ก้าวสู่ปีที่ 34 บสย. ผู้สร้างโอกาสให้ SMEs ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ก้าวสู่ปีที่ 34 บสย. ผู้สร้างโอกาสให้ SMEs ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน

31 มี.ค. 2025
บสย. x MONEY LAB
รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว เศรษฐกิจไทยกำลังถูกขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ
เพราะในระบบเศรษฐกิจของเรา มีธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าธุรกิจ SMEs มากถึง 95% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด
โดยธุรกิจเหล่านี้เป็นผู้จ้างงานในระบบเศรษฐกิจไทยถึง 50% ของจำนวนแรงงานในระบบทั้งหมด
เรียกได้ว่าถ้าเศรษฐกิจไทยจะแข็งแกร่ง SMEs ไทยก็ต้องแข็งแรงด้วย
ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังความแข็งแรงของ SMEs ไทย ก็คือ บสย.
แล้ว บสย. เป็นใคร ? จะช่วยให้ SMEs ไทยแข็งแรงได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
บสย. หรือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ที่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ
ซึ่งปัญหาของ SMEs ที่หลายคนน่าจะยังไม่รู้กันก็คือ SMEs หลายราย ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจได้
เพราะอาจมีขนาดธุรกิจที่เล็กเกินไป ทำให้มีสินทรัพย์มาค้ำประกันเงินกู้น้อย หรือยังไม่มีการจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบ
ทำให้ธนาคารมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการปล่อยเงินกู้ให้กับ SMEs เพราะกังวลเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ แม้ SMEs หลายรายจะกู้ในวงเงินที่ไม่ได้สูงนัก
บสย. จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับ SMEs เพื่อให้ธนาคารมั่นใจได้ว่า ต่อให้ SMEs จะไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ ก็สามารถเรียกเก็บเงินจาก บสย. ได้เลย
ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 34 ปีแล้ว ที่ บสย. ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมานับไม่ถ้วน แต่ก็ยังอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด คอยช่วยเหลือ SMEs ไทย ให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้เสมอมา
ซึ่งผลการดำเนินงานของ บสย. ในปี 2567 ที่ผ่านมา ก็เป็นเครื่องตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ บสย. ในการช่วยเหลือ SMEs ไทย ให้เข้าถึงสินเชื่อกันได้มากขึ้น แม้จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจกับภาคธุรกิจเลยก็ตาม
แล้วในปี 2567 บสย. ทำอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อช่วยเหลือ SMEs ไทย ?
ในปี 2567 ที่ผ่านมา บสย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อรวมกัน 53,738 ล้านบาท ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อมากกว่า 88,472 ราย ผ่าน 3 โครงการหลักคือ
1. โครงการตามมาตรการรัฐ ยอดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อจากโครงการนี้อยู่ที่ 33,502 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการนี้ 83,012 ราย
2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ โดย บสย. ดำเนินการเอง มียอดวงเงินค้ำประกันสินเชื่ออยู่ที่ 10,343 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการนี้ 5,184 ราย
3. โครงการ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2 (โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก) มียอดวงเงินค้ำประกันสินเชื่ออยู่ที่ 9,893 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการนี้ 1,543 ราย
ผลดีทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการช่วยค้ำประกันของ บสย. ก็คือ การก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินมากกว่า 58,986 ล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้ 487,253 ตำแหน่ง
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 220,462 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากภารกิจการค้ำประกันสินเชื่อตามโครงการต่าง ๆ แล้ว บสย. ยังมีภารกิจสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับ SMEs ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย”
โดยมาตรการนี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2565 แล้ว เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของลูกหนี้ ทั้งการตัดเงินต้นก่อนตัดดอกเบี้ย หรือการจ่ายเงินต้นบางส่วน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% และผ่อนยาว 7 ปี เป็นต้น
ซึ่งตั้งแต่ออกมาตรการนี้ สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่า 18,489 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 11,872 ล้านบาท
แล้วในปี 2568 นี้ บสย. มีเป้าหมาย และแผนงานอะไรบ้าง ?
ในปีนี้ บสย. ตั้งเป้าหมายในการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อ 165,000 ราย โดยเตรียมวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงถึง 110,000 ล้านบาท
ในจำนวนนี้ บสย. จะแบ่งวงเงินออกเป็น 6 ส่วน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเป้าหมาย 6 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อรถกระบะใหม่ ในการประกอบธุรกิจผ่าน “มาตรกรากระบะพี่ มีคลังค้ำ” มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท (ระยะแรก 5,000 ล้านบาท)
2. ผู้ประกอบการรายย่อย/กลุ่มเปราะบาง ผู้ที่เริ่มทำธุรกิจ อาชีพอิสระ มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 6,500 ล้านบาท
3. ผู้ประกอบการที่มุ่งเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 2,000 ล้านบาท
4. ผู้ประกอบการใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่อนาคต มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 9,600 ล้านบาท
5. ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และอยู่ระหว่างฟื้นตัว มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 21,900 ล้านบาท
6. ผู้ประกอบการที่ฟื้นตัวจากโควิด และต้องการขยายกิจการ มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 60,000 ล้านบาท
ในส่วนของการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหา ทาง บสย. ก็ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้เหล่านี้อยู่ ผ่านการปรับปรุงมาตรการเดิม และเพิ่มมาตรการใหม่
เช่น การปรับเงื่อนไขมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” ให้ผ่อนปรนยิ่งขึ้น ผ่านการเพิ่มระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ และตัดเงินต้นเพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเชิงรุกคือ “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” เพื่อระดมทีมผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับ SMEs ตลอดเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2568
โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีลูกหนี้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว 229 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 183 ล้านบาท
และมีการเพิ่มมาตรการใหม่คือ ช่วย SMEs “กลุ่มเปราะบาง” ที่มียอดหนี้เงินต้นไม่เกิน 200,000 บาท
คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ผ่อนชำระหนี้ได้นานสูงสุด 80 เดือน
จะเห็นได้ว่า แม้ในปี 2567 ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อน้อยลง 0.4% ซึ่งถือว่าเป็นการหดตัวลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี
แต่ บสย. ก็ยังคงทำงานอย่างหนักเพื่อเป็นที่พึ่งให้กับ SMEs ไทยที่ต้องการสินเชื่อ จนสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการไปได้กว่า 88,000 ราย
และในปีนี้ บสย. ก็เตรียมวงเงินค้ำประกันสินเชื่อมากกว่าเดิม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้มากขึ้น
สำหรับ SMEs ที่สนใจ และต้องการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจาก บสย. ได้ที่ Page FB : บสย. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือเบอร์โทรศัพท์ Call Center : 02-890-9999
#TCGFirst
#NaCGA
References
- ข่าวประชาสัมพันธ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
- https://www.tcg.or.th/article_inside.php?article_id=34#
- https://www.tcg.or.th/news_inside.php?news_id=37#
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.