พวกเขาก็ย่อมต้องการที่จะซื้อสินค้าอื่น ๆ เพิ่มเติมไปด้วย 
นั่นจึงนำไปสู่สิ่งต่อไป ที่คุณเหลยเน้นย้ำว่า Xiaomi จะต้องทำให้ได้ดี
2. เข้าถึงลูกค้าโดยตรง ด้วยช่องทางการขายที่ครอบคลุม 
ในแพลตฟอร์ม E-Commerce ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Tmall, JD.com, Shopee และ Lazada จะมีร้าน Official ของ Xiaomi อยู่ทั้งหมด 
และนอกจากนี้ทาง Xiaomi เองก็ยังถึงขั้นลงทุนสร้างแพลตฟอร์ม E-Commerce ของตัวเองอย่าง Xiaomi Youpin 
อย่างไรก็ตาม ทาง Xiaomi ก็ไม่ได้ทิ้งช่องทางการขายแบบหน้าร้าน เพราะคุณเหลยเอง เคยได้รับบทเรียนราคาแพงเกี่ยวกับเรื่องนี้ 
จากในปี 2014 Xiaomi ยังเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่ขายดีที่สุดในจีน แต่มาในไตรมาสแรกของปี 2016 Xiaomi กลับไม่ติดแม้แต่ Top 5 ของแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่ขายดีในจีนด้วยซ้ำ 
เพราะถึงแม้ว่า คนจีนชอบช็อปปิงออนไลน์ก็จริง แต่ในช่วงเวลานั้น ยอดขายโทรศัพท์มือถือในจีนกว่า 74% กลับมาจากการซื้อขายหน้าร้าน 
Xiaomi ที่มัวแต่มุ่งมั่นว่าจะต้องชนะในตลาด E-Commerce จึงโดนคู่แข่งอย่าง Oppo และ Huawei แซงหน้า เพราะบริษัทเหล่านี้ ต่างก็เพิ่มสาขาร้านขายโทรศัพท์มือถือให้มากขึ้น จนเข้าถึงลูกค้าได้ตรงกว่า Xiaomi 
ทำให้หลังจากนั้นทาง Xiaomi ก็ได้กลับมาเน้นการขยายร้าน Mi Home ของตัวเองให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายร้านค้าท้องถิ่น ที่ได้รับอนุญาตให้ขายสินค้าของ Xiaomi เรียกว่า Xiaomi Xiaodian
ด้วยการมีทั้งหน้าร้านและช่องทาง Online แบบนี้ ก็สามารถทำให้ Xiaomi เข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
รวมถึงสามารถเก็บข้อมูลของลูกค้า เพื่อใช้บริหารจัดการสินค้าคงคลัง และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจลูกค้ามากขึ้นด้วย
3. เพิ่มมูลค่า ด้วยบริการทางอินเทอร์เน็ต
เมื่อลูกค้าประทับใจในสินค้า และเชื่อมั่นในสินค้า รวมถึงเข้าถึงช่องทางการขายต่าง ๆ ของ Xiaomi ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว 
ก็ถึงเวลาที่ Xiaomi จะสร้าง Ecosystem ระหว่างลูกค้าและบริษัท ด้วยการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า AIoT หรือก็คือ Artificial Intelligence Internet of Things 
ที่ทำให้นอกจากอุปกรณ์ทั้งหมดของ Xiaomi ที่ลูกค้ามี จะสามารถเชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ต
อุปกรณ์แต่ละตัวก็ยังมี AI ที่จะคอยเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้งานไว้ จนสามารถให้ประสบการณ์ที่ดีที่สุดกับผู้ใช้งานได้ 
ทำให้ผู้ที่ใช้งานสินค้าของ Xiaomi อาจจะต้องคิดมากขึ้นอีกหน่อย ถ้าจะเปลี่ยนไปใช้สินค้าของเจ้าอื่น ๆ ก็อาจจะต้องเจอกับความยุ่งยาก ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ใหม่ จนเกิดเป็น Switching Cost ที่เพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง 
และนอกจากนี้บริการทางอินเทอร์เน็ตนี้เอง ที่จะเป็นส่วนของธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็นตัวทำกำไร แทนสินค้า Hardware ที่คุณเหลย จำกัดอัตรากำไรสุทธิไว้ที่ 5% 
เพราะบริการทางอินเทอร์เน็ตนั้น เมื่อทำออกมาแล้วก็จะสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมากอย่างรวดเร็ว จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า Economies of Scale ได้ง่าย จนไปกดต้นทุนให้ต่ำ และทำให้บริการทางอินเทอร์เน็ต มีอัตรากำไรที่สูง 
ตัวอย่างของบริการทางอินเทอร์เน็ตที่พ่วงเข้ามาของ Xiaomi ก็เช่น Mi Cloud และ Mi Music ที่ผู้ใช้งาน Xiaomi สามารถจ่ายเงินแบบ Subscription เพื่อใช้งานพื้นที่เก็บข้อมูลและฟังเพลง 
Xiaomi Game Center ที่ Xiaomi เปิดให้เหล่าผู้พัฒนาเกมต่าง ๆ นำเกมมาลงให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือเล่น แล้ว Xiaomi รอเก็บส่วนแบ่งรายได้ เวลาที่ผู้ใช้งานทำการเติมเงินเข้ามาในเกม 
นอกจากนี้ บริการทางอินเทอร์เน็ต เช่น Mi Video และ Mi Browser ก็กลายเป็นป้ายโฆษณาให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่สนใจ 
เข้ามาจ่ายค่าโฆษณา เพื่อให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในสายตาของผู้ใช้งาน MIUI ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการของ Xiaomi กว่า 600 ล้านคนทั่วโลก 
สรุปแล้ว โมเดลธุรกิจแบบไตรกีฬาของคุณเหลย ที่เป็นเบื้องหลังการเติบโตของ Xiaomi ก็คือการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าตั้งแต่แรก ด้วยสินค้าราคาถูก ที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งานได้ 
จากนั้นก็ตามด้วยการสร้างช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และสร้าง Ecosystem ผ่านบริการทางอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้ลูกค้าติดหนึบ จนไม่อยากย้ายไปใช้สินค้าเจ้าอื่น 
และยังทำให้ Xiaomi ยังคงผลิตสินค้าราคาถูก ให้ทุกคนใช้อยู่ได้ เพราะสินค้าเหล่านั้น สุดท้ายแล้ว จะนำลูกค้าไปสู่การจ่ายเงินให้กับ สิ่งที่ทางบริษัทหวังจะใช้ทำกำไรจริง ๆ ก็คือเหล่าบริการทางอินเทอร์เน็ตนั่นเอง.. 
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ รู้ไหมว่าเราสามารถซื้อหุ้น Xiaomi ในตลาดหุ้นไทย ผ่านแอป Streaming ได้แล้ว ผ่านการซื้อ DR ที่ชื่อว่า XIAOMI80
หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#DR
#DRวันละตัว
References 
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.